xs
xsm
sm
md
lg

"นิด้าโพล" เผยผลสำรวจ ชี้ประชาชนค้านล้างหนี้ กยศ. แต่เห็นด้วยยกเลิกดอกฯ และเบี้ยปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “หนี้ กยศ. ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ หรือยกเลิกหนี้” พบ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการล้างหนี้ กยศ. แต่เห็นด้วยยกเลิกดอกฯ และเบี้ยปรับ

วันนี้ (2 ก.ย.) เพจ "NIDA Poll - นิด้าโพล" ออกมาเผยผลสำรวจในประเด็น “หนี้ กยศ. ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ หรือ ยกเลิกหนี้” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับหนี้ กยศ. ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ หรือยกเลิกหนี้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อมติของสภาผู้แทนราษฎร ในการยกเลิกเก็บดอกเบี้ยผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 55.18 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ. เป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะที่บางส่วนระบุว่าเป็นการช่วยลดภาระสำหรับผู้ที่ตกงานหรือว่างงาน รองลงมา ร้อยละ 18.22 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สามารถเข้าถึงการศึกษา และการกู้ยืมเงินจาก กยศ. ไม่ควรมีการเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 17.61 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ เป็นการทำให้เด็กรุ่นใหม่ขาดวินัยทางการเงิน ขาดความรับผิดชอบ และไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่ได้ชำระหนี้หมดแล้ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า การยกเลิกเก็บดอกเบี้ยอาจทำให้ กยศ.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และร้อยละ 8.99 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเป็นการเอาเปรียบผู้ที่จ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยครบแล้ว และผู้กู้ยืมเงินต้องมีความรับผิดชอบต่อหนี้ที่ตนเองก่อขึ้น

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อมติของสภาผู้แทนราษฎร ในการยกเลิกการคิดเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 42.76 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะเป็นการช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายให้ผู้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ. เป็นการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่กำลังว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย รองลงมา ร้อยละ 23.32 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะควรทำตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ทำให้ผู้กู้ยืมเงินขาดวินัยในการชำระหนี้ ร้อยละ 19.06 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่หมุนเงินไม่ทัน ขณะที่บางส่วนระบุว่า การคิดดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้เป็นการซ้ำเติมผู้กู้ที่มีรายได้น้อย ร้อยละ 14.48 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะผู้กู้ยืมเงินควรมีความรับผิดชอบ ควรปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาการกู้ยืมเงิน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่เป็นธรรมต่อผู้กู้ยืมเงินที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนด และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเรียกร้องให้ล้างหนี้ (ยกเลิกหนี้) ของผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 59.91 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนขาดความรับผิดชอบ อาจทำให้เกิดปัญหาและความวุ่นวาย เช่น ผู้กู้ยืมเงินที่ชำระหนี้ครบแล้วจะได้รับเงินคืนหรือไม่ รองลงมาร้อยละ 16.62 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เศรษฐกิจไม่ดีถึงไม่ยกเลิกหนี้ให้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้อยู่ดี ร้อยละ 14.48 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะในช่วงที่ผ่านมา กยศ.มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม การลดเบี้ยปรับ เป็นต้น ขณะที่บางส่วนระบุว่าผู้กู้ยืมเงินควรทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ร้อยละ 8.08 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นการช่วยเหลือด้านการศึกษา และเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่มีรายได้น้อย และร้อยละ 0.91 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับประโยชน์ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ต่อการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 84.53 ระบุว่า มีประโยชน์มาก รองลงมา ร้อยละ 13.72 ระบุว่าค่อนข้างมีประโยชน์ ร้อยละ 0.76 ระบุว่าไม่ค่อยมีประโยชน์ ร้อยละ 0.69 ระบุว่าไม่มีประโยชน์เลย และร้อยละ 0.30 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเกี่ยวข้องกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของประชาชน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 61.28 ระบุว่าไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ กยศ. รองลงมาร้อยละ 21.95 ระบุว่า มีลูก/หลานในการปกครอง ที่เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. ร้อยละ 9.83 ระบุว่า เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่ยังชำระคืนไม่หมด ร้อยละ 4.88 ระบุว่า เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่ชำระคืนหมดแล้ว ร้อยละ 1.75 ระบุว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่กำลังศึกษาอยู่ ร้อยละ 0.23 ระบุว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่อยู่ระหว่างการเจรจาแก้หนี้ และร้อยละ 0.08 ระบุว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องจาก กยศ.

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.61 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.29 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 17.99 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.54 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.57 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 13.26 มีอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.76 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.28 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.53 มีอายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.17 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.42 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.89 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.46 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.23 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 32.01 สถานภาพโสด ร้อยละ 64.94 สมรส ร้อยละ 2.90 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.15 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่าง ร้อยละ 25.76 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.62 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.54 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.36 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.57 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.15 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่าง ร้อยละ 10.52 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.77 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 18.83 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.49 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.18 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 21.19 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 5.79 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.23 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่าง ร้อยละ 23.55 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.35 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 28.51 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.91 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.42 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 5.33 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.93 ไม่ระบุรายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น