xs
xsm
sm
md
lg

อัยการชี้ช่องโหว่ “ปลดล็อกกัญชา” ไร้การควบคุมนำสังคมเสี่ยง แนะรัฐออกกฎหมายเร่งด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อัยการผู้เชี่ยวชาญคดียาเสพติด เผยหลังปลดล็อกกัญชา ทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม ทำให้เกิดปัญหาใช้กัญชาไม่ถูกวิธี เกิดอันตรายต่อสุขภาพ พาสังคมอยู่ในความเสี่ยง แนะรัฐออกกฎหมายควบคุมเร่งด่วน เป็นพระราชกำหนดได้ก่อนเลย


รายงานพิเศษ

“เราเห็นในข่าวมากมาย ใบกัญชาถูกนำไปใช้ผสมในอาหารต่างๆเพื่อเอามาขาย นำไปผสมในเครื่องดื่ม คนไปซื้อบริโภคก็ไม่รู้ว่ามีอันตราย เพราะได้รับข้อมูลมาว่ารัฐบาลปลดล็อกแล้ว จึงเชื่อว่าไม่มีอันตราย ทั้งที่จริงๆแล้ว ใบกัญชา มีอันตรายมาก จริงๆแล้วถ้าจะเอามาสกัดหาสาร THC จริงๆ ใบกัญชามีค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแน่นอน”

นั่นเป็นข้อกังวลจาก “อัยการ ผู้เชี่ยวชาญคดียาเสพติด” ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการ “ปลดล็อกพืชกัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งที่ยัง ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ควบคุมการใช้ ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ตั้งแต่กัญชาถูกปลดล็อก ก็เกิดปรากฏการณ์การใช้อย่างเสรีเกินกว่าเจตนารมณ์ดั้งเดิมไปมาก ทำให้ประชาชนที่ไม่มีความรู้ใช้กัญชาอย่างไม่ถูกวิธีเกิดอันตรายต่อสุขภาพ สังคมอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายใดๆมาใช้ควบคุมความเสี่ยงเหล่านี้ได้เลย

“ตามแผนเดิมที่คุยกันไว้ กระทรวงสาธารณสุขและพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายนี้ รับปากว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะมีผลบังคับใช้ไปพร้อมๆ กับช่วงที่ปลดล็อก แต่ในเมื่อกฎหมายควบคุมการใช้ยังไม่ประกาศออกมา จึงทำให้เกิดปัญหา เพราะอยู่ๆ ก็ปลูกได้โดยเสรี ใช้ได้โดยเสรี ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ดั้งเดิมที่ตกลงกันไว้เลย”

อัยการผู้เชี่ยวชาญคดียาเสพติด ยังยกประเด็นสำคัญที่มีปัญหาจากการตีความคำว่า “สารสกัด” เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในสัดส่วนที่น้อยกว่าร้อยละ 0.2 จากกัญชา ซึ่งเมื่อไม่มีกฎหมายมาควบคุม ก็ทำให้เกิดรูปแบบการใช้ที่ไม่ถูกต้องและไม่สามารถตรวจสอบได้ตามมา

“พอใช้คำว่า ใช้กัญชาที่มีสารสกัด THC ไม่เกิน 0.2% ก็กลายเป็นว่า ไปดูกันแต่ที่มีลักษณะเป็นน้ำ เพราะตีความมาจากคำว่าสารสกัด แต่ร้านอาหาร เครื่องดื่มต่างๆที่ใช่ส่วนอื่นๆของกัญชา โดยเฉพาะใบกัญชาใส่ลงไปในอาหารเลย กลับทำกันได้โดยเสรี ทั้งที่ถ้าไปหา THC จากใบกัญชาจริงๆ น่าจะมีค่าเกินกว่า 0.2% อยู่แล้ว”

ตัวอย่างการใช้กัญชาอย่างเสรีหลังปลดล็อกหลายรูปแบบที่จริงๆแล้วจะทำไม่ได้หากมี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ประกาศใช้ควบคู่กันไปด้วย เช่น ประเด็นการปลูกในควรเรือน ใน “มาตรา 3 ระบุว่า การใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในครัวเรือน หมายความว่า การเพาะ ปลูก เพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่เกินปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งหากไปดูการปลูกกัญชาที่เกิดขึ้นหลังปลดล็อก จะเห็นว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายร่างไว้เพื่อใช้ควบคุมเลย

“ถ้าดูมาตรา 3 เรื่องการปลูกกัญชาในครัวเรือน เราจะเห็นว่า หากกฎหมายนี้ออกมาพร้อมกับการปลดล็อก การปลูกกัญชาในครัวเรือนจะนำมาใช้ได้เฉพาะในครัวเรือนเท่านั้น จึงชัดเจนว่า กฎหมายให้ปลูกเพื่อใช้เองในบ้านเท่านั้น จะนำมาขายต่อไม่ได้ นำมาใส่ในอาหารเพื่อจำหน่วยก็จึงทำไม่ได้ และร้านอาหารที่จะนำกัญชามาประกอบอาหารได้ ก็ต้องได้กัญชามาจากแหล่งที่จำหน่วยได้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น”

นี่เป็นแค่หนึ่งในหลายๆ ประเด็น ที่อัยการผู้เชี่ยวชาญคดียาเสพติด ชี้ให้เห็นถึง “ช่องโหว่ใหญ่” เมื่อปล่อยให้การปลดล็อกพืชกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม พร้อมตั้งข้อสังเกตควบคู่ไปด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เป็นร่างกฎหมายที่พร้อมอยู่นานแล้ว เหตุใด ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจึงไม่ผลักดันให้ผ่านเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ทันในช่วงปลดล็อก และยังตั้งข้อสังเกตอีกประเด็นว่า แม้กฎหมายฉบับนี้จะออกมาไม่ทัน แต่ในเมื่อเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลก็ยังมีเครื่องมืออื่นอีกที่จะทำให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ได้ก่อน

คณะรัฐมนตรี สามารถออกเป็นพระราชกำหนดเลยก็ได้ไม่ใช่หรือ ในเมื่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก็มีพร้อมอยู่แล้ว และเราต่างก็เห็นปัญหาจากการปล่อยให้กัญชาถูกใช้อย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุมเกิดขึ้นมากแล้ว มีอันตรายต่อประชาชน มีคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีคนเสียชีวิตแล้ว แต่ร้านอาหารยังเปิดขายอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมโดยไม่มีการตรวจสอบใดๆกันได้อย่างเสรี เรื่องนี้จึงน่าจะเป็นประเด็นเร่งด่วนพอให้คณะรัฐมนตรีออกเป็นพระราชกำหนดได้ก่อนเลย... ยิ่งรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ผลักดันเรื่องนี้ปล่อยให้ช้า .... ก็ยิ่งน่าสงสัยว่า มีเจตนาแอบแฝงอะไรอยู่ด้วยหรือเปล่า?” อัยการผู้เชี่ยวชาญคดียาเสพติด กล่าว


อัยการผู้เชี่ยวชาญคดียาเสพติด ยังอ้างอิงถึง อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 (1961 Single Convention on Narcotic Drugs) ของ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC โดย “พืชกัญชา” อยู่ในบัญชีแนบท้ายตารางที่ 1 ว่าเป็นยาเสพติดที่จะต้องถูกควบคุมให้ไม่ถูกกฎหมาย หมายความว่า จะปล่อยให้ใช้อย่างเสรีไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 73 ประเทศ ที่ลงนามรับรองในอนุสัญญาฉบับนี้ จึงเป็นประเทศที่มีข้อผูกมัดว่าต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา

“ประเทศไทย ถูกตั้งคำถามอย่างมากในที่ประชุมคณะกรรมการยาเสพติดโลกครั้งล่าสุด ซึ่งในครั้งนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย ก็ยืนยันกับที่ประชุมไปว่า ไทยจะไม่เปิดให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี จะต้องมีการควบคุมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น เราก็อยากเห็นว่าทางรัฐบาลจะทำตามที่ไปพูดไว้ในเวทีโลกด้วย ดังนั้นไทยจึงควรรีบทำให้กฎหมายควบคุมการใช้กัญชามีผลบังคับใช้โดยเร็ว หรือว่า การปล่อยให้ใช้ได้อย่างเสรี เพื่อให้เกิดกระแสความต้องการในตลาดมากขึ้น จะมีผลให้มีเอกชนมาขอใบอนุญาตมากขึ้นหรือไม่” อัยการ คดียาเสพติด กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น