xs
xsm
sm
md
lg

"หมอเฉลิมชัย" เผย 5 หลักฐาน ชี้ชัดสัตวแพทย์ติดเชื้อโควิดจากแมว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ออกมาให้ความรู้ถึงสาเหตุที่สัตวแพทย์ติดเชื้อโควิดจากแมว โดยได้เปิดหลักฐาน 5 ข้อ ยันแพร่ได้ แต่มีโอกาสน้อยมาก

จากกรณีสื่อต่างประเทศรายงานผลการศึกษาในประเทศไทย พบว่าคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จาก "แมว" เมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นเคสแรกที่พบการติดเชื้อจาก 'แมวสู่คน' แห่งแรกของโลก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากแมวในภาพรวมถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" เปิดหลักฐานยืนยันสัตวแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 จากแมว โดยได้ระบุข้อความว่า

"รายงานเคสแรกของโลก สัตวแพทย์ไทยติดโควิดจากแมว ในช่วงที่โควิดระบาดทั่วโลกกว่าสองปีที่ผ่านมา มีข่าวและข้อมูลเรื่องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมติดโควิด เช่น แมว สุนัข เสือ สิงโต หรือตัวมิงค์ ในยุโรปเคยมีข่าวใหญ่ของมิงค์ที่ติดโควิด แล้วต้องฆ่านับล้านตัวมาแล้ว

แต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการอย่างชัดเจนว่าคนสามารถติดโควิดจากสัตว์เลี้ยงได้ จนกระทั่งในเดือนนี้ วารสารวิชาการของ CDC (Emerging Infectious Disease) ได้รายงานเคสแรกที่คนติดโควิดจากแมว ซึ่งเป็นกรณีในประเทศไทย ดังข้อมูลรายละเอียดคือ

4 สิงหาคม 2564 คุณพ่อวัย 64 และลูกวัย 32 ติดโควิดที่กรุงเทพฯ
8 สิงหาคม 2564 เดินทางโดยรถพยาบาลไปรักษาตัวที่สงขลา พร้อมกับแมวที่เลี้ยงไว้ (เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน)
10 สิงหาคม 2564 แมวเริ่มมีอาการ ได้ตรวจกับสัตวแพทย์หญิงวัย 32 ปี ซึ่งใส่หน้ากากเอ็น 95 ใส่ถุงมือ แต่ไม่ได้ใส่เฟซชิลด์ และไม่ได้ใส่แว่นตา ในระหว่างที่ตรวจแยงจมูกแมว ซึ่งให้ยานอนหลับ แมวก็ได้จามใส่หน้าสัตวแพทย์และผู้ช่วยอีกสองคน
13 สิงหาคม 2564 สัตวแพทย์หญิงเริ่มมีอาการน้ำมูกและไอแบบมีเสมหะ
15 สิงหาคม 2564 ผลการตรวจพีซีอาร์ของแมวออกมาเป็นบวก จึงได้ตรวจพีซีอาร์ของสัตวแพทย์และผู้ช่วยด้วย พบว่าสัตวแพทย์เป็นบวกเช่นกัน แต่ผู้ช่วยเป็นลบ

ในกรณีที่จะสรุปว่าสัตวแพทย์หญิงติดโควิดจากแมว จำเป็นจะต้องมีหลักฐานยืนยันที่มากพอ เพราะอาจจะเกิดจากติดโควิดจากกรณีอื่นๆ ได้ แต่ในเคสนี้ มีหลักฐานยืนยันเชื่อได้ว่าติดจากแมว คือ

1. การตรวจรหัสพันธุกรรมหรือจีโนม (Genome) ของเชื้อในแมวและสัตวแพทย์ พบเป็นตัวเดียวกันคือเป็นไวรัสเดลตา (B.1.167.2) 

2. การตรวจสารพันธุกรรมระหว่างแมวกับเจ้าของ พบว่าเป็นไวรัสเดียวกัน 

3. สัตวแพทย์ท่านดังกล่าวไม่ได้พบใกล้ชิดกับเจ้าของแมวแต่อย่างใด 

4. สัตวแพทย์ไม่ได้ใกล้ชิดสัมผัสกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ 

5. ผู้ที่ติดโควิดในช่วงเวลาเดียวกันที่สงขลา เป็นรหัสพันธุกรรมที่แตกต่างกับสัตวแพทย์หญิงและแมว

จึงสามารถสรุปได้ว่า ในกรณีนี้สัตวแพทย์หญิงติดโควิดจากแมวที่ตนเองตรวจ และนับเป็นเคสแรกของโลก ที่มีการสรุปจากข้อมูลทางวิชาการและผลทางห้องปฏิบัติการที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงที่ติดโควิดมักจะมีอาการน้อยและมีระยะฟักตัว หรือการแพร่เชื้อสั้น โอกาสที่จะแพร่เชื้อเข้าสู่เจ้าของหรือมนุษย์ จึงมีค่อนข้างน้อย และได้มีคำแนะนำว่า สัตวแพทย์ที่จะตรวจสัตว์ที่เสี่ยงต่อโควิด นอกจากจะใส่หน้ากากพร้อมเฟซชิลด์แล้ว ควรจะใส่แว่นตาป้องกันด้วย ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแมวและสุนัข ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากจำเป็นจะต้องดูแลสัตว์เลี้ยงให้ดี และหมั่นสังเกตอาการ ถ้าพบอาการน่าสงสัย ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาโควิด และควรระมัดระวัง ไม่สัมผัสสิ่งคัดหลั่งของสัตว์เลี้ยงโดยตรง"
กำลังโหลดความคิดเห็น