นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวออนไลน์ถึงผลการศึกษาในประเทศไทย พบคนติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากแมว (COVID-19) เมื่อปีที่แล้ว โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ซึ่งระบุว่า มีพ่อลูกคู่หนึ่งวัย 64 และ 32 ปี มีอาการป่วยและตรวจพบเชื้อ COVID-19 ส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ทั้งสองคนได้พาแมวที่เลี้ยงมาด้วย เมื่อมาถึงแมวถูกส่งไปยังโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อทำการตรวจ โดยสัตวแพทย์หญิงวัย 32 ปี ตรวจหาเชื้อด้วยการแยงจมูกและทวารหนัก ซึ่งพบผลเป็นบวกต่อเชื้อ COVID-19 ในขณะที่กำลังตรวจนั้น แมวได้จามใส่สัตวแพทย์ที่มีการป้องกันโดยสวมถุงมือและหน้ากากอนามัย แต่ไม่ได้ใส่เฟซชีลด์
ต่อมาในวันที่ 13 สิงหาคม 2565 หรือห้าวันหลังจากนั้น สัตวแพทย์หญิงเริ่มมีอาการของการติดเชื้อ COVID-19 เช่น ไอและเป็นไข้ แต่ยังไม่ได้ไปพบแพทย์ จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ได้ตรวจพบผลเชื้อไวรัสเป็นบวก เมื่อวิเคราะห์การศึกษาลำดับจีโนม ประกอบกับระยะเวลาการติดเชื้อที่ใกล้เคียงกัน พบว่าการติดเชื้อของทั้งสัตวแพทย์หญิง แมว และเจ้าของอีก 2 คน มีความเกี่ยวข้องกันในทางระบาดวิทยา อีกทั้งเชื้อที่พบนั้นยังไม่มีการระบาดในพื้นที่ของสงขลา ประกอบกับสัตวแพทย์หญิงไม่เคยพบกับเจ้าของแมวมาก่อน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า สัตวแพทย์น่าจะติดเชื้อ COVID-19 มาจากการที่แมวจามใส่หน้า การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นรายงานชี้มีการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนได้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า อัตราการเกิดของการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนเป็นความเสี่ยงที่พบได้น้อยมาก เชื้อไวรัสโคโรนามีหลายชนิด บางชนิดสามารถทำให้เกิดโรคคล้ายหวัดในคน และบางชนิดทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ในสัตว์ เช่น วัว ควาย อูฐ และค้างคาว เชื้อไวรัสโคโรนาในสุนัขและแมวสามารถแพร่ระบาดในสัตว์เท่านั้น และไม่แพร่ระบาดในคน สัตว์ในสวนสัตว์หรือเขตรักษาพันธุ์ เช่น กอริลล่า มิงค์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ สามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อหลังจากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ COVID-19
นอกจากนี้ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ได้มีการรายงานว่าสัตว์ป่า เช่น กวางหางขาว มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสโคโรนา จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมและประเมินถึงผลกระทบอื่นที่อาจตามมาได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแสดงถึงการแพร่กระจายที่แน่ชัด แต่การแพร่กระจายเชื้อจากมนุษย์เข้าไปสู่ประชากรกวางหางขาวนั้นเกิดขึ้นหลายครั้ง ดังนั้นจึงควรมีการสร้างความตระหนักให้กับนักล่าและผู้ที่อาศัยหรือทำงานกับสัตว์ป่า เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นกับสัตว์ป่า และหลีกเลี่ยงการทิ้งขยะหรือวัตถุของมนุษย์ไว้ในพื้นที่ป่าที่สัตว์ป่าสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมมือกับ WOAH ในการรายงานเหตุการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศ โดยประเทศไทยได้ทำการรายงานการติดเชื้อว่ามีการติดเชื้อในสุนัขและแมว โดยจากการสอบสวนสาเหตุพบว่า ทุกเคสที่รายงานนั้นสัตว์เลี้ยงติดเชื้อจากการที่เจ้าของติดเชื้อ COVID-19 ทั้งสิ้น
สำหรับในประเทศไทย กรมปศุสัตว์มีโครงการการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสัตว์เลี้ยงที่มีอาการเสี่ยง เช่น มีการแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น หรือสัตว์เลี้ยงที่มาจากต่างประเทศพร้อมกับเจ้าของ โดยผลจากการตรวจเฝ้าระวังดังกล่าว ทำการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ในขณะนี้ทุกตัวอย่างให้ผลเป็นลบ ถึงแม้จะมีงานวิจัยรายงานว่าคนสามารถติดเชื้อจากแมวดังกล่าวได้นั้น แต่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อได้ให้ข้อมูลว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนนั้นยังอยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้น จึงขอให้ทุกท่านอย่าตระหนก หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยความใกล้ชิด อย่าปล่อยหรือทิ้งสัตว์เลี้ยงของท่านเพราะความกลัวจากสถานการณ์หรือข่าวดังกล่าว และหากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยของ COVID-19 ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และเจ้าของสัตว์เลี้ยง ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำเชื้อโรคเข้าสถานที่เลี้ยงสัตว์ พร้อมกับหมั่นสังเกตอาการของสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการน่าสงสัยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-225-6888 หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 "แจ้งการเกิดโรคระบาด" เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที