xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานหญิงทรงเสน่ห์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผัวเป็นตัวเป็นตน ๕ ชู้นับไม่ถ้วน! นสพ.ฝรั่งลงประจาน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค


นางแบบสมัย ร.๕
แม้หญิงไทยในสมัยก่อนจะรักนวลสงวนตัวกันมากตามวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิม แต่ก็มีบางคนที่รักเสรีที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่แคร์ต่อวัฒนธรรมประเพณี รายหนึ่งทำเรื่องไว้สุดขีด ถึงกับหนังสือพิมพ์ที่ออกโดยคนอเมริกันเอามาตีแผ่จนเป็นที่อื้ออึง ไม่คาดคิดว่าจะมีหญิงไทยก้าวไกลไปได้ถึงขนาดนี้

เนื้อหาของข่าวที่เขียนภาษาไทยเพี้ยนๆของฝรั่งโดยหมอบรัดเลย์ ใน “บางกอกรีคอเดอร์” หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย กล่าวว่า
อำแดงเขียนว่าเป็นชาวเมืองนครราชเสมา ซึ่งก็คือนครราชสีมา มีสามีคนแรกชื่อ นายจู่ ขณะที่เป็นภรรยานายจู่ อำแดงเขียนมีชู้กับผู้ชายชาวเมืองนครราชเสมาหลายคน ข่าวระบุชื่อชายชู้คนหนึ่งคือ ขุนวิจาร กรมการเมืองนครราชสีมา เมื่อนายจู่สามีทราบเรื่องก็ทะเลาะตบตีอำแดงเขียน บางกอกรีคอเดอร์รายงานว่า “ถูกศรีค่างข้างซ้ายขัดอยู่จนถึงทุกวันนี้”

จากนั้นนายจู่ก็ไล่อำแดงเขียนไป อำแดงเขียนจึงมาอยู่กับชายชู้ และมีลูกสาวคนหนึ่งกับชายชู้ แต่อำแดงเขียนก็ยังไม่หยุดการมีชู้ ข่าวระบุว่าเธอมีชู้สู่กับชายอื่นอีก ๑๕ คน สามีคนที่สองจึงทิ้งเธออีก

ด้วยความอับอายที่ถูกนินทาเรื่องมีชู้ อำแดงเขียนได้ย้ายออกจากเมืองนครราชสีมา มีข้าทาสติดตามเธอไปด้วย ระหว่างการเดินทางไปหาที่อยู่ใหม่ อำแดงเขียนก็ได้อ้ายบุน ทาสคนหนึ่งเป็นสามีคนที่ ๓ ข่าวยังระบุรายละเอียดอีกว่า ขณะแวะพักที่เมืองพรมเป็นเวลา ๕ วัน อำแดงเขียนมีชู้อีกกับนายระย้าและนายกำนันจุ้ย เมื่ออ้ายบุนสามีทาสรู้เข้าก็ห้ามปราม จนต้องเกิดศึกกับชายชู้

ด้วยความอับอายในเรื่องชู้สาว อำแดงเขียนจึงคิดหนีมากรุงเทพฯ หายายเภาผู้เป็นมารดาซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านหลวงศรีทิพโพด

ขณะที่อยู่ในกรุงเทพนี้ อำแดงเขียนก็ยังไม่หยุดมีชู้ ข่าวกล่าวว่าชายชู้ที่กรุงเทพฯมีอีก ๑๒ คน

“ครั้นจะระบุชื่อตัวชายที่ทำชู้กับอำแดงเขียนนั้น ก็ได้แต่เหนการไม่ควร ที่เปนคนดี ขุนนางก็มาก ที่เปนไพร่ก็มีมาก ข้าพเจ้าว่ามาแต่เพียงเท่านี้ก็พึงทราบเถิด การทั้งนี่ของจริงๆไม่ได้เอาเทษมาว่าเลย” หมอบรัดเลย์ ผู้เป็นบรรณาธิการให้เหตุผลในการไม่เปิดเผยชื่อชายชู้ไว้ในข่าว

