"ศ.ดร.ศิวัช" ย้ำประเทศไทยจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ เพราะมีปัญหาซับซ้อนมาก ใช้เพียงกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่ได้ จี้ถามทำไมถึงถูกปัดตกตลอด ทั้งที่นักการเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วย ชี้ไอ้โม่งที่แท้จริงคือผู้อยู่เบื้องหลังของผู้มีอำนาจ
วันที่ 2 ก.พ. 2566 ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "กรุงเทพฯ จมฝุ่น กับ กม.อากาศสะอาดที่ผู้มีอำนาจไม่เอา"
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์กล่าวในช่วงหนึ่งว่า เรื่องมลพิษทางอากาศ ถามว่าภาครัฐเฉยชาไหม ก็ไม่ถึงขั้นเฉยชา แต่ภาคประชาสังคมต้องกระทุ้ง ถึงจุดหนึ่งเขาก็ปรับตามเสียงเรียกร้องของประชาชน
เพียงแต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ไม่ว่าจะจากพรรคการเมืองหรือพรรคร่วมรัฐบาลเอง พรรคฝ่ายค้าน หรือจากภาคประชาสังคม ยื่นไปโดนปัดตก ไม่มีแม้แต่ฉบับเดียวที่เข้าไปได้ถกเถียงในรัฐสภา
ข้าราชการระดับสูงหลายท่านมีแนวคิดต่อกฎหมายนี้ในเชิงลบ บอกว่ากฎหมายมีเยอะแล้ว ออกมาก็ขัดกันเอง ทำไมไม่ใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้ว และปรับปรุงให้มันดีขึ้น พอตนได้ยินก็เกิดคำถามว่าถ้าของเดิมดีอยู่แล้ว แล้วปัญหาเกิดได้อย่างไร
นักวิชาการหลายคน ภาคประชาสังคม มองว่าความยากความซับซ้อนของมลพิษทางอากาศมีมากจนกระทั่งควรมี พ.ร.บ.อากาศสะอาดเฉพาะขึ้นมาฉบับหนึ่ง
แน่นอนคนที่ไม่แฮปปี้กับกฎหมายนี้อันดับแรก คืออุตสาหกรรมที่ไม่ดี ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เขาจะไม่ค่อยมีอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งเป็นตัวปล่อยมลพิษ เขาปัดไปประเทศอื่นหมด ปัดไปประเทศที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมยังไม่เข้มแข็ง
บ้านเราปัจจุบันเกณฑ์มาตรฐานในการควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศยังไม่มีเลย หมายความว่าจะปล่อยสารมะเร็งออกมาเท่าไหร่ก็ได้ไม่ผิด
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์กล่าวอีกว่า เท่าที่ตนพูดคุย ไม่มีพรรคการเมืองไหนค้าน พ.ร.บ.อากาศสะอาดเลย แต่ผู้มีอำนาจ และใครเป็นที่ปรึกษาผู้มีอำนาจ นั่นคือไอ้โม่งที่ไม่เอา
ที่ผ่านมามีการเสนอกฎหมายนี้อย่างน้อย 3-4 ครั้ง ครั้งแรกพรรคภูมิใจไทยเสนอ แล้วก็ถูกปัดตกไป เพื่อไทย หรือแม้แต่ พปชร.เองก็มี ส.ส.ท่านหนึ่งพยายามเสนอเหมือนกัน ภาคประชาชนก็ส่งเข้าไป ทั้งหมดตอนนี้ก็คืออยู่ในสภาพสุญญากาศ ไม่ได้รับการตอบสนอง
เท่าที่ตนทราบก็ยังไม่มีร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่ได้รับการเสนอไปในรัฐสภาให้มีการถกเถียงกัน ซึ่งตนเชื่อมั่นมากว่าถ้า พ.ร.บ.อากาศสะอาดได้เข้าไปในรัฐสภา ส.ส.จะโหวตให้เยอะเลย และใครก็ตามที่ต่อต้าน ต้องตอบสังคมอย่างหนักว่าทำไม
แม้กระทั่งผู้มีอำนาจโดยตรงก็ยังไม่กล้าออกมาต่อต้านอย่างเปิดเผย แต่เบื้องหลังทำให้กฎหมายค้างไปอย่างนั้น หรือปัดตกไป เขาก็มีเทคนิค
สุดท้ายคนที่มีอำนาจสูงสุดคือนายกฯ ก็ต้องตอบสังคมว่าทำไมไม่สนับสนุนเรื่องนี้ เพราะเหตุใด ถ้าเหตุผลฟังขึ้นก็พอฟังได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เห็นคำตอบอะไรเลย