นายปฏิพล อภิญญาณกุล นักเขียนชื่อดัง โพสต์ข้อความร่ายยาว ชี้สาเหตุทำไมเขมรถึงอยากได้วัฒนธรรมเป็นของตนเองด้วยการ “เคลม” ของชาติไทย ชี้เป็นการเคลมอย่างเคลิบเคลิ้ม เคลมโดยไม่รู้ว่าผิดหรือละอาย จึงเกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีและยังจะเกิดขึ้นอีกต่อไป
จากกรณี กัมพูชา จะเป็นเจ้าภาพจัดแข่ง ซีเกมส์ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติ จึงถือโอกาสผลักดันมวยของตนเอง แต่ประเด็นคือคิดจะเปลี่ยนชื่อ “มวยไทย” เป็น “กุน ขแมร์” จึงเกิดเรื่องราวใหญ่โตระดับประเทศ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ใช่จะปล่อยผ่านกันได้ง่ายๆ เหมือนซีเกมส์ที่ผ่านๆ มา นอกจากนี้ยังพบการเคลมแทบจะรันไปในทุกวงการ จนชาวเน็ตไทยให้ฉายาประเทศแห่งนี้ว่า “เคลมโบเดีย”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. เฟซบุ๊ก “Padipon Apinyankul” หรือ นายปฏิพล อภิญญาณกุล นักเขียนชื่อดังได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ "ทำไมเขมรถึงอยากได้วัฒนธรรมเป็นของตนเอง ด้วยการ “เคลม” ของชาติไทย" โดยมีใจความว่า
"พยายามจะเขียนให้สั้น แต่มันอาจจะยาวสำหรับคนที่ไม่ชอบการอ่าน ให้คำตอบล่วงหน้า ก่อนอ่านเนื้อเรื่องข้างล่าง ได้เลยว่า
.. เป็นเพราะ “ความโหยหา” ทำไมถึงเป็นเพราะ ความโหยหา .. มาดูเรื่องราวพอสังเขปกัน
ในอดีตหลายพันปีก่อน ก่อนที่จะเกิดรัฐชาติ ที่เป็นชื่อประเทศต่างๆ อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน ดินแดนแถบอุษาคเนย์ แถบนี้ (หรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นภาคพื้นแผ่นดิน : อันประกอบด้วย ไทย ลาว พม่า เขมร เวียดนาม .. ล้วนมีชนเล็กชนน้อยมากมายอาศัยอยู่กระจัดกระจาย) (* ยังมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นภาคพื้นทะเล อันประกอบด้วยหมู่เกาะต่างๆ ทางใต้ .. มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์)
ต่อมาเริ่มมีการรวมชนเผ่าเล็กๆ เข้าเป็นชนเผ่าระดับกลาง ระดับใหญ่ ด้วยเหตุผลของการอยู่รอดปลอดภัย จนเริ่มเป็นเมือง และอาณาจักร จึงเกิด > อาณาจักรฟูนัน อาณาจักรเจนละ อาณาจักรขอม อาณาจักรขอมนี้คือกลุ่มชนโบราณหนึ่ง เจริญรุ่งเรืองที่สุดในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 พอถึงสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 พระองค์ทรงสร้าง "ปราสาทนครวัด" ขึ้นมา เพื่อเป็นเมืองหลวงหรือเมืองพระนคร (เรียกว่า อังกอร์) การสร้างปราสาทนครวัด ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู เกี่ยวกับความเชื่อเทพเจ้า
ปราสาทนครวัด สร้างเพื่อบูชาพระวิษณุ .. ดังนั้นภาพศิลปะหินแกะสลักที่เห็น สมัยนั้นแกะเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ซึ่งควรบูชาเทพเจ้า จึงปรากฏทั้งนางรำ นางสนม และนักรบ แรงงาน ฯลฯ
แต่จะใช้รูปแกะสลักนั้นมาตีความว่า > เป็นเจ้าของท่าทางแบบนั้น เป็นเจ้าของอาหารแบบนี้ เป็นเจ้าของลักษณะแบบนั้น
มันเป็นการตีความเกินกว่าความเป็นจริง .. วิถีชีวิตลักษณะส่วนใหญ่สมัยนั้นมันเป็นวิถีชีวิตลักษณะ "ร่วม" ที่ผ่านมาทางศาสนาฮินดู (ความหมายของคำว่า วิถีชีวิตร่วม .. หมายถึงยังไม่กลายเป็น วัฒนธรรม) อิทธิพลความเชื่อฮินดูในเรื่องเทพเจ้า แผ่ขยายจากอินเดียผ่านเข้าพม่า เข้ามาทางล้านนา ล้านช้าง และดินแดนแถบนี้ทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่อยุธยา (แต่ตอนนั้นอยุธยายังไม่เริ่มต้น)
อาณาจักรขอมรุ่งเรืองอยู่ได้ไม่นาน ชนเผ่า "ชาวจาม" (ชนกลุ่มหนึ่งในเวียดนาม) สามารถรุกรานเข้ามายึดเมืองอังกอร์ (นครวัด)
ทำให้ผู้นำหรือกษัตริย์ต้องอพยพย้ายถิ่น ไปสร้างปราสาทอื่นๆ แทน คือ ปราสาทนครธม ปราสาทบายน ไม่นาน .. ได้เกิดการจลาจลภายใน พวกทาสได้จับอาวุธขึ้นสังหารนายทาส .. จนมีผู้นำคนใหม่ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระนามว่า พระบาทศรีสุริโยพันธุ์ หรือ "พระเจ้าแตงหวาน" .. ซึ่งพระองค์เกิดและโตในอาณาจักรขะแมร์ ..ขะแมร์ (หรือเขมร) จึงเข้ามามีบทบาทแทนขอม ..
