ขุนทอง ลอเสรีวานิช สัมภาษณ์
อาจารย์เขียนแต่เรื่องการพัฒนา การศึกษา ปรัชญา ปัญหาสังคม ตอนนี้เห็นว่าเขียนนวนิยายเรื่อง “ดอกไม้บานที่อิตาลี” คนทั่วไปคงแปลกใจ
ความจริงก็ไม่น่าแปลกใจนะ นักปรัชญาอย่างซาร์ตร์ คามูส์ ก็เขียนนวนิยายดีๆ ควบคู่ไปกับงานทางปรัชญา คงเห็นว่าการสื่อสารแนวคิดทางปรัชญาผ่านนวนิยายจะเข้าถึงคนในวงกว้างมากกว่า หรือนักเขียนอย่างเกอเต้ ดอสโตเยพสกี เฮสเส งานแปลมากมายที่คนไทยเราคุ้นเคย ก็มีงานเขียนเชิงปรัชญา ผมก็อยากลองดูบ้าง เท่านั้นเองครับ แต่ก็ไม่ได้ต้องการไปเทียบอะไรกับนักปรัชญา นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้น ที่ได้สร้างแรงบันดาลใจ
ความจริง หนังสือ “สอนลูกให้คิดเป็น” ก็แหวกออกจากไลน์งานเขียนทั่วไปของอาจารย์นะครับ
ใช่ เล่มนั้น สำนักพิมพ์ปฏิเสธ บอกว่า คนในวงการพ่อแม่ครอบครัวไม่รู้จักผม คงขายไม่ออก ผมเลยเอามาพิมพ์เอง ให้ศูนย์หนังสือจุฬาจำหน่าย พิมพ์ 8 ครั้งๆ ละ 3,000 เล่ม
จำได้ว่า หนังสือสอนลูกให้คิดเป็น เป็นที่มาของคอลัมน์ที่อาจารย์เขียนเรื่องหนังให้ผู้จัดการออนไลน์อยู่เป็นปี คนติดตามกันมาก แล้วสำนักพิมพ์พระอาทิตย์รวมเล่มชื่อ “อ่านชีวิตบนแผ่นฟิล์ม” ไพรัชนิยายของอาจารย์จะได้พิมพ์กี่ครั้ง
ไม่ทราบ (หัวเราะ) อย่างน้อยก็หาสำนักพิมพ์ได้ (ยิ้มกว้าง) ไม่เหมือนหนังสือหลายเล่ม อย่าง โจนาธาน ลิวิ่งสตัน นางนวล หรือแฮรี พิตเตอร์ ที่ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์หลายแห่ง แต่กลายเป็นสุดยอดเบสท์เซเลอร์ระดับโลกไป ของผมถ้าได้พิมพ์สักสองครั้งก็พอใจแล้ว
ทำไมชื่อว่า ดอกไม้บานที่อิตาลี
ไพรัชนิยาย เป็นนิยายที่เขียนโดยมีฉากหลังที่ต่างประเทศ เรื่องนี้เกิดที่อิตาลี มีที่เมืองไทยเล็กน้อยตอนก่อนจบเท่านั้น เป็นเรื่องราวคนไทยที่ไปเรียนไปทำงานที่อิตาลีเมื่อประมาณ 50 กว่าปีก่อน พอดีมีแนวคิดปรัชญาผสมผสานด้วยเลยปรับชื่อเป็น “ไพรัชปรัชญานิยาย”
อาจารย์เคยเรียนที่อิตาลีใช่ไหม
ใช่ เรียนปรัชญาและเทวศาสตร์ที่โรม ก็ประมาณช่วงเดียวกันนั่นแหละ ผมไปเรียนอยู่ 7 ปี ระหว่างปี 2508-2515 ฉากหลัง เรื่องราวและบุคคลก็มาจากช่วงนั้น ผู้อ่านบางท่านที่เคยอยู่อิตาลียุคนั้นอาจจะเห็นตัวเองในนั้นก็เป็นได้ แต่ก็ขอย้ำว่าเป็นนิยายนะครับ ที่โรแมนติก เพื่อให้กลืนลง ย่อยได้ มีฉากหลังทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของอารยธรรมตะวันตก ที่โรม ฟลอเรนซ์ โบโลญา ซาร์ดีเนีย ติโรลใต้ ที่เกิดเหตุ บวกแนวคิดทางปรัชญาและวิถีชีวิตอิตาเลียนที่มาพร้อมกับเรื่องราวต่างๆ
ทำไมจัดงานเปิดตัวหนังสือนี้วันที่ 3 มิถุนานี้ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ คงอยากเผยแพร่ข่าวเรื่องนี้ในวงกว้างทางสื่อต่างๆ ด้วยใช่ไหมครับ
ใช่ครับ และได้เชิญแขกผู้ใหญ่ชาวอิตาเลียนในบ้านเรา และผู้ใหญ่คนไทยบางท่านที่เคยเป็นนักเรียนเก่าอิตาลี เพราะนวนิยายนี้ต้องการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับอิตาลี ที่นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนา แก้ปัญหาสังคม สร้างสันติภาพและความก้าวหน้าของมนุษยชาติร่วมกัน
แต่คงมีวัตถุประสงค์อื่นด้วยใช่ไหม
ใช่ อยากสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิชาการที่ร่ำรวยด้วยคอนเท้นท์ เนื้อหาสาระ ให้ลองใช้นวนิยายเป็นอีกเวทีหนึ่งช่องทางหนึ่งเพื่อนำเสนอแนวคิดที่มีคุณค่าต่อสังคม ให้คนทั่วไปได้เข้าถึงอุดมคติ สภาพปัญหา คุณค่าดีงาม ด้วยภาษาและตรรกะที่ไม่ต้องปีนกระไดอ่าน ในภาษาวิชาการ
นวนิยายนี้ถ่ายทอดวิถีชีวิต ภูมิปัญญา อารยธรรมยุโรปมากไหมครับ
ผมอยากเสนอฉากหลังที่ไม่เป็นเพียง “ฉากตาย” แต่ “ฉากเป็น” ที่มีชีวิต มีจิตวิญญาณ ที่สะท้อนออกมาทางศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี วิถีชีวิต ระบบคุณค่า ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของมนุษชาติ อยากให้