หม่อมเจ้าหญิงองค์นี้ก็คือ ท่านหญิงออน พระธิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรณู พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ส่วนพระมารดาคือหม่อมราชวงศ์อิ่ม น้องสาวของหม่อมราชวงศ์แสง ภรรยาในสมเด็จฯ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ไม่ปรากฏว่าพระบิดาของท่านหญิงรับราชการในกรมกองใด สิ้นพระชนม์ในปี ๒๓๘๔ สมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะท่านหญิงอายุได้ ๙ ปี
เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ ท่านหญิงออนได้ไปอาศัยอยู่กับหม่อมเจ้าประสงค์สรร พระธิดาในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์กับหม่อมราชวงศ์แสง ในพระบรมมหาราชวัง
ต่อมาก็ไปอยู่กับหม่อมเจ้าไพบูลย์ พระเชษฐาต่างมารดาของท่านหญิง แต่ก็ไม่ได้รับการอุ้มชูเลี้ยงดูอย่างพระญาติ ต้องอยู่ในฐานะคนรับใช้ ท่านหญิงจึงสนิทสนมกับกลุ่มคนรับใช้ที่เป็นทาส และสนิทสนมเป็นพิเศษกับทาสหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อ แสง
ต่อมาแสงกับเอมซึ่งเป็นพี่สะใภ้ ไถ่ตัวออกไปได้ ท่านหญิงซึ่งมีจิตปฏิพัทธ์กับแสงจึงหนีออกไปอยู่กับเอม และมีลูกกับแสงคนหนึ่งมีชื่อว่า แพ โดยอยู่ด้วยกันในฐานะยากลำบาก เมื่อเอมเสียชีวิตลง ท่านหญิงจึงเข้าสวมชื่อแทน และออกขายตัวเป็นทาสร่วมกันทั้งพ่อแม่ลูกหลายแห่ง จนที่สุดมาเป็นทาสเถ้าแก่ปริก และเป็นอยู่ถึง ๑๑ ปีจนลูกสาวอายุ ๒๕ ท่านหญิงอายุ ๖๐ เข้าวัยชรามีอาการป่วย รู้สึกว่าทนใช้ชีวิตทาสต่อไปไม่ไหวแล้ว ต้องการใช้ความเป็นเจ้าเข้ามาช่วยให้พ้นจากการเป็นทาส จึงหนีออกจากบ้านเถ้าแก่ปริกไปหาหม่อมเจ้าหญิงเจริญเนตร พระขนิษฐา ที่วังกรมหมื่นวิษณุนารถนิภากร พระเจ้าพี่ยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ท่านหญิงเจริญเนตรช่วยยืนยันว่าตัวเป็น “หม่อมเจ้าออน” ไม่ใช่ “อีเอม” เพื่อตัวเองและลูกสาวจะได้พ้นจากความเป็นทาส เมื่อเถ้าแก่ปริกทราบเรื่องจึงได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา
เรื่องหม่อมเจ้าหญิงมีสามีเป็นไพร่ขายตัวเป็นทาส ถือว่าเป็นความผิดต่อราชสำนัก จึงเข้าศาลพระราชตระกูล ประกอบด้วยผู้พิจารณา ๑๐ ท่าน คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) และเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ทุกท่านต่างลงความเห็นว่า หม่อมเจ้าออนไม่รักเกียรติยศของการเป็นเจ้า ถึงกับปลอมตัวเป็นไพร่และขายตัวเป็นทาส ไม่รักษาวงศ์ตระกูล และไม่เกรงกลัวพระราชอาญา จึงสมควรถอดถอนบรรดาศักดิ์ลงเป็นไพร่
บางท่านแม้จะเห็นด้วยกับการถอดลงเป็นไพร่ แต่ก็เห็นที่มาของปัญหานี้ อย่างกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงกล่าวว่า “ธรรมดาของหม่อมเจ้าผู้หญิงนั้นได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตอยู่น้อยนัก ทั้งไม่มีผู้อุปการะด้วย ถ้าเป็นคนที่มีความอุสาหะเลี้ยงตัวได้ ก็พอดำรงยศอยู่ได้ ที่เป็นคนใช้สอยฟูม…ฤๅหาไม่ได้ก็ต้องขัดสน เป็นหนี้สินลงแล้วก็ต้องประพฤติความชั่วไปต่างๆ แม้ถึงจะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดก็ต่อปีหนึ่งจึงได้รับพระราชทาน ก็ใช้สอยหมดไปโดยที่มักไม่ใคร่ได้ประมาณเวลา”