หลังจากนั้น อาณาจักรขอมก็ค่อยๆ เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา .. ปราสาทหินต่างๆ เหมือนถูกทิ้งร้างไปหลายร้อยปี
ขณะเดียวกันผู้คนและวัฒนธรรมจากถิ่นอื่นๆ ก็พัฒนารุ่งเรืองขึ้นมาอีกฝั่งหนึ่ง นั่นคือ กรุงสุโขทัย การเคลื่อนย้ายของผู้คนจากเปอร์เซีย อินเดีย ไปล้านนา ไปล้านช้าง ไปอังกอร์ (เขมร) ไปลาว ลงมาอยุธยา เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เกิดวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน สิ่งที่คล้ายๆ กัน เมื่อถูกแยก .. ทำให้สังเกตเห็น พบว่ามันเป็นสิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือการพัฒนาต่อยอด
“การพัฒนาต่อยอด” จนกลายเป็น “เอกลักษณ์เฉพาะขึ้นอย่างเด่นชัด”
- สิ่งนี้เอง เป็นสิ่งที่เขมรไม่มี, ทำไมถึงไม่มี? หรือมีก็น้อยมากๆ
เพราะหลังจากอาณาจักรขอมเสื่อมลง .. คนเขมร ชาติเขมร ก็วุ่นวายอยู่กับสงครามต่างๆ ตลอดมานับร้อยๆ ปี .. ทั้งสงครามจากภายนอก และสงครามแย่งชิงภายใน
เมื่ออาณาจักรเขมรไม่สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ..
เขมรจำต้องหาทางออก ด้วยการยอมรับการคุ้มครองดูแลจากชาติพันธ์ุอื่นที่แข็งแกร่งกว่า
เขมรจึงเลือกมีไมตรีกับกรุงสุโขทัย ที่กำลังรุ่งเรืองในตอนนั้น ยอมรับอำนาจของกรุงสุโขทัย
แม้นว่าในเวลาถัดมา เขมรรู้สึกว่าตนเองเข้มแข็งพอ ได้ขอแยกเป็นอิสระ .. และถูกปราบปรามอีกครั้งในสมัยอยุธยา
และได้แยกตัวไปอีก และถูกปราบปรามลงอีก .. ท้ายที่สุด เขมรก็ตกเป็นเมืองใต้อำนาจของไทย
แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เขมร ยอมรับการเป็นประเทศราช เมืองขึ้นของไทย ในสมัยอยุธยา และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ร.๑-ร.๔)
โดยเขมรไม่เคยคิดหันไปยอมรับอำนาจของเวียดนามแม้แต่น้อย
เพราะอะไร?
