xs
xsm
sm
md
lg

“พรรคฯ นำทุกสิ่งทุกอย่าง” ผ่านกระบวนการ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข้อความข้างบนนี้คือบทสรุปลัดสั้นที่สุดที่จีนใช้ชี้นำการปกครอง “สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีน” ผู้นำจีนทุกคนตอกย้ำสโลแกนนี้เสียงดังฟังชัดอยู่เสมอ ไม่สนใจว่า “พรรคฯ นำทุกสิ่งทุกอย่าง” (党领导一切) ในความคิดของคนทั่วไปก็ไม่ต่างจากการปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยพรรคพรรคเดียว

ครั้งที่แล้วเราไปดูกันมาแล้วว่าผู้ที่ประกอบขึ้นเป็นฐานรากของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือใคร มาจากไหน มีคุณสมบัติอย่างไร วันนี้เราจะมาดูว่าพรรคฯ ใช้วิธีการอย่างไรในการกลั่นกรองสมาชิกระดับฐานรากจำนวนกว่า 96 ล้านคนทั่วประเทศนี้ให้ได้รับเลือกเลื่อนสูงขึ้นๆ จนถึงองค์กรสูงสุดของพรรคฯ ที่เรียกว่า “สมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ” หากจะอธิบายวิธีการดังกล่าวโดยลัดสั้นที่สุดก็คือ พคจ.ให้หน่วยพรรคฯ ระดับฐานรากทุกหน่วยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศต่างเลือกตัวแทนของจากหน่วยของตนจำนวนหนึ่ง (ขึ้นกับขนาดและจำนวนสมาชิกในหน่วย) ขึ้นสู่หน่วยพรรคฯ ระดับสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ 

 เช่น หน่วยพรรคฯ ระดับชุมชนหลายๆ ชุมชนรวมกันเป็นหน่วยพรรคหนึ่ง ก็เลือกตัวแทนของตนขึ้นไปทำหน้าที่ “ทั้งเลือกตั้งและรับเลือกตั้ง” เป็นตัวแทนสมาชิกพรรคฯ ในระดับตำบล จากตำบลก็ขึ้นสู่ระดับอำเภอ ฯลฯ เรื่อยขึ้นไปจนถึงระดับมณฑล สูงจากมณฑลขึ้นไปก็คือ “สมัชชาพรรคฯ ทั่วประเทศ” องค์กรสูงสุดของพรรคฯ วิธีการเลือกผ่านตัวแทนเป็นชั้นๆ เช่นนี้เรียกว่าการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งทางตรงของไทยที่ต่างคนต่างกาเบอร์ผู้สมัครที่ตนชอบเข้าสภา แต่จะปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีเลือกตั้งแบบทางอ้อมหรือทางตรงต่างก็ใช้หลักการประชาธิปไตยเหมือนกัน การได้มาซึ่งผู้แทนในสมัชชาพรรคฯของจีนโดยผ่านการคัดเลือกตั้งทางอ้อมขึ้นมาเป็นชั้นๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์”


”สมัชชาพรรคฯ ทั่วประเทศ” เป็นการประชุมระดับสูงสุดของพรรคฯ เปิดประชุมเป็นประจำทุก 5 ปี แต่ละสมัยของการประชุมจะมีตัวแทนสมาชิกพรรคฯ เข้านั่งในที่ประชุมจำนวนใกล้เคียงกัน สมัชชาฯ สมัยที่ 20 ที่กำลังจะปิดประชุมในวันที่ 22 ตุลาคม 2565 นี้ โดยมีผู้แทนทั้งหมด 2296 คน วาระหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ก่อนปิดสมัยประชุมทุกครั้ง คือการเลือกคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำพรรคฯ ทำงานทุกอย่างและรับผิดชอบงานทุกด้านทั้งของพรรคฯ และของรัฐตลอด 5 ปีถัดไป ไปจนกว่าจะถึงการประชุมสมัชชาฯ สมัยหน้า

“กรมการเมืองประจำ” หรือกรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือคณะกรรมการสูงสุดของพรรคฯ โดยในครั้งนี้จะเลือกจากที่ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 ครั้งที่ 1 ซึ่งจะมีขึ้นหลังเสร็จสิ้นวาระของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 20 กรมการเมืองประจำแต่ละชุดมีขนาดกะทัดรัดเพียง 7 คน เพื่อความคล่องตัวในการทำงานประจำวันและการปรึกษาหารือชนหัวกันหากมีความจำเป็นได้ทุกเวลา

จุดประสงค์ของบทความนี้ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า “พรรคฯ นำทุกสิ่งทุกอย่าง” ผ่านหน่วยนำสูงสุดคือกรมการเมืองประจำ 7 คนนี้อย่างไร แต่เนื่องจากผู้เขียนมีความจำเป็นต้องเขียนเรื่องนี้ก่อนการเลือกตั้งกรมการเมืองชุดใหม่สมัยที่ 20 จึงขออนุญาตนำรายชื่อผู้นำพรรคฯ สูงสุด 7 คนในตำแหน่งกรมการเมืองประจำครั้งที่ 19 มาให้ดูแทนเป็นตัวอย่าง


กรมการเมืองประจำคนที่ 1 “สีจิ้นผิง” ดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการพรรคฯ” ผู้นำสูงสุดสายพรรคฯ /ตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” ผู้นำสูงสุดสายรัฐ / และตำแหน่ง “ประธานกรรมการทหาร” ผู้นำสูงสุดด้านการทหาร

คนที่ 2 “หลี่เค่อเฉียง” ตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ผู้นำสูงสุดสายรัฐฝ่ายบริหาร

คนที่ 3 “ลี่จั้นซู” ตำแหน่ง “ประธานสภาประชาชน” ผู้นำสูงสุดสายรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ

คนที่ 4 “วังหยาง” ตำแหน่ง “ประธานสภาที่ปรึกษาการเมือง” ผู้นำสูงสุดสายรัฐฝ่ายงานแนวร่วม

คนที่ 5 “หวังหู้หนิง” ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายพรรค ผู้นำฝ่ายนโยบายพรรค

คนที่ 6 “จ้าวเล่อจี้” ตำแหน่งเลขาธิการฝ่ายวินัยพรรคฯ ผู้นำฝ่ายวินัยพรรค

คนที่ 7 “หานเจิ้ง” ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ผู้นำสายรัฐอีกคนหนึ่งต่อจากนายกรัฐมนตรี

กรมการเมืองทั้ง 7 กับตำแหน่งที่รับผิดชอบทั้งสายพรรคฯ สายรัฐ และกองทัพ คือข้อพิสูจน์ชัดเจนที่สุดว่าผู้นำจีนเชิดชูและยึดมั่นว่า “พรรคจะต้องนำทุกสิ่งทุกอย่าง” โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ!!

รองลงมาจากกรมการเมืองประจำยังมี “คณะกรมการเมือง” (ไม่ประจำ) หรือกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีก 18 คน ประชุมกันเป็นระยะๆ ตามที่เลขาธิการพรรคฯ เห็นสมควรเรียกประชุม รองลงมาอีกชั้นคือ “คณะกรรมการกลาง” จำนวนอีกกว่า 300 คน ซึ่งทั้งหมดนี้คือกลุ่มผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์จีน








กำลังโหลดความคิดเห็น