สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู เผยศักยภาพอาหารไทยนครเฉิงตู ประเทศจีน พบมีร้านอาหารไทยมากที่สุดในจีนฝั่งตะวันตก 473 ร้าน เมนูยอดฮิตพบต้มยำกุ้ง ราคา 68 หยวน หรือ 300 กว่าบาท ถูกสุดข้าวเกรียบกุ้ง 12 หยวน แพงสุด แกงกะหรี่ 88 หยวน 400 กว่าบาทไทย
วันนี้ (15 พ.ย.) เฟซบุ๊ก "Royal Thai Consulate-General in Chengdu สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู" ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน โพสต์อินโฟกราฟิก "ศักยภาพอาหารไทยในนครเฉิงตู" โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ระบุว่า นครเฉิงตูมีจำนวนร้านอาหารไทยมากที่สุดในจีนฝั่งตะวันตก 473 ร้าน เปรียบเทียบกับนครฉงชิ่ง 328 ร้าน นครคุนหมิง 265 ร้าน นครหนานหนิง 191 ร้าน นครซีอาน 95 ร้าน และนครกุ้ยหยาง 55 ร้าน
สำหรับเมนูอาหารไทยยอดนิยมในนครเฉิงตู ราคาเฉลี่ยจากร้านยอดนิยมบนเว็บไซต์ Dianping.com พบว่า ต้มยำกุ้ง ราคา 68 หยวน (343.10 บาท) ข้าวผัดสับปะรด 36 หยวน (181.63 บาท) แกงกะหรี่ 88 หยวน (443.98 บาท) ข้าวเกรียบกุ้ง 12 หยวน (60.54 บาท) คอหมูย่าง 48 หยวน (242.19 บาท) และปลานึ่งมะนาว 78 หยวน (393.56 บาท) ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู อยู่ระหว่างการผลักดันให้อาหารไทย วัตถุดิบ เครื่องปรุงของไทย ได้รับความนิยมในตลาดเฉิงตู และฉงชิ่งยิ่งขึ้น
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า จากการสืบค้นข้อมูล จากเว็บไซต์ สำนักงานการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า นครเฉิงตู เป็นเมืองหลวงของมณฑลเสฉวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีพื้นที่ทั้งหมด 12,390 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยที่ราบ 40.1% ภูเขา 32.3% และเนินเขา 27.6% มีอาณาเขตติดต่อกับเมืองเต๋อหยางทางตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองชื่อหยางทางตะวันออกเฉียงใต้ เมืองหยาอันทางตะวันออกเฉียงใต้ เมืองเหม่ยชานทางทิศใต้ และเมืองอาบาทิเบตและเขตปกครองตนเองเซียงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ในปี 2562 นครเฉิงตูมีประชากรประมาณ 8,972,000 คน คิดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งรวมถึงชาวฮั่นจีน 99.1% และกลุ่มอื่นๆ อีก 0.9% เช่น ชาวฮุ่ย ชาวทิเบต ชาวแมนจู ชาวเจีย ชาวมองโกเลีย ชาวถูเจีย ชาวยี่ ชาวแม้ว ชาวจวง และชาวเกาหลี มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมือง 83% และในพื้นที่ชนบท 17% นครเฉิงตูตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มมินเจียงและแม่น้ำเถาเจียง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาแรกของแม่น้ำชางเจียง และมีภูเขาที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น ภูเขาหลง ภูเขาชวงไหล ภูเขาหลงควน ภูเขาชางฉู ภูเขาชิงเฉิง เป็นต้น
นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านการตรวจสอบแล้วหลายอย่าง เช่น แหล่งเกลือแคลเซียมกลาวเบอร์ (Glauber) ก๊าซธรรมชาติ และน้ำแร่ เป็นต้น เป็นศูนย์กลางการค้า การขนส่ง การเงิน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการสื่อสารในภูมิภาคตะวันตกของจีนอีกด้วย เศรษฐกิจของนครเฉิงตูเติบโตอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากโครงการพัฒนาภูมิภาคแห่งชาติ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นครเฉิงตูกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นมหานครระหว่างประเทศโดยการใช้กลยุทธ์แห่งโอกาสห้าอย่าง ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ตะวันตกรอบใหม่ เขตนำร่องการประสานงานระหว่างเขตชนบทและเมืองแห่งชาติ การเร่งการก่อสร้างพื้นที่ใหม่ในเขตเทียนฝู โซนพัฒนาประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งชาติ และโครงการฟื้นฟูเมืองทางเหนือ
นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังได้พัฒนาเศรษฐกิจของตนด้วยการก่อตั้งเขตพัฒนาเพิ่ม ได้แก่ เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และพื้นที่ที่ครอบคลุมเทคโนโลยีขั้นสูง นครเฉิงตูเป็นบ้านเกิดของหมีแพนด้ายักษ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและมิตรภาพ แพนด้ายักษ์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในฐานะสะพานเชื่อมมิตรภาพระหว่างผู้คนในนครเฉิงตูและผู้คนจากที่อื่นๆ ทั่วโลก
กรุงเทพมหานคร และนครเฉิงตู ได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เมืองมิตรภาพระหว่างกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2560 หรือเมื่อ 6 ปีก่อน