xs
xsm
sm
md
lg

อาลัย ดร.สนอง วรอุไร อาจารย์ด้านพระพุทธศาสนา บริจาคร่างกายคณะแพทยศาสตร์ มช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานชมรมกัลยาณธรรมเผย ดร.สนอง วรอุไร นักเขียนและอาจารย์ด้านพระพุทธศาสนา เสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 22 พ.ย. โดยไม่มีการจัดงานศพ แต่บริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาแก่คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

วันนี้ (23 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เฟซบุ๊ก Achara Klinsuwan ของ ทพญ.อัจฉรา กลิ่นสุวรรณ์ ประธานชมรมกัลยาณธรรม ได้โพสต์แจ้งข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร นักเขียน และอาจารย์ด้านพระพุทธศาสนา ได้เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 เวลา 22.10 น. โดยมารดายืนยันว่าจะไม่มีการจัดงานศพ ตามที่ได้เน้นย้ำเสมอเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ และได้บริจาคร่างกายให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้ในการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ต่อไป

สำหรับอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนที่ 6 จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน บิดามารดามีอาชีพทำสวน ทำไร่ ซึ่งบิดายังเป็นอดีตกำนันตำบลคลองหลวงแพ่ง ศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนสุวรรณศิลป์ ก่อนย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย กรุงเทพฯ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2505, ปริญญาโท เกษตรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเชื้อรา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2514 และได้รับทุนโคลัมโบ จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี 2518

เริ่มต้นชีวิตทำงานหลังจบปริญญาตรี ทำงานเป็นนักวิชาการเกษตร ก่อนโอนย้ายมาเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นบุกเบิก หลังจบปริญญาเอกอุปสมบทที่วัดปรินายก ก่อนฝึกวิปัสสนากรรมฐานกับพระเทพสิทธิมุนี (โชดก ปธ.๙) ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ท่าพระจันทร์ กระทั่งได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมเป็นครั้งแรกในชีวิต ณ ลานอโศก วัดมหาธาตุฯ เมื่อลาสิกขาออกมา ได้รับเชิญเป็นองค์บรรยายธรรมะตามหน่วยงานและองค์กรต่างๆ หลังจากเกษียณอายุราชการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา

ครั้งหนึ่ง อาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ได้ร่วมกับ ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ เสวนาธรรมหัวข้อ "ชีวิตหลังความตาย ชีวิตใหม่ที่ต้องเตรียมตัว" ในรายการสัปดาห์อนุรักษ์สุขภาพ ครั้งที่ 13 ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2548 ตามคำเชิญของ อ.จันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุล กระทั่งลูกศิษย์ได้ก่อตั้งชมรมกัลยาณธรรม จัดทำวิดีทัศน์และหนังสือ "ชีวิตหลังความตาย ชีวิตใหม่ที่ต้องเผชิญ" เป็นวิทยาทาน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. 2548 จำนวน 10,000 เล่ม นอกจากนี้ยังมีงานเขียนที่ชื่อ "บ่อเกิดแห่งบุญ" ซึ่งจัดทำโดย ชมรมกัลยาณธรรม พิมพ์ครั้งแรกจำนวน 4,000 เล่ม เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2556 อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น