ต่อมาอำแดงเขียนก็ได้สามีคนที่ ๔ คือ นายเอม มหัดเลค ลูกพระยาเพชปานี แต่อยู่ด้วยกันเพียง ๓ เดือน อำแดงก็ถูกนายเอมทิ้งอีก เนื่องจากจับได้ว่าเมียมีชู้หลายคน

สามีคนคนที่ ๕ ของอำแดงเขียนคือ หลวงเดษ ลูกเลี้ยงพระยาภักดีผูทร ต่อมาหลวงเดษจับได้ว่าเธอมีชู้ อำแดงเขียนกลัวว่าจะถูกทำโทษจึงหนีไป และมีสามีอีกคนชื่อนายตาษ ต่อจากนั้นอำแดงเขียนก็หนีเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

แม้จะเข้าไปอยู่ในรั้วในวังที่คนภายนอกไม่สามารถเห็นพฤติกรรมให้เอามานินทาได้ อำแดงเขียนก็ยังสร้างเรื่องขึ้นอีกจนได้ บางกอกรีคอเดอร์รายงานว่า

“ครั้น ณ เดือนอ้าย แรมหกค่ำ ปีวอก โทศก เพลาเที่ยง อำแดงเขียนไปซื้อผ้าที่ถนนบำรุงเมือง ขุนอักษรสมบุน เสมียนตราท้วม เหนอำแดงเขียนก็ชอบใจ ให้ยายตานไปพูดกับอำแดงเขียน ๓ วันได้ตัว”

และรายงานรายละเอียดถึงจำนนวนเงินสินสอดไว้ว่า

“เสียเงินให้กับแม่สื่อ ๓ ตำลึง แล้วเสียสินสอดผ้าไว่ คิดรวมเงิน ๒๐๐ บาตร์ รับเอาไปเลี้ยงไว้ให้เปนเมียหลวงใหญ่ถือน้ำทุกปี”

อำแดงเขียนได้เป็นภรรยาเอกของขุนอักษรสมบุน มีชีวิตสุขสบายมีเงินทองให้ใช้ แต่เมื่อสามีเข้าวังปฏิบัติราชการ เธอกลับมีชู้อีก ๖ คน เมื่อขุนอักษรสมบุนจับได้จึงทะเลาะตบตีกัน อำแดงเขียนได้ยื่นฟ้องศาลขอหย่ากับสามี ขุนอักษรสมบุนฟ้องกลับว่าเธอมีชู้ ตุลาการชำระคดีให้ชายที่ทำชู้เสียค่าปรับไหมให้กับขุนอักษรสมบุนเป็นเงิน ๓ ชั่ง และให้อำแดงเขียนไปอยู่กับชายชู้ได้ ซึ่งข่าวรายงานว่าชายชู้นี้เป็นสามีคนที่ ๕ ของเธอ และเธออยู่กับสามีรายล่าได้เพียงปีกว่า ก็ถูกจับได้ว่ามีชู้อีก สามีจึงขอเงินค่าตัวค่าสินสอดคืนเป็นเงินจำนวน ๙ ชั่ง พร้อมทั้งเขียนหนังสือหย่าและไล่เธอไป

ท้ายสุดของข่าว บรรณาธิการได้แสดงความคิดเห็นในข่าวว่า “อำแดงเขียนคนนี้ไม่ดีเลย มีคนเล่าฤามา ข้าพเจ้าทราบ ดังนี้ถึงจะอยู่กับใครไม่นานก็คงจะมีชู้อีก”

รายงานข่าวนี้สรุปได้ว่า อำแดงเขียนมีสามี ๕ คน ซึ่งคนเขียนข่าวก็นับไม่ถูกเหมือนกัน และมีชายชู้ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด ก็น่าเห็นใจที่นับไม่ได้

