"กรณ์" แจงนโยบาย "ชาติพัฒนากล้า" เปลี่ยนแบล็กลิสต์เครดิตบูโรเป็นเครดิตสกอร์ ช่วยคนตัวเล็กกู้เงินในระบบ ยัน "รื้อโครงสร้างพลังงาน" คุยในพรรคแล้วทำได้ชัวร์ ยกเลิกค่าการกลั่นสิงคโปร์ ตั้งราคาที่เป็นธรรม ส่วนคนเงินเดือน 4 หมื่นขึ้นไปถึงต้องเสียภาษี จะเพิ่มโอกาสเก็บแวตได้มากขึ้น รัฐไม่ได้เสียรายได้ไปทั้งหมด
วันที่ 30 ม.ค. 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "นโยบายและโอกาส ชาติพัฒนากล้า"
โดย นายกรณ์ กล่าวได้กล่าวชี้แจงถึงนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ว่า เครดิตบูโรมีหน้าที่รวบรวมข้อมูล เพื่อสถาบันการเงินสามารถประเมินข้อมูลได้จากเครดิตบูโร ในการตัดสินใจว่าจะปล่อยกู้ให้ใครยังไง เราไม่ได้ไปล้างประวัติใคร ทุกคนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เคยกระทำ แต่ระบบปัจจุบันมันรวบรวมข้อมูลแค่เชิงลบเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน แต่มันไม่ได้มีการประมวลข้อมูลเชิงบวก พูดง่าย ๆ ระดับความน่าเชื่อถือของแต่ละคน มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำข้างใดข้างหนึ่งข้างเดียว เช่น สมมติลูกเข้าโรงพยาบาล จำเป็นต้องรูดบัตรเครดิต แต่เกิดโควิดขึ้น ทำให้สะดุดการชำระงวดไป 1-2 เดือน ชื่อไปปรากฎในเครดิตบูโร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าขาดความรับผิดชอบ ตลอดช่วงนั้นจ่ายค่าอื่น ๆ และยังมีธุรกิจ ทำไมไม่เอาข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นทางบวกให้บ้าง สุดท้ายก็มาสรุปด้วยข้อมูลที่เรียกว่าเครดิตสกอร์ จากเต็ม 100 อาจจะได้แค่ 50 เพราะสะดุดการชำระหนี้บัตรเครดิตไปครั้งนึง ยังกู้ในระบบได้ ไม่ต้องไปกู้นอกระบบ แต่อัตราดอกเบี้ยก็ต้องสูงกว่า ส่วนในรายละเอียดคะแนนได้มายังไงไม่มีใครรู้ ขอแค่มีระบบที่ทุกคนไว้วางใจที่กำหนดสกอร์ออกมา
สถาบันการเงินก็จะออกมาแข่งกัน บางสถาบันอาจปล่อยให้คนที่มีคะแนน 80-100 เท่านั้น บางสถาบันอาจจะลงไปต่ำกว่านั้น ด้วยการแข่งขันทุกสถาบันจะมีตลาดของตัวเอง ประชาชนก็จะอยู่ในระบบได้
เป้าหมายของเราก็คือให้โอกาสประชาชนคนไทยเกือบทุกคนให้สามารถอยู่ในระบบการเงินได้ เข้าถึงเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมได้ ตนเป็นนายธนาคารมาก่อน ให้ความสำคัญวินัยทางการเงิน แต่ในโลกความเป็นจริง คนเราที่มีปัญหาทางการเงิน มีร้อยแปดพันเก้าเหตุผล อยากให้มีระบบที่ครอบคลุมประชนที่มากขึ้น โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ๆ
ส่วนเรื่องภาษีมนุษย์เงินเดือน จากเดิมคนที่มีเงินเดือน 2.6 หมื่นบาทขึ้นไปถึงเริ่มเสียภาษี ชาติพัฒนากล้าเสนอเงินเดือนเริ่ม 4 หมื่นขึ้นไป ถึงต้องเสียภาษี
มนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ปัจจุบันโดยรวมประมาณ 12 ล้านคน ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีมีประมาณ 4 ล้านคน แหล่งรายได้ภาษีที่มีความสำคัญมากที่สุดของประเทศ คือภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต รองลงมาคือภาษีนิติบุคคล แต่สิ่งที่เกิดขึ้น 10 กว่าปีก่อน มีการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ภาษีส่วนบุคคลแทบไม่ได้ลดเลย คนที่มีศักยภาพสูงก็เลยไปจดทะเบียนบริษัทแทน แล้วก็รับรายได้ผ่านบริษัท เพราะจะได้เสียภาษีน้อยกว่า ซึ่งมนุษย์เงินเดือนทำแบบนั้นไม่ได้ ก็เลยเกิดความไม่เป็นธรรม ตนก็เลยเห็นว่าสองตัวนี้มันต้องอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมากกว่านี้
วิธีหนึ่งที่ไปสู่จุดนั้นก็คือตามที่เสนอ แต่ถ้าจะให้ลดภาษีทุกระดับชั้นก็จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากเกินไป เป้าหมายเราต้องการช่วยคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งคนที่มีรายได้ไม่ถึง 4 หมื่นบาทในวันนี้ กำลังซื้อไม่ได้ต่างจากคนที่มีรายได้ไม่เกิน 2.6 หมื่นบาทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะของมันแพงขึ้น
มันก็จะทำให้คน 2 ล้านคนที่รายได้ไม่ถึง 4 หมื่นบาท สามารถรับเงินเดือนได้เต็ม ๆ แต่ก็เชื่อว่าประชาชนกลุ่มนี้เงินแทบไม่พอใช้อยู่แล้ว เขาได้คืนภาษีส่วนนี้ไป ก็จะกลับเข้ามาหมุนเวียนในระบบอยู่แล้ว และเป็นโอกาสให้รัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้สูญเสียไปทั้งหมด การเลือกตั้งปี 62 มีพรรคขนาดใหญ่เสนอลดมากกว่าที่ตนเสนออีก แม้ได้เป็นรัฐบาลแต่ประชาชนก็ถูกเบี้ยว
นายกรณ์ กล่าวต่ออีกถึงเรื่องรื้อโครงสร้างพลังงาน ว่า ทำได้แน่นอน มีการคุยในพรรค ซึ่งมีทั้งอดีต รมว.พลังงาน อดีต รมว.คลัง อดีต รมว.อุตสาหกรรม ก็นั่งคุยกันว่าถ้ามีโอกาสทำได้แน่นะ สรุปคือทำได้ชัวร์
ราคาน้ำมันที่สูง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะราคาตลาดโลกสูง แต่มันเกินควรเพราะโครงสร้างการกำหนดราคาค่าการกลั่นมันบิดเบี้ยว เราไปอิงกับราคาสิงคโปร์ทั้งที่โรงกลั่นทั้งหมดอยู่ในไทย แล้ววัดได้ด้วยผลกำไรโรงกลั่นไทย ไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว กำไรเพิ่มขึ้น 1,000 เปอร์เซ็นต์ 10 เท่าเทียบกับปีก่อนหน้านั้น โดยที่ต้นทุนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำอะไรแปลกใหม่ อานิสงส์เต็ม ๆ มาจากค่าการกลั่นสิงคโปร์ที่สูงขึ้น
เราจะยกเลิกราคาสิงคโปร์ และกำหนดราคาที่เป็นธรรม ผู้ประกอบการต้องกำไรแต่ต้องเหมาะสม โรงกลั่น 3 จาก 6 มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ ฉะนั้นความรับผิดชอบต่อสังคมต้องมี
ค่าการตลาดอีก ทุกวันนี้เติมน้ำมันเบนซินจ่ายค่าการตลาด 3 บาทกว่าต่อลิตร ทั้ง ๆ ที่กระทรวงพลังงานบอกว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมอยู่ที่ 1.80 บาท แต่ทำไมไม่กำกับดูแล
นายกรณ์ กล่าวถึงค่าไฟว่า วัดด้วยราคา FT ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นอุตสาหกรรมผูกขาดที่ผู้ประกอบการสามารถส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นโดยตรงให้ผู้บริโภค 100 เปอร์เซ็นต์ มันไม่มีอุตสาหกรรมไหนเป็นแบบนี้ ตรงนี้เป็นโครงสร้างที่ต้องปรับเปลี่ยน ตนเสนอชัดเจน เป้าหมายหลักคือเราเชื่อในการแข่งขัน ขอให้โปร่งใสและเป็นธรรม ประชาชนจะได้ประโยชน์