“วังหน้า” หรือ “กรมพระราชวังบวร” เป็นตำแหน่งพระมหาอุปราชที่มีความสำคัญยิ่งต่อแผ่นดิน จะเป็นรองก็แต่พระมหากษัตริย์เท่านั้น ทั้งยังมีกองกำลังของตัวเอง หากจะชิงอำนาจจากพระมหากษัตริย์ก็ย่อมมีทางเป็นไปได้สูง ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลจึงทรงสถาปนากรมพระราชวังบวรจากบุคคลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุด ส่วนมากจะเป็นพระอนุชาหรือพระราชโอรส และทรงรักษาพระราชอำนาจในการสถาปนาวังหน้าด้วยพระองค์เองมาตลอด
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนา เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช พระอนุชา เป็นกรมพระราชวังบวร
รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาเสนานุรักษ์ พระอนุชาเช่นกัน
รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา สมเด็จมหาศักดิพลเสพย์ พระราชโอรส ที่กรำศึกมาด้วยกัน เป็นกรมพระราชวังบวร
รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์ ตรวจดวงชะตาของกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระอนุชา ว่ากำลังมาแรง นอกจากจะทรงสถาปนาเป็นวังหน้าแล้ว ยังยกฐานะขึ้นเป็นพระบาท
สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีฐานะเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งด้วย ทำให้รัชกาลนี้มีกษัตริย์ ๒ พระองค์ เช่นเดียวกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถ
เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต กรมพระราชวังบวรก็มีสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อ แต่ปรากฏว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรสิ้นพระชนม์ก่อนพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ไม่ได้ทรงสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นวังหน้า ปล่อยตำแหน่งนี้ให้ว่างอยู่ ต่อมาอีก ๓ ปีพระองค์ก็สวรรคต ทั้งไม่ได้แต่งตั้งรัชทายาทไว้ ทรงมอบให้เป็นหน้าที่ของพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการพิจารณาหาผู้เหมาะสมกันเอง แผ่นดินช่วงนี้จึงว่างทั้งวังหลวงวังหน้า คณะเสนาบดีจึงเปิดประชุมเพื่อการนี้เป็นองค์ประชุมใหญ่ ประกอบด้วย ๓ ฐานันดร คือ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางข้าราชการซึ่งเป็นสามัญชน และพระสงฆ์ราชาคณะ มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลสำคัญแห่งยุค เช่น
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท โอรสในรัชกาลที่ ๒ กำกับราชการมหาดไทย ว่าพระคลังสินค้า และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ โอรสในรัชกาลที่ ๒ ว่ากรมวัง กรมคชบาล และสังฆการีธรรมการ
กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ โอรสในรัชกาลที่ ๒ ว่าการศาลราชตระกูล
กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ พระองค์เจ้าชายปราโมช โอรสในรัชกาลที่ ๒ เช่นกัน ว่ากรมหมอ กรมช่างเคลือบ ช่างหุงกระจก กรมญวนหก และกรมท่า
ส่วนประธานของที่ประชุมคือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนั้น ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
นอกจากคณะเสนาบดีแล้ว กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะกรรมการฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ผู้ใหญ่อีก ๒๕ รูป กับพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งกำลังผนวชเป็นสามเณรอีก ๗ องค์ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
วาระแรกได้พิจารณาหาผู้จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ต่อไป ที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ที่จะอัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ขึ้นเป็นยุวกษัตริย์พระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์
แต่ในวาระต่อไปที่จะสรรหาผู้เป็น “วังหน้า” ก็ได้เรื่อง
