ควันหลงประมูลโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ วงการตั้งข้อกังขาหนังสือรับรองผลงานของวงษ์สยามก่อสร้างที่ กปภ.ออกให้สุดเวอร์วังมาจากไหน หลังตรวจสอบไม่พบในสัญญาและแบบก่อสร้าง ทำโครงการประมูลชะงักไปร่วมปี
วันนี้ (28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากการประปานครหลวง ถึงโครงการประมูลจัดสร้างและขยายกำลังผลิตน้ำ โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ว่า แม้ทาง กปน.จะลงนามในสัญญาโครงการดังกล่าวกับกลุ่ม ITA Consortium ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ต้องเดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
แต่ในส่วนของข้อร้องเรียนของบริษัทวงษ์สยามก่อสร้างที่มีต่อโครงการนี้ และทำให้การประมูลต้องล่าช้าไปกว่าขวบปีนั้น แหล่งข่าวในการประปานครหลวงได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นผลมาจากหนังสือรับรองผลงานที่บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างที่ยื่นประกอบการประมูล ซึ่งออกโดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งเท่าที่ฝ่ายบริหาร กปน.ได้ตรวจสอบไปยังการประปาภูมิภาคและพบว่าไม่เคยมีการออกหนังสือรับรองในลักษณะเช่นนี้มาก่อน ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตตามมาว่าหนังสือรับรองฉบับนี้มาจากหน่วยงาน กปภ.จริงหรือไม่ และออกมาได้อย่างไร
เนื่องจากรายละเอียดของหนังสือรับรองฉบับดังกล่าว ที่บริษัทอ้างว่า กปภ.ออกให้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 64 ก่อนยื่นประมูลโครงการเพียงวันเดียวนั้น มีความแตกค่างไปจากหนังสือรับรองผลงานโดยทั่วไป
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอน และระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปาจริงอยู่เพียง 96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น แต่ได้มีการเพิ่มเติมข้อความที่ระบุว่า "เผื่อน้ำสูญเสีย 10% รวมกำลังผลิตน้ำ 105,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นการรับรองผลงานที่ไม่เคยมีการกระทำในลักษณะเช่นนี้มาก่อน และยังไม่มีในสำเนาสัญญา และไม่ตรงกับแบบก่อสร้าง ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตดูว่าเป็นการออกหนังสือรับรองที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่กรมบัญชีกลางกำหนด
“ตามระเบียบของกรมบัญชีกลางนั้นจะต้องเป็นการรับรองตามข้อเท็จจริงเท่านั้น อีกทั้งในด้านของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่บริษัทเสนอที่ถือเป็น “สาระสำคัญ” ยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและคุณสมบัติเฉพาะตามประกาศ TOR กำหนดอีกด้วย
ส่วนการที่บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างฯ ผู้ยื่นอุทธรณ์โครงการฯ นี้อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณานั้น ทาง กปน.ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังบริษัท และกรมบัญชีกลางแล้วยืนยันว่าบริษัทไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์มาตั้งแต่แรก เพราะข้อกำหนดในเรื่องของประสบการณ์และผลงานการผลิตน้ำที่ กปน.กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาฯ ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันนั้น กปน.ยืนยันว่าต้องหมายถึง “กำลังการผลิตน้ำสุทธิ” ที่เป็นไปตามหลักวิศวกรรมการประปา และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดทำโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งประเด็นดังกล่าวบริษัทเองไม่ได้มีการทักท้วงหรือตั้งข้อกังขาต่อนิยามผลงานโครงการที่ต้องนำมาแสดงประกอบการประมูลมาตั้งแต่ต้น เมื่อยื่นข้อเสนอเข้ามาแล้วไม่เป็นไปตามเกณฑ์แถมเอกสารรับรองผลงานที่อ้างถึงก็ยังมีปัญหา จึงไม่ได้รับการพิจารณาตั้งแต่ต้น
ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 66 ให้ กปน.ชะลอการลงนามสัญญาโครงการโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์กับบริษัทเอกชนผู้ชนะประมูลไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น ฝ่ายบริหาร กปน.จะต้องมีหนังสือชี้แจงกลับไปศาลถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องตัดสินใจลงนามในสัญญาไปก่อนหน้านี้ ส่วนบริษัทที่ยื่นอุทธรณ์ทั้ง 2 บริษัทคงต้องรอเวลาเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลางต่อไป