xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละรัฐบริหารล้มเหลว เอื้อเอกชนบางราย ต้นเหตุค่าไฟแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"รสนา - อิฐบูรณ์" ชำแหละสาเหตุค่าไฟแพง รัฐให้เอกชนเปิดโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการ ซ้ำทำสัญญา Take or Pay ต่อให้ไม่ได้ผลิตไฟก็ยังต้องจ่ายอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ แล้วผลักภาระมาให้ประชาชน ชี้เอื้อทุนใหญ่ ถือเป็นขบวนการคอร์รัปชันที่ใหญ่สุดของประเทศ



วันที่ 22 ธ.ค. 2565 น.ส.รสนา โตสิตระกูล คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมด้วย นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์กับรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "บริหารล้มเหลว เอื้อเอกชนบางราย ต้นเหตุค่าไฟแพง"

โดย นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า สาเหตุค่าไฟไทย รัฐบาลบอกว่าเพราะต้นทุนเชื้อเพลิงพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรมชาติที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง นี่เป็นแค่เศษเสี้ยวเดียวเท่านั้นเอง เป็นเพียงปัญหาปลายเหตุ แต่ปัญหาต้นเหตุเกิดจากความผิดพลาดในการวางนโยบายทิศทางพลังงานของประเทศ หลายรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลนี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ซ้ำยังมีพฤติการณ์ออกแบบนโยบายพลังงาน และกิจการพลังงานที่จะเป็นภาระของประชาชน

อันดับที่หนึ่ง คือ วางแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนทั้งที่อยู่ในประเทศ และการไปทำสัญญากับโรงไฟฟ้านอกประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศลาว แล้วจะนำเข้ามาขายในไทยในราคาเกือบ 4 บาทต่อหน่วย

อีกประเด็นคือ การขยายโรงไฟฟ้าเอกชน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยที่รัฐไม่มีการขีดเพดานต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าที่ประชาชนจะรับได้เลย หมายความว่าไม่ว่าต้นทุนค่าก๊าซจะสูงเท่าไหร่ ก็จะถูกผลักภาระมาให้ประชาชนในรูปแบบของค่าเอฟที จากอยู่ที่ 3 บาทกว่า ๆ ปีที่ผ่านมาขยับเป็น 4 บาท 2565 ขยับเป็น 5 บาท และในปี 2566 จะขยับขึ้นมาเกือบ 6 บาทต่อหน่วย นั่นคือสิ่งที่ทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาก

ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ถูกกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแย่งไปใช้ในราคาต้นทุนในประเทศ โดยปกติแล้วต้นทุนก๊าซสำหรับใช้กับโรงไฟฟ้า เขาจะเรียกว่าพูลก๊าซ คือก๊าซที่รวมราคาที่ซื้อจากพม่า ซื้อจากแอลเอ็นจี และจากอ่าวไทย มารวมถัวเฉลี่ยกัน แต่ปรากฎว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งถือว่าเป็นปิโตรเลียมหลักของปะรเทศ ถูกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเอาไปใช้ แล้วคนที่ใช้ก๊าซ อย่างเช่น กฟผ. ต้องใช้ราคาพูลซึ่งสูงกว่า ทำให้ต้นทุนค่าไฟแพงขึ้น

ต่อมา รัฐมีการวางแผนในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามแผน PDP (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย) ซึ่งอิงกับจีดีพี แล้วกำหนดในเรื่องก่อสร้างโรงไฟฟ้า เป็นการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ทุนใหญ่ได้รับสัญญาที่เรียกว่า Take or Pay คือใช้ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เอกชนไม่ผลิตเลยเราก็ต้องจ่าย

นายทุนใหญ่ได้รับค่าความพร้อมจ่าย แต่ประชาชนมีค่าความพร้อมกินไหม ปีที่ผ่านมาผลิตไฟน้อย 7 โรงใน 12 โรง แทบไม่ผลิตเลย แต่ได้ค่าความพร้อมจ่ายอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท แล้วยังมีสัญญาที่รัฐบาลทำ ซื้อค่าไฟเอกชนแพงกว่าที่ กฟผ. ผลิตและขายให้กับ กฟน. และ กฟภ.

การที่ กฟผ. ซื้อไฟแพงกว่าที่ตัวเองขาย ก็จะผ่องเข้ามาในค่าเอฟทีให้ประชาชน เวลานี้เอฟทีที่ กฟผ. อ้างว่าเขาแบกอยู่ จากนโยบายของรัฐในการซื้อไฟแพงกว่าที่เขาขาย แล้วก็รวมไปถึงค่าเชื้อเพลิงต่าง ๆ รวม ๆ แล้วแต่ละปีมันมากกว่าแสนล้านบาท ตรงนี้คือต้นทุนทำให้ค่าไฟแพง

แม้รัฐบาลชะลอเพิ่มค่าไฟให้กับคนที่ใช้ไฟไม่ถึง 300 หน่วย แต่ก็คือการเอาเงินภาษีประชาชนมาจ่าย เราต้องตั้งคำถามว่า กระบวนการซื้อไฟของเอกชนเป็นขบวนการทุจริตคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศใช่หรือไม่ เพราะว่าเราใช้ไฟเพียง 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ แต่เรามีไฟเวลานี้ 5 หมื่นกว่าเมกะวัติ แล้วยังจะซื้อไฟจากลาว ซึ่งต้นทุนที่ซื้อมาแพงกว่าในประเทศ แล้วยังจะทำสัญญาจองอีก 5 พันกว่าเมกะวัตต์ในต้นปีหน้า

ซึ่งเราเรียกร้องว่ารัฐบาลต้องหยุด เพราะถ้าไม่หยุดค่าไฟต้องแพงขึ้นเรื่อย ๆ แล้วรัฐบาลก็ผลักมาให้ประชาชน ถ้าไม่ผลักก็อยู่ที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะที่ ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเพียง 51 เปอร์เซ็นต์ แต่ได้รับการโอบอุ้มทั้งในเรื่องของก๊าซธรรมชาติได้ซื้อในราคาถูก และเป็นคนจัดการก๊าซทั้งหมด แต่ไม่เคยมาร่วมแบ่งปันทุกข์สุขกับประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น