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ประธานของที่ประชุม ได้นั่งคุกเข่าพนมมือแล้วกล่าวต่อที่ประชุมว่า แผ่นดินที่ว่างแต่ก่อนๆมา เมื่อมีพระมหากษัตริย์แล้วก็ต้องมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าเป็นเยี่ยงอย่างมาทุกแผ่นดิน ครั้งนี้ที่ประชุมจะเห็นสมควรมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าด้วยหรือไม่ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ซึ่งพระชนมายุสูงที่สุดในพระบรมวงศานุวงศ์ จึงตรัสต่อที่ประชุมว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเดชพระคุณแก่แผ่นดินมาทั้ง ๒ พระองค์ ควรจะระลึกถึงพระคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯด้วย โดยยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สนองพระคุณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จะได้เป็นที่ยินดีของพวกวังหน้าด้วย
ประธานของที่ประชุมได้ถามความเห็นของที่ประชุมแบบเรียงตัว ทุกคนก็รับว่า “สมควร” แต่ในขณะที่ประชุมจะยุติเรื่องนี้ กรมขุนวรจักรธนานุภาพ ต้นตระกูล “ปราโมช” ก็ตรัสทะลุขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า
“ผู้ที่จะเป็นตำแหน่งพระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชนั้นควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุมจะเลือกมหาอุปราช”
ประธานของที่ประชุมได้ทูลถามถึงเหตุผลในการคัดค้าน กรมขุนวรจักรฯก็ทรงชี้แจงว่า
“เห็นราชประเพณีเคยมีแต่ก่อนเป็นเช่นนั้น...พระเจ้าแผ่นดินเคยทรงตั้งมาทุกรัชกาล จึงเห็นว่ามิใช่หน้าที่ของที่ประชุมจะเลือกพระมหาอุปราช”
ประธานของที่ประชุมได้ซักถามและตอบโต้กันอีกหลายประโยค แต่กรมหลวงวรจักรฯก็ไม่ยอมลดละ จนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีอารมณ์ขึ้นมา จึงถามอย่างขวานผ่าซากไปว่า
“ที่ไม่ยอมนั้นอยากเป็นเองหรือ”
กรมขุนวรจักรฯจึงเสียงอ่อนลง ยอมรับว่า
“ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม”
เมื่อที่ประชุมมีมติยอมรับกรมหมื่นวิชัยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้พระสงฆ์สวดชยันโตและถวายอดิเรก
การประชุมครั้งนี้จบลงเมื่อล่วงเข้า ๑ นาฬิกาของวันใหม่
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หลานปู่ของกรมขุนวรจักรธรานุภาพ และมารดามาจากตระกูลบุนนาค ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับบรรพบุรุษของท่านไว้ในหนังสือ “โครงกรดูกในตู้” ว่า เมื่อกรมขุนวรจักรฯออกจากที่ประชุม ท่านก็เสด็จกลับวัง แล้วไม่ออกจากวังอีกเลยตลอดช่วงเวลาที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาและเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนพระพุทธเจ้าหลวงมีพระชนม์ครบ ๒๐ พรรษาขึ้นว่าราชการเอง สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พ้นหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแล้ว ท่านจึงออกจากวังไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว
ตลอดเวลา ๕ ปีที่ท่านขังตัวเองอยู่ในวังท่านก็ไม่ได้อยู่ว่าง ทดลองวิธีการใหม่ๆในงานช่างมากมาย รวมทั้งด้านการแพทย์ และถ่ายทอดให้โอรสของท่านกับหม่อมเจ้าในกรมกองต่างๆที่สนใจมาเรียนรู้ ให้ออกไปสร้างงานไว้มากในยุคนั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ได้โปรดให้ช่างเขียนรูปกรมขุนวรจักรฯขึ้นติดไว้ในห้องน้ำเงิน รูปเจ้านายที่ติดไว้ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น ที่ไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี หรือสมเด็จเจ้าฟ้า มีอยู่เพียง ๓ พระองค์เท่านั้น คือ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชอุปัชฌาจารย์ กับพระบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธเจ้าหลวงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และกรมขุนวรจักรธรานุภาพเท่านั้น ซึ่งแสดงถึงความในพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อกรมขุนวรจักรฯ
เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญสวรรคตในปี ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็มิได้ทรงสถาปนากรมพระราชวังบวรขึ้นอีก คงยกเลิกตำแหน่งนี้ไป และสถาปนาตำแหน่งใหม่เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช