xs
xsm
sm
md
lg

กห.แจง ทบ.จ้าง สวทช.ตรวจสอบ GT200 อัยการสูงสุดแนะเพราะเป็นสาระสำคัญของคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกกระทรวงกลาโหมแจง ส.ส.ก้าวไกลอภิปรายปมกองทัพบกจ้าง สวทช.ตรวจสอบเครื่อง GT200 กว่า 7.5 ล้าน และถูกนักวิทยาศาสตร์ออกมาโวย ระบุฟ้องผู้ขายชนะคดีแพ่งสั่งใช้หนี้ 683 ล้านมาแล้ว แต่ผู้ขายสู้กลับยื่นอุทธรณ์ อัยการสูงสุดจึงแนะให้หาหน่วยงานเชี่ยวชาญตรวจสอบเพราะเป็นสาระสำคัญของคดี

วันนี้ (4 มิ.ย.) จากกรณีที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ว่า เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมากองทัพบกทำสัญญาจ้างกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ตกเครื่องละ 10,000 บาท ทั้งที่คนทั้งโลกทราบว่าข้างในไม่มีอะไร อีกทั้งไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ เรียกร้องให้ รมว.กลาโหมชี้แจงเรื่องดังกล่าว

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant แสดงความแปลกใจที่ สวทช.ไปรับแกะเครื่องดังกล่าว ทั้งที่รู้ว่าทุกเครื่องเป็นกระป๋องพลาสติกเปล่าๆ แกะดู ข้างในก็ไม่มีอะไร จะไปเสียเวลาตรวจทีละเครื่องทำไม นอกเสียจากว่าจะรับเศษเงินไม่กี่ล้าน แลกกับชื่อเสียงขององค์กร และวงการวิทยาศาสตร์ พร้อมฝากผู้อำนวยการ สวทช.ตามดูเรื่องนี้ด้วย

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong เป็นภาพเครื่อง GT200 ที่ถูกแกะออกข้างในแล้ว พร้อมข้อความระบุว่า "ช่วยแกะให้ ย้ำ ฟรี"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" โพสต์ข้อความระบุว่า พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยกับทีมข่าวช่อง 3 ว่า ทราบเรื่องจากกองทัพบกที่ตั้งงบประมาณไว้ เนื่องจากเป็นไปตามคดีอาญา ที่กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย กับพวก รวม 5 คน ต่อศาล ฐานร่วมโกง และศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ขณะเดียวกัน คดีในทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย โดยศาลปกครองกลางได้สั่งให้ผู้ขายต้องชำระหนี้กับกองทัพบก เป็นเงินกว่า 683,000,000 บาท ต่อมาทางบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าการตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เป็นสาระสำคัญของคดี จึงมีความจำเป็นให้กองทัพบกตรวจสอบทุกเครื่องว่าใช้งานได้หรือไม่ โดยให้ตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ ทั้งการวัดวัตถุไฟฟ้าสถิต การแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง การวิเคราะห์ผลรวมถึงการผ่าพิสูจน์ตัวเครื่อง กองทัพบกจึงได้ดำเนินการจ้างไปที่ สวทช.ตามที่เสนอราคามา

ในปี 2564 ใช้งบประมาณประมาณ 3.2 ล้านบาท และในปี 2565 อีก 4.37 ล้านบาท เป็นการทยอยตรวจสอบ ยืนยันว่า ทั้งหมดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ ไม่ให้เสียหายในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ส่วนที่ฝ่ายการเมือง มองว่าไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเพราะไม่มีประโยชน์ พล.อ.คงชีพกล่าวว่า เรื่องนี้หากจะต้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นเช่นนี้ ก็ต้องดำเนินการเพราะสาระสำคัญของคดีคือต้องตรวจเครื่องว่าไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ดังนั้นการที่เราจะได้เงินค่าเสียหาย เราจึงต้องทำตามขั้นตอนตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

อ่านโพสต์ต้นฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น