ส่วนเจ้าพระยาภาสกรวงศ์มีความเห็นว่า “แม้ว่าจะมีความคับแค้นขัดสนประการใด ทางที่จะบำบัดความขัดสนไม่ให้เสื่อมเสียชาติตระกูลก็มีอยู่ โดยเข้ารับราชการฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่พนักงานประการใดก็ได้ ฤๅมิฉะนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นกุลเชษฐ์ผู้ใหญ่ก็มีโดยมาก ชอบที่จะเข้าพักพิงอาศัยรับใช้สอยทำการงานให้ท่าน ก็คงจะทรงอนุเคราะห์ตามสมควร ก็คงดำรงชาติตระกูลอยู่ได้”
ส่วนกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงเห็นด้วยกับความผิดในโทษเรื่องไม่รักษาเกียรติแห่งความเป็นเจ้า แต่ได้ตั้งคำถามถึงปัญหาในทางเศรษฐกิจของหม่อมเจ้าที่ต้องประสบไม่เฉพาะแต่ในกรณีของท่านหญิงออนว่า
“ด้วยการที่หม่อมเจ้าเป็นทาส จะไม่เฉพาะแต่หม่อมออน เพราะหม่อมเจ้าที่ยากจนอัตคัด จำต้องยืมเงินกู้เงินเจ้านายแลผู้มีบรรดาศักดิ์อยู่ หม่อมเจ้านั้นๆมักเข้ารับราชการอยู่ในวังในบ้านเหมือนเป็นทาสกลายๆอยู่ เป็นแต่รู้ประมาณการรักษาเกียรติยศ ไม่ปิดบังตัวว่าเป็นเจ้า แลเลือกผู้มีบรรดาศักดิ์สมควรให้ปกครองเท่านั้น ที่เป็นการผิดนักก็เรื่องนี้”
ในที่สุดท่านหญิงออนถูกตัดสินว่ามีความผิด เพราะเป็นเจ้าแต่ไม่รักษาเกียรติยศ มีผัวเป็นไพร่ ขายตัวเป็นทาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมีพระราชกระแสรับสั่งให้เอาตัวท่านหญิงมาจำไว้ในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงเห็นว่า
“หม่อมเจ้าออนมีทุกข์ร้อนสิ่งไรควรจะกราบทูลแก่เจ้านายผู้ใหญ่ผู้น้อยในราชตระกูล ให้ทราบความทุกข์ร้อนจึงจะสมควร หม่อมเจ้าออนมิได้ประพฤติตามบรรดาศักดิ์ บังอาจยอมเป็นเมียอ้ายแสงซึ่งเป็นไพร่ต่ำศักดิ์ แล้วไปขายตัวเป็นทาสผู้มีชื่อต่อๆกันมาจนถึงเถ้าแก่ปริกนี้ หม่อมเจ้าออนมีความผิด ให้ถอดหม่อมเจ้าออนจากยศบรรดาศักดิ์หม่อมเจ้าแล้ว เอาตัวมาจำไว้ในพระบรมมหาราชวัง”
กรณีที่หม่อมเจ้าหญิงขายตัวเป็นทาสนี้ มิได้มีแต่หม่อมเจ้าหญิงออนรายเดียว ในเอกสารกระทรวงยุติธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏเรื่องราวอีกว่า หม่อมเจ้าแฝง ขายตัวเป็นทาสพระอภัยพลภักดิ์ จากนั้นก็หลบหนี พลตระเวนจับตัวกลับมาแล้วส่งไปศาลราชตระกูล ถูกจำตรวน ระหว่างนั้นหม่อมเจ้าแฝงคลอดบุตรที่เกิดกับนายจัน หม่อมเจ้าแฝงจึงทำเรื่องราวร้องทุกข์ทางไปรษณีย์
คดีนี้มีเรื่องราวว่า หม่อมเจ้าแฝง พระธิดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเริงคะนอง หรือพระองค์เจ้าป๊อก พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๓ กับเจ้าจอมมารดาเอม ได้สมัครนักใคร่กับไพร่ชื่อจัน ต่อมาก็ชะตาเดียวกับหม่อมเจ้าออน ได้ขายตัวเป็นทาสของพระยาอภัยพลภักดิ์ร่วมกับสามี แต่แล้วหม่อมเจ้าแฝงได้หนีไป แล้วถูกพลตระเวนจับจำตรวนส่งไปยังศาลราชตระกูล ระหว่างนั้นหม่อมเจ้าแฝงก็คลอดบุตรที่เกิดกับจันสามีไพร่ หม่อมเจ้าแฝงจึงส่งจดหมายร้องทุกข์ทางไปรษณีย์
เมื่อเรื่องถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า แฝงเป็นหม่อมเจ้า และได้รับการชุบเลี้ยงตามสมควร หากมีปัญหาใดก็ควรกราบทูลเจ้านายผู้ใหญ่ในราชตระกูลให้ทรงทราบ แต่การกระทำของแฝงไม่สมกับบรรดาศักดิ์ เพราะไปได้สามีต่ำศักดิ์ ขายตัวเป็นทาส ความผิดเหล่านี้จึงรับสั่งให้ถอดจากฐานันดรชั้นหม่อมเจ้าไปเป็นไพร่ แล้วให้จองจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนจัน ไพร่ผู้ริอ่านรักใคร่หม่อมเจ้าหญิง ให้เฆี่ยน ๓๐ ทีแล้วส่งให้มูลนายมารับตัวไป
นี่ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อซึ่งเกิดขึ้นจริง และได้รับการบันทึกไว้