ข่าวนี้แสดงให้เห็นว่า กฎหมายสมัยนั้นให้เสรีภาพผู้หญิงมาก แม้จะมีชู้ซ้ำซากก็ไม่ได้ลงโทษ และยังให้สิทธิผู้หญิงที่มีชู้ฟ้องหย่าสามีได้ด้วย ส่วนชายชู้ก็ถูกลงโทษเพียงถูกปรับเท่านั้น หมอบรัดเลย์จึงเห็นว่าผู้หญิงที่มีพฤติกรรมเช่นนี้เมื่อไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย ก็ควรจะได้รับการลงโทษทางสังคม จึงนำมาตีแผ่เพื่อให้ได้รับความอับอาย ตามนโยบายของบางกอกรีคอร์เดอร์ที่จะนำแสงสว่างมาสู่ความมืด ซึ่งบางดอกรีคอร์เดอร์ก็ไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้น แม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่ประพฤติไม่เหมาะสมก็ถูกรีคอร์เดอร์กล้านำมาตีแผ่

อย่างไรก็ตาม การเสนอข่าวเรื่องนี้ของบางกอกรีคอร์เดอร์ที่ลงท้ายข่าวไว้ว่า “มีคนเล่าฤามา ข้าพเจ้าทราบ” เป็นการยอมรับว่าเอาข่าวลือมาเขียน จึงเป็นไปได้ที่อำแดงเขียนถูกใส่ร้ายเกินจริง หลักฐานของข่าวก็เลื่อนลอยไม่ปรากฏ และไม่มีข่าวเรื่องนี้ปรากฏที่อื่นอีก ซึ่งข่าวของบางกอกรีคอร์เดอร์ก็มักจะเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ถูกฟ้องศาลหลายคดี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเป็นสมาชิกรับบางกอกรีคอร์เดอร์ด้วย ต่อมาก็ทรงไม่พอพระราชหฤทัยกับการเสนอข่าวและการร้องทุกข์ทางบางกอกรีคอร์เดอร์ จึงมี “ประกาศเรื่องทิ้งหนังสือและลงหนังสือพิมพ์” มีความตอนหนึ่งว่า

“มีพระบรมราชโองการดำรัสให้ประกาศว่า การทิ้งแลหนังสือไปลงพิมพ์บ้านหมออเมริกันทั้งสองอย่างนี้ จะเชื่อฟังเอาเปนจริงไม่ได้ เห็นเป็นการพิรุธนัก เพราะใครทำอย่างนั้นเห็นชัดว่าจะว่าเขาตรงๆไม่ได้ จะแกล้งนินทาว่าประจานเขาให้ความอึงๆไปเท่านั้น ไม่เปนความจริง ถ้าจริงแล้วทางที่จะว่านั้นมีอยู่คือที่โรงศาล และร้องถวายฎีกาอยู่ไม่ห้าม...”

พระบรมราชโองการฉบับนี้ทำเอาหมอบรัดเลย์ท้อแท้หมดกำลังใจ ที่สำคัญทำให้คนอ่านบางกอกรีคอเดอร์ลดลงจนทำให้ขาดทุน จึงประกาศเลิกกิจการบางกอกรีคอร์เดอร์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“...ข้าพเจ้าเห็นว่าคอเวอเมนต์ไทยไม่ชอบการที่จะลงจดหมายเหตุ ถ้าคอเวอเมนต์ชอบและโปรดการนี้เหมือนที่คอเวอเมนต์อะเมริกาได้โปรดการลงพิมพ์จดหมายเหตุนั้น เห็นทีคนทั้งปวงจะภอใจซื้อ คงเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองมาก เมื่อเราแรกทำคอเวอเมนต์กรุงเทพฯก็ชอบ คนทั้งปวงจึงดีใจรับเอาจดหมายเหตุ แลได้สรรเสริญว่ามีคุณประโยชน์แก่เมืองหลายอย่างนัก แลคนซื้อก็ทวีมากขึ้นทุกเดือน ข้าพเจ้าจึงดีใจด้วยรักกรุงเทพฯ ปรารถนาแต่ที่จะให้กรุงเทพฯดีขึ้นทุกอย่าง ที่ข้าพเจ้าจะทำไม่ได้ต่อไปก็เสียใจไป ตั้งแต่นี้จะลาท่านทั้งปวงออกจากที่เอดิเตอร์ ขอให้ท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นศุขเถิด”

นั่นก็คืออวสานของ “บางกอกรีคอเดอร์” หรือ “จดหมายเหตุ” หนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรกที่ออกโดยคนอเมริกัน

หมอบรัดเลย์




กำลังโหลดความคิดเห็น