* หรืออาจเป็นเพราะ เขมร รู้สึกใกล้ชิดกับชนเผ่าไทยและลาว มากกว่าเวียดนาม
* หรืออาจเป็นเพราะเวียดนามเป็นชนชาติที่ใหญ่เกินไป เขมรกลัวถูกกลืนชาติ
* หรืออาจเป็นเพราะวิถีชีวิตและความเชื่อไม่ตรงกัน
* หรืออาจเป็นเพราะตอนนั้นเวียดนามก็อยู่ใต้อิทธิพลของจีน ต้องเคารพฮ่องเต้ของจีน
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เขมรมีความใกล้ชิดกับทางด้านประเทศลาวและไทย มากกว่าเวียดนามตลอดมา
อย่างที่กล่าวข้างต้น เขมร เป็นชนชาติที่ถูกสงครามปกคลุมตลอดหลายร้อยปี จนไม่มีเวลาพัฒนา “วัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์” ให้เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน
วัฒนธรรมร่วม คือวัฒนธรรมโบราณ อันเกิดจากการเคลื่อนย้ายของคนในแผ่นดินต่างๆ เช่น การไหว้ การเต้น การฟ้อน การรำ เครื่องแต่งกาย ภาษา .. ทุกอย่างจะต้องมีการพัฒนาต่อยอดเป็นระยะเวลานานๆ จึงสามารถเกิดเป็น "เอกลักษณ์" เด่นชัดในปัจจุบัน การพัฒนาทางวัฒนธรรมของไทย มีจุดเริ่มต้นเด่นชัดที่สุด คือในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนนั้นแผ่นดินไทยภายในเริ่มสงบสุข การเรียนรู้เริ่มแตกฉาน ..การกดดันจากมหาอำนาจฝรั่งภายนอก ทำให้เราต้องเก่งให้ทัน
พม่าถูกอังกฤษรุกราน เวียดนามถูกฝรั่งเศสยึดครอง แล้วขยับมายึดเอาเขมร (กัมพูชา) เข้าเป็นอาณานิคม ที่เรียกว่า อาณานิคมอินโดจีน
ส่วนไทย หรือสยาม - หลังจากตำรับตำรา ข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นดินตนเองถูกเผาหายไปในการเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2
☆ พอเริ่มรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา จึงมีการฟื้นฟูค้นหาบันทึกและต่อยอด ทั้งวรรณคดี วัฒนธรรม ประเพณี ทำต่อเนื่องตลอดมาทุกๆ รัชกาล การฟ้อนรำโบราณจึงเกิดขึ้นพัฒนาอย่างเป็นรูปแบบ การละครจึงพัฒนาให้มีความโดดเด่น เครื่องแต่งกายจึงพัฒนาให้เกิดความงดงาม .. ทุกๆ ด้านจึงเกิดการพัฒนาเรื่อยมา ความสนใจ ความใส่ใจของผู้นำ .. คือประสิทธิภาพที่ดี
โชคดีที่ยุคตั้งต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ เรามีพระมหากษัตริย์ที่แสดงความมุ่งมั่นสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
"วัฒนธรรมร่วม" เป็นของตายตัว .. แต่การพัฒนาวัฒนธรรมร่วมนั้น จนเป็นเอกลักษณ์ให้โลกรู้จัก > กลับเป็นความสามารถเฉพาะตัว เฉพาะชนเผ่า เฉพาะท้องถิ่น
ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เขมรคือประเทศราชของไทย กษัตริย์เขมรต้องส่งรัชทายาท มาอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อแสดงความจงรักภักดี, พระมหากษัตริย์ของไทยจะทรงอุปถัมภ์รัชทายาทเขมรเป็นลูกบุญธรรม มีประเพณีที่ทราบกันทั้งเขมรและไทยว่า เมื่อใดที่รัชทายาทเขมรจะทรงขึ้นครองราชย์ .. ต้องให้พระมหากษัตริย์ไทยเป็นผู้ทำพิธีสวมมงกุฎให้ ถึงจะครองเมืองได้
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ .. เมื่อฝรั่งเศสบุกกัมพูชา ฝรั่งเศสเรียกร้องให้กัมพูชายอมรับอำนาจของเขา ฝรั่งเศสจะแต่งตั้งกษัตริย์กัมพูชาเอง แต่กษัตริย์กัมพูชาปฏิเสธบอกว่าไม่ได้ เพราะพระองค์เองเป็นกษัตริย์ภายใต้การสวมมงกุฎจากพระมหากษัตริย์แห่งสยาม เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของเขมร (เครื่องใช้พิธีสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์) อยู่ที่กรุงเทพฯ ช่วงเวลาตอนนั้น ชนชั้นสูง เจ้านาย กษัตริย์ของเขมร ส่วนมากจะอาศัยอยู่ที่สยาม พวกเขาศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่สยาม กล่าวได้ว่า อ่านเขียนพูดคุยภาษาไทย ได้มากกว่าภาษาเขมรของตน เขมรจึงได้มีการแลกเปลี่ยน ขอให้ครูจากสยามไปถ่ายทอดการรำ การเรือน การศิลปะ ฯลฯ ให้ที่ประเทศของตน
นั่นคือจุดเพิ่งเริ่มต้นที่เขมรได้เรียนรู้วัฒนธรรม ศิลปะ จากกรุงรัตนโกสินทร์ ..
ซึ่งเป็นยุคที่ไทยเราได้ฟื้นฟูวัฒนธรรม จนเป็นต้นแบบเอกลักษณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน
ก่อนที่ต่อมาเขมรจะดัดแปลงท่วงท่าต่างๆ ให้เข้ากับลักษณะชนชาติตน ..
เสียดายที่ชนชาวเขมรไม่มีเวลาพอ ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดจนเกิดเอกลักษณ์งดงามเฉพาะได้
เพราะเขมร ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลฝรั่งเศส .. วัฒนธรรมตนเองจึงหยุดชะงัก ถูกวัฒนธรรมฝรั่งเศสเข้าควบคุม
เป็นช่วงเวลาที่เขมรเคว้งคว้าง หาตัวตนไม่พบ กาลเวลาต่อมา .. หลังฝรั่งเศสแพ้สงครามอินโดจีน โดนเวียดนามสั่งสอนไล่เตะตูดกลับไป ชาวเขมรจึงได้เรียนรู้คำว่า “เอกราช”
ความรู้สึกในเอกราชมีเพียงแว่บเดียว ยังหายใจได้ไม่ทันเต็มปอด > ก็พบเคราะห์ซ้ำกรรมซัด .. แทนที่จะได้พัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรม กลับเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมา เป็นสงครามของชาวเขมรด้วยกัน ที่เรียกว่า เขมร 3 ฝ่าย .. รบกันเอง ฆ่ากันเอง โดยมีคอมมิวนิสต์จากเวียดนามสนับสนุนอีกฝ่าย มีการฆ่ากันเกลื่อนเมือง กระดูกกองกันเป็นภูเขา .. 8 ปีกว่าๆ ตายไป 300,000 คน เขมรเป็นชนชาติที่น่าเห็นใจ .. แผ่นดินตนไม่เคยสงบจากไฟสงคราม .. แล้วจะเอาเวลาไหนไปพัฒนาวัฒนธรรมให้เกิดเอกลักษณ์
แค่ถือปืนไปทำนา รอทางการเรียกตัวไปร่วมรบ อย่างอื่นก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ขณะนั้นไทยเราพัฒนาประเทศไปได้ระยะหนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว จนเข้ามาสู่ยุค คึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) เป็นนายกรัฐมนตรี .. ฝ่ายเขมรแดงชนะ (พลพต) > จึงได้เกิดเป็นประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ( * ปัจจุบันชื่อว่า "ราชอาณาจักรกัมพูชา" เกิดขึ้นภายหลัง)
เมื่อกลายเป็นประเทศ ไม่ได้หมายความว่า จะพบความสำเร็จความเจริญทันที ด้วยการเมืองของเขมรเพิ่มเริ่มต้น ..
พอเริ่มต้นก็เกิดกลุ่มการเมืองต่างๆ ยังคงจับอาวุธต่อสู้แย่งชิงกัน โกงการเลือกตั้ง แอบฆ่า ลอบทำร้าย วุ่นวายไม่รู้จบ
.. นักการเมืองเขมรหลายคนเข้าออกกรุงเทพฯ เป็นว่าเล่น ใช้กรุงเทพฯ เป็นที่หลบซ่อน วางแผน ก่อนกลับไปก่อการใหม่ วนเวียนแบบนี้อีกหลายสิบปี จริงๆ แล้ว เขมรเพิ่งยุติความวุ่นวาย (แม้ไม่ทั้งหมด) และก่อร่างสร้างตน ไม่กี่สิบปีหลังในยุคฮุนเซนนี้เอง
...
การสงคราม ความไม่สงบ ทำให้พวกเขาก้าวช้ากว่าคนอื่น .. พอก้าวเดินได้ ก็มุ่งหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ .. จากนั้นจึงค้นหาความเป็นตัวตนของตนเอง .. มันจึงเป็นความรู้สึก “โหยหา” อดีต .. ที่ขาดไป เมื่อโหยหาและใจร้อน ไม่สามารถอดทนรอ เพื่อการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาได้ดังใจ วิธีการง่ายที่สุดในการสร้างตัวตนของชาติ ก็คือ .. การเอาของที่คนอื่นมีอยู่ มาเป็นของตนเองอย่างดื้อๆ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "การเคลม" เป็น #การเคลม_อย่างเคลิบเคลิ้ม เคลมโดยไม่รู้ว่าผิดหรือละอาย จึงเกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี และยังจะเกิดขึ้นอีกต่อไป .. "