รถ EV หรือชื่อเรียกแบบเต็มๆ ว่ายานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ในประเทศไทยที่กำลังมาแรงตลอดช่วงมอเตอร์โชว์แบบพุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ จากความคุ้มค่าประหยัดตกเฉลี่ยที่กิโลเมตรละไม่ถึง 1 บาท ท่ามกลางวิกฤตน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน และแบรนด์รถ EV หลายแบรนด์มาตั้งโรงงานในเมืองไทยทำราคาใหม่ถูกจัด สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV ของรัฐบาล
ปัจจุบันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือที่เรียกว่า BEV (Battery EV) ในประเทศไทย ถือเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยหากมีรถ BEV วิ่งอยู่ 100 คัน บนถนนทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน “จะมีถึง 60 คัน” ที่วิ่งอยู่ในประเทศไทย
“ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรถ BEV ใหม่ประมาณ 10,000 คัน แต่คาดว่าปี 2566 นี้จะไม่ต่ำกว่า 40,000 คัน” ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงทิศทางของการใช้รถ EV โดยเฉพาะที่เป็น BEV ในประเทศไทยว่ามีความพร้อมและเหมาะสมแก่ผู้ใช้งานมากน้อยแค่ไหน และกล่าวเริ่มต้นเส้นทางของรถ EV ในประเทศไทย
รถ BEV ตอนนี้เหมาะกับคนกรุง
ดร.ชัยพรกล่าวถึงเหตุผลความนิยมของรถ BEV ในประเทศไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นมาก และนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลทำให้คนไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น โดยในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเกิดมุมมองคนสมัยใหม่สนใจความประหยัดคุ้มค่า ลดค่าใช้จ่ายได้ หากเดินทางทุกวันด้วยราคาน้ำมันที่สูงขนาดนี้ แต่ทว่าอย่างไรก็ต้องบอกว่าพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้งานนั้นยังจำกัดอยู่เนื่องจากสถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยจำนวนของสถานีที่ชาร์จไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2566 นี้มีประมาณ 1,000 กว่าแห่งเท่านั้น โดยราวๆ 40% ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
“แต่ก็นับว่าเพิ่มจำนวนขึ้นเยอะจากปีก่อนมาก และที่สำคัญคือจำนวนของหัวชาร์จตามสถานีชาร์จส่วนมากมีแค่ 2 หรือ 3 หัวเท่านั้น การชาร์จแต่ละครั้งยังคงใช้เวลานาน ถ้ามีรถ EV มาชาร์จหลายคันต้องต่อคิวรอ และหลายๆ แห่งก็ไม่ใช่เครื่องชาร์จ DC แบบเร็ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหัวชาร์จ AC Type 2 ซึ่งชาร์จได้ช้ากว่าหัว DC มาก ทั้งหมดนี้คือข้อจำกัดตอนนี้”
ซึ่งรูปแบบของการชาร์จรถ EV ในบ้านเราแบ่งการชาร์จออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. Quick Charge “การชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง” หรือ “DC Charging” ซึ่งส่วนใหญ่ในบ้านเราจะเป็นแบบ DC CSS2 พบได้มากตามสถานีเติมน้ำมันโดยทั่วไป สามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จาก 0% ถึง 80% ได้ในเวลาประมาณ 20 ถึง 40 นาที รูปแบบนี้เหมาะกับสถานีชาร์จรถ EV จริงๆ ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ ว่าตู้ชาร์จจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่
2. AC Type 2 โดยใช้ไฟ AC แบบ 3 เฟสมาเป็นแหล่งพลังงาน ทำให้สามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จาก 0% ถึง 80% ได้ในเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง เหมาะสำหรับการจอดรถชาร์จทิ้งไว้แล้วไปทำกิจกรรมนานๆ จึงพบตู้ชาร์จแบบนี้มากตามห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานที่สาธารณะต่างๆ
และ 3. Wall Charge หรือ Home Charge “การชาร์จไฟฟ้าจากการต่อปลั๊กไฟจากเต้ารับภายในบ้านซึ่งเป็นไฟ AC แบบ 1 เฟส” เนื่องจากกำลังในการชาร์จค่อนข้างน้อย ทำให้การชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจาก 0% ถึง 80% ต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง จึงเหมาะกับการจอดรถแล้วชาร์จทิ้งไว้ตอนกลางคืนที่บ้าน
“ถ้าไม่ได้เดินทางไกล หรือใช้งานในเมืองก็ไม่ค่อยมีปัญหา กลับมาชาร์จที่บ้านด้วย Home Charger เสียบกับไฟบ้านเช้ามาก็แบตเตอรี่เต็ม หรือหากจำเป็นจริงๆ ก็แวะที่สถานีชาร์จระหว่างเดินทางหรือไปทำธุระได้ แต่ถ้าออกไปต่างจังหวัดหรือต้องเดินทางไกลๆ ก็ต้องวางแผนการเดินทางให้ดี ถ้าแบตเตอรีต่ำกว่า 30% ต้องรีบหาที่ชาร์จโดยเร็ว ไม่อย่างนั้นอาจจะมีโอกาสต้องเรียกรถยกได้”
ต่างจังหวัดไกลปีหน้าน่าจะสบายใจขึ้น!
