"ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล" ชี้ปฏิรูปตำรวจไทยเกิดยาก เหตุภาคการเมืองและตัวตำรวจเองไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซ้ำสังคมไทยเอื้อให้ตำรวจช่วยสนับสนุนการทำผิด หวังภาคประชาชนขับเคลื่อนมากขึ้นเพื่อการเปลี่ยนแปลง
วันที่ 16 ก.พ. 2566 รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดี ปธ.กรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ปัญหาตำรวจไทย การเมืองไม่ขยับ ประชาชนต้องลงมือ"
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์กล่าวในช่วงหนึ่งว่า การปฏิรูปตำรวจหรือการขับเคลื่อนแนวคิดดีๆ จากฟากผู้กำหนดนโยบาย โดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาการและภาคประชาชนช่วยสนับสนุน ถึงจะเกิดการปฏิรูปตำรวจสำเร็จ เท่าที่ศึกษามาและหลายประเทศทั่วโลกทำสำเร็จ ต้องอาศัยหลัก 3P คือ
Political View เจตจำนงทางการเมืองต้องแน่วแน่
Police ตัวตำรวจเองต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรตัวเอง
Public People ประชาชน
ถ้าครบองค์ประกอบเมื่อไหร่การปฏิรูปตำรวจเกิด แต่ของไทยไม่สำเร็จเพราะติด P สองตัวแรก โดยเฉพาะตัวแรก เราขาดเจตจำนงที่แน่วแน่ ใครก็ตามที่เข้ามากุมอำนาจรัฐก็ไม่มีใครอยากเสียกลไกการบังคับใช้กฎหมายภายใต้อำนาจตัวเองออกไป เพราะระบบปัจจุบันเอื้อให้ผู้มีอำนาจในการสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ เรียกว่าระบบรวมศูนย์อำนาจ ที่สามารถข่มกลไกบังคับใช้กฎหมายได้ พูดง่ายๆ ผิดนิดเดียวก็สามารถหาข้อหาที่ผิดมาก ผิดเยอะก็สามารถปรับเปลี่ยนให้ผิดน้อย
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประชาชนมีเสียงเรียกร้องปฏิรูปตำรวจพอสมควร ถ้าเรายังเป็นอยู่อย่างนี้ไม่ทำอะไรเลย รัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้งก็ยากที่จะปฏิรูปตำรวจ ขนาดรัฐประหารครั้งล่าสุด หนึ่งในเหตุผลที่อ้างก็คือต้องการปฏิรูปตำรวจ ปัจจุบันผ่านมา 8 ปีก็ไม่เกิดขึ้น มีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เป็นมิติเดียวในการพัฒนาองค์กรตำรวจ แต่อย่างอื่นยังเหมือนเดิม โอกาสยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ส่วนภาคประชาชน ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เวลาจะเลือกตั้ง แต่ละพรรคจะหยิบยกสิ่งที่ประชาชนมองว่าเป็นปัญหาของประเทศขึ้นมานำเสนอเป็นนโยบาย ถึงเวลาเลือกตั้งเราก็ดูว่าพรรคไหนน่าจะทำสำเร็จ
ถ้าไม่มีพรรคไหนพูดถึง ภาคประชาชนต้องขับเคลื่อนให้มากขึ้นให้ถึงภาคการเมือง และที่สำคัญ วัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมของสังคมไทย เราบอกว่าต้องการปฏิรูปตำรวจ แต่เวลาเกิดเหตุก็หวังให้ตำรวจมาช่วยสนับสนุนการทำผิด สุดท้ายมันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง