xs
xsm
sm
md
lg

"รสนา" เชื่อรัฐบาลเมินคำแนะนำศาลรัฐธรรมนูญ เปิดทางค่าไฟแพงต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"รสนา" ชี้กรณีศาลรัฐธรรมนูญแนะนำรัฐบาลเข้าไปดูแลการผลิตไฟฟ้าของเอกชนเพื่อให้สมเหตุสมผล ตั้งคำถามจัดเป็นคำวินิจฉัยที่หน่วยงานรัฐต้องทำตามหรือไม่ แต่เชื่อคงเมินเฉยเหมือนตอนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยตัดสินมาแล้ว เปิดทางผลักภาระให้ประชาชนแบกรับค่าไฟแพงต่อไป



วันที่ 12 ม.ค. 2565 น.ส.รสนา โตสิตระกูล คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "อนาคตไฟฟ้าไทย หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ"

โดย น.ส.รสนากล่าวว่า ปัญหาค่าไฟแพงมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรก เชื้อเพลิงแพงขึ้น เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่มองลึกลงไปโรงไฟฟ้าของไทยใช้ก๊าซเป็นหลัก ถูกแย่งใช้โดยปิโตรเคมี ปตท.ดูแลก๊าซทั้งหมด บริษัทลูกซึ่งเป็นปิโตรเคมีก็ได้ใช้ก๊าซก่อน เวลานี้เราต้องซื้อก๊าซจากต่างประเทศ แพงกว่าก๊าซธรรมชาติล้วนๆ ที่มาจากอ่าวไทย ที่ปิโตรเคมีใช้ หรือแม้แต่ธุรกิจปิโตรเคมีเหมือนกันแต่ไม่ใช่บริษัทลูก ปตท.ก็ได้ใช้ในอีกราคาหนึ่งที่แพงกว่า

สอง รัฐบาลทำสัญญาซื้อไฟ โดยรับประกันกำไรให้เอกชน 25 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ปริมาณไฟสำรองของเราล้นระบบ เพราะปี 65 เราใช้ไฟอยู่ที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ แต่เรามีไฟสำรองถึง 5.05 หมื่นเมกะวัตต์ เราควรมีไฟสำรองเพื่อความมั่นคง 15 เปอร์เซ็นต์ แต่เวลานี้ขึ้นไปถึง 54 เปอร์เซ็นต์ แล้วรัฐบาลก็ยังซื้อไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด

สาม อีกปัจจัยตัวใหญ่สุด คือการซื้อไฟแพงกว่าที่ผลิตเอง รวมไปถึงการซื้อไฟจากลาว ปกติ กฟผ.ขายส่งให้ กฟน.และ กฟภ. อยู่ที่หน่วยละ 2.57 บาท แต่ปรากฏว่าซื้อจากลาวอยู่ที่ 2.66-3 บาท แต่ถ้าทำสัญญากับโรงไฟฟ้าทั้งหลาย มันจะอยู่ที่ระดับ 3-8 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทเชื้อเพลิง อันนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐ มันทำให้มีส่วนที่ กฟผ.ต้องแบกไว้ แล้วก็โยนมาเป็นค่าเอฟที ผลักภาระให้ประชาชน

ทางด้านผู้ดำเนินรายการกล่าวถามถึงกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งระบุว่าที่ทำอยู่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ให้คำแนะนำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปจัดการ ไปดูว่าเอกชนผลิตได้มากน้อยแค่ไหน ดูต้นทุนให้สมเหตุสมผล ไม่เช่นนั้นอาจถูกร้องจากหน่วยงานอื่นได้ แต่ขณะที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมา มติ ครม.ก็ยังอนุมัติผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม

น.ส.รสนากล่าวว่า นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ เคยร้องผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อน ผู้ตรวจการแผ่นดินบอกขัดรัฐธรรมนูญ และมีคำแนะนำไปที่รัฐบาล ให้ กฟผ.เพิ่มการผลิตไฟ และลดสัดส่วนการผลิตของเอกชน แต่รัฐบาลไม่ทำ เลยไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ

แต่พอศาลไปให้เป็นคำแนะนำ ก็เกิดคำถามว่าเป็นคำวินิจฉัยที่หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติหรือไม่ เป็นเรื่องผิดปกติมาก เพราะระบบพลังงาน รัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ รัฐต้องทำเพื่อคุ้มครองประชาชน ซึ่งตนก็เชื่อว่าคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมายังไม่ทำ คำแนะนำศาลรัฐธรรมนูญก็คงไม่ทำเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น