แม้รถ BEV ในปัจจุบันจะสามารถเดินทางได้ไกลกว่า 400 ถึง 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวกำหนดให้ระยะการเดินทางที่สั้นลงได้ การเปิดแอร์ ความเร็วในการขับ และน้ำหนักที่บรรทุก ทำให้ไปไม่ได้ไกลเท่าที่คิด
“รูปแบบการขับขี่ การเปิดแอร์เย็นฉ่ำ เป็นปัจจัยที่ทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วขึ้น น้ำหนักที่บรรทุกก็เช่นกัน ขับรถนั่งกัน 5 คนพร้อมสัมภาระ ย่อมได้ระยะทางน้อยกว่าการขับรถไปกัน 2 คน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แบตเตอรี่หมดก่อนเมื่อเทียบกับระยะที่ทดสอบในแบบมาตรฐาน และที่สำคัญ ข้อมูลการทดสอบมันก็มีหลายแบบ ทั้งแบบขับเสมือนใช้งานจริงหรือขับทดสอบประมาณไม่กี่นาที และมีความเร็วเฉลี่ยทดสอบไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ระยะทางในการใช้งานจริงอาจจะไม่ได้ตามที่โฆษณาไว้ ดังนั้นถ้าจะขับระยะทางไกลจริงๆ ต้องวางแผนเส้นทางที่มีสถานีชาร์จระหว่างทางให้ดี และต้องเผื่อระยะเวลาในการชาร์จเพิ่มขึ้นด้วย หากเปรียบเทียบกันแล้ว รถที่เติมน้ำมันขับจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่จะใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้รถ BEV ที่ต้องชาร์จอย่างเฉลี่ยสัก 2 ครั้ง ปัจจุบันยังคงต้องขับรถหาสถานีชาร์จด้วย ซึ่งถ้าโชคดีเจอหัวชาร์จแบบ DC และไม่ต้องรอคิว คร่าวๆ จะใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานีชาร์จรถ EV จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน ในอนาคตอาจจะมีคนลงทุนติดตั้งที่ชาร์จรถแบบขับไปชาร์จไปเหมือนในต่างประเทศที่มีถนนสำหรับชาร์จรถ EV ขณะขับขี่ได้เลย”
ขับรถ BEV ต้องใจเย็น
“ที่ชาร์จเสีย หรืออาจจะมีคนจอดรถชาร์จอยู่นั้น พบว่าหลายๆ แอปพลิเคชันไม่ได้แจ้งเตือนหัวชาร์จที่ไม่ตรงกับหัวชาร์จของรถ บางครั้งรถที่จอดชาร์จอยู่อาจจะชาร์จเต็มแล้วแต่เจ้าของรถไม่อยู่ ก็ต้องรอ แท่นชาร์จหลายๆ แท่นติดตั้งอยู่กลางแจ้ง ไม่ได้มีหลังคา เหล่านี้คือปัญหาที่จะต้องเจอหากต้องชาร์จรถ EV จากสถานีชาร์จสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอีกไม่นานระบบ แอปพลิเคชัน และสถานีชาร์จ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น”
เจ้าของรถ EV ต้องเข้าใจ
“รถ EV โดยเฉพาะ BEV นั้น จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มาก แต่หากมีปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี่อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่แพงมากหลายแสนบาท อย่างที่เราเห็นในข่าว ดังนั้นประกันภัยรถ BEV จึงแพงกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในค่อนข้างมาก บางครั้งหากมีปัญหาการขายรถทิ้งไปเลยยังคุ้มกว่าการซ่อมหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ ดังนั้นเจ้าของรถต้องระวังการขับขี่ที่อาจส่งผลต่อความเสียหายโดยตรงต่อแบตเตอรี่ซึ่งส่วนมากติดตั้งอยู่ที่พื้นของห้องโดยสารของรถ เช่น การครูดใต้ท้องรถ หรือการเกิดความเสียหายที่ด้านข้างรถอย่างแรง เป็นต้น”
รุ่งอรุณของรถ EV
ด้วยเทรนด์การใช้งานรถ EV ทุกประเภทในประเทศไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องรับการเติบโต ไม่ว่าจะ “โรงงานผู้ผลิต ศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงดูแลรักษา” ทั้งรถและสถานีชาร์จ การดัดแปลงรถเก่าให้เป็น EV รวมทั้งการตั้งโรงงานและผลิตรถ EV ในประเทศไทยหลายแห่งแล้ว “ภาคการศึกษา” ในระดับมหาวิทยาลัยก็มีการเตรียมการรองรับผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
“ตอนนี้บุคลากรทางด้านรถ EV ในประเทศไทยยังมีน้อย บุคลากรส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญแต่สาขาทางด้านยานยนต์แบบเดิม โดยเฉพาะระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่สำหรับรถ EV มีรูปแบบที่ต่างออกไปค่อนข้างมาก การดัดแปลงรถยนต์ที่มีอยู่จากเครื่องสันดาปมาเป็นรถ EV ที่ไม่ใช่แค่การยกเครื่องยนต์ออกแล้วใส่มอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งเป็นที่นิยมทำกันมากในต่างประเทศ รวมทั้งการที่ไทยเป็นที่ตั้งฐานการผลิตรถ EV ตรงนี้ก็ทำให้มีความต้องการบุคลากรเป็นจำนวนมาก”
"มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU จึงกำลังดำเนินการเพื่อเปิดสาขาวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีความร่วมมือทั้งจากผู้เชี่ยวชาญจากแบรนด์รถ EV รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการดำเนินการทางเอกสาร และอุปกรณ์ต่างๆ โดยปรัชญาของ DPU จะเน้นการบ่มเพาะองค์ความรู้ที่จำเป็น การ upskill และการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับรถ EV รวมทั้งการสร้างทักษะ “การเป็นผู้ประกอบการ” เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้" ดร.ชัยพรกล่าวทิ้งท้าย