xs
xsm
sm
md
lg

อว. ร่วมกับญี่ปุ่นจัดระบบเพิ่มทักษะนักศึกษาวิศวกรไทยโคเซ็น ต่อยอดปริญญาตรีควบโท-เอก ผลิตวิศวกรนักปฎิบัติที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีชั้นสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.ให้มาเตรียมการล่วงหน้าในการขยายผลของโครงการสถาบันไทยโคเซ็น เพื่อผลิตวิศวกรนักปฎิบัติตามแนวทางของญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อภาคอุตสาหกรรมไทย ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายฟูมิโอ คิชิดะ นายกมนตรีญี่ปุ่นได้ร่วมกันสนับสนุน โดยได้เข้าหารือกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโทโยฮาชิ (Toyohashi University of Technology) ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของสถาบันเทคโนโลยีชั้นสูงเฉพาะทางที่มุ่งรับนักศึกษาที่จบจากสถาบันโคเซ็น ไปต่อยอดในระดับปริญญาตรี-โท-เอก สร้างวิศวกรนักปฎิบัติที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีชั้นสูง โดยไทยและญี่ปุ่นจะร่วมมือกันในการพัฒนาระบบเพิ่มพูนทักษะนักศึกษาวิศวกรไทยโคเซ็นที่กำลังจะจบการศึกษารุ่นแรกใน 1.5 ปีข้างหน้า ให้สามารถไปทำงานในบริษัทชั้นนำพร้อมกับสามารถต่อปริญญาตรีควบโท-เอก ร่วมกันไปได้เลย

ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโทโยฮาชิ หรือ TUT ตั้งอยู่ที่จังหวัดไอจิ เป็นเมืองศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของญี่ปุ่น มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นและยุโรป มีจุดเด่นด้านหุ่นยนต์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมโยธา เน้นการวิจัยและการสร้างวิศวกรนักปฏิบัติ ก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันโคเซ็นทั่วประเทศญี่ปุ่นที่มีความสนใจและต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนักศึกษาที่เข้ามามักจะเรียนจนจบปริญญาโท เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก และบางส่วนได้ศึกษาต่อไปจนถึงปริญญาเอกหรือกลับเข้ามาเรียนต่อภายหลัง

“ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปฏิรูประบบการอุดมศึกษาเป็นอย่างมาก โดยมุ่งพัฒนาทั้งความรู้และทักษะของบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และตรงกับแนวโน้มอาชีพในอนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการเรียนควบกับการทำงาน และการศึกษาตลอดชีวิตหรือ life-long education ซึ่งขณะนี้ อว. มีความพร้อมให้สถาบันการศึกษาสามารถใช้แนวทางแซนด์บ็อกซ์ในเร่งปฏิรูปหลักสูตรใหม่ๆ ในรูปแบบพิเศษได้ ซึ่งการเพิ่มพูนทักษะและการต่อยอดโครงการไทยโคเซ็นสามารถเป็นหนึ่งในแซนด์บ็อกซ์ได้ เช่นการทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย และการเรียนปริญญาตรีโทเอกต่อเนื่อง โดยตนได้มอบนโยบายให้สถาบันไทยโคเซ็นทั้งสองแห่ง คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หารือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโทโยฮาชิ เพื่อร่วมกันจัดทำหลักสูตร Advanced course เพื่อรองรับบัณฑิตจากสถาบันไทยโคเซ็นศึกษาต่อได้ในระดับปริญญาตรี-โท-เอก สร้างความร่วมมือทางการวิจัยและวิชาการ รวมทั้งจะสนับสนุนให้บัณฑิตจากสถาบันไทยโคเซ็นที่สนใจมาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น