นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่ ... โดยมีสาระสำคัญให้ยกเว้นดอกเบี้ยกู้ยืมเหลือ 0% และไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย ว่า ในฐานะ รมว.คลัง คงไม่ขอแสดงความเห็น เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาไปแล้ว โดยกองทุน กยศ. จะต้องไปทำแผนบริหารเงินกองทุนในอนาคตตามร่างกฎหมายใหม่ ที่มีความแตกต่างในส่วนดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่จะหายไปทั้งหมด จากเดิมที่จะมีรายได้ส่วนนี้มาเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ปล่อยกู้ต่อไป
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมี/ไม่มีดอกเบี้ยการกู้ยืม หรือมี/ไม่มีเบี้ยปรับก็ตาม แต่วินัยทางการเงินยังคงเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะมีการร่างกฎหมายใหม่ แต่วินัยทางการเงินของลูกหนี้ กยศ.จะต้องเหมือนเดิม ต้องชำระคืนเงินต้นตามกำหนด ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดกฎหมาย ถ้ากองทุนฯ มีความต้องการใช้เงินมากขึ้น เงินชำระคืนต้องมากขึ้น แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระก็ไม่มีเงินกลับมา สภาพคล่องของกองทุนฯ จะไม่มี เพราะถ้ามีดอกเบี้ยก็จะมีความคล่องตัว
"คลังจะต้องมีการอุดหนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ กยศ. เพิ่มเติมหรือไม่หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้นั้นจะต้องประเมินสภาพคล่องในอนาคต และความต้องการใช้เงินก่อนว่ามีเงินชำระหนี้กลับมาเข้ามามากน้อยแค่ไหน" รมว.คลัง กล่าว
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า กยศ.เตรียมชี้แจงในชั้นคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา ถึงผลกระทบจากปรับเปลี่ยนรายละเอียดเบี้ยปรับและการคิดดอกเบี้ยกู้ยืม จากเดิมที่เคยเสนอให้ลดเพดานคิดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมไม่เกิน 2% และคิดเบี้ยปรับไม่เกิน 1% แต่ในชั้นพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านความเห็นชอบให้ลดเหลือ 0% โดยจะชี้แจงถึงบทบาทของ กยศ. ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งกองทุน 20 ปี ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุน 4 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันไม่ได้รับเงินงบประมาณ และเป็นกองทุนหมุนเวียนที่มีความยั่งยืน
ทั้งนี้ จากงบประมาณที่ได้รับสนับสนุน สามารถปล่อยกู้ให้ได้รับการศึกษากว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้จำนวน 6.2 ล้านราย โดยปิดบัญชีไปแล้ว 1.6 ล้านราย เสียชีวิต 6.7 หมื่นราย อยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ต้องชำระหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 9 หมื่นล้านบาท อยู่ในชั้นการฟ้องร้องหลายแสนราย ขณะเดียวกัน กองทุนสามารถปล่อยกู้รายใหม่ได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท และรับชำระคืนปีละ 3 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดปี 2565 มีการชำระคืนแล้ว 2.7 หมื่นล้านบาท ไม่ได้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา
"กยศ. จะเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดไปชี้แจงคณะกรรมธิการวุฒิสภาอีกครั้ง และหากมีความเห็นไม่ตรงกับสภาผู้แทนราษฎร ตามกระบวนการจะตีกลับกฎหมายไปที่ชั้นสมาชิกสภาผู้แทน และต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมอีกครั้ง ซึ่งประเด็นการยกเว้นดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ขณะนี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก และมีความเห็นหลายฝ่ายที่ต้องมาพิจารณาให้รอบคอบ" ผู้จัดการ กยศ.กล่าว
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า กรณีที่จะต้องมีการคืนดอกเบี้ย และเบี้ยปรับให้ผู้ที่ชำระไปก่อนหน้านี้นั้น จะต้องพิจารณารายละเอียดตามกฎหมาย ซึ่งยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะมีการปล่อยกู้มานาน หากต้องจ่ายดอกเบี้ยคืนจริง จะต้องกู้มาใช้คืน โดยปัจจุบัน กองทุนฯ มีรายได้จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเฉลี่ยปีละ 6 พันล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการกองทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ประมาณปีละ 2 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้กองทุน กยศ.อยู่ได้ด้วยเงินทุนหมุนเวียน รุ่นพี่ชำระหนี้คืนตรงเวลา เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้โอกาสกับรุ่นน้อง ซึ่งขณะนี้ยังมีเงินกองทุนอยู่หลายหมื่นล้านบาท ยังเพียงพอเป็นหลักประกันทางการศึกษาให้ทุกครอบครัว
"คิดในแง่ดี กฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ไม่มีดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ อาจจะกระตุ้นให้ลูกหนี้รีบคืนเงินต้น ซึ่งเงินกองทุนจะเพียงพอหรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่รุ่นพี่ จะให้โอกาสรุ่นน้องหรือเปล่า" นายชัยณรงค์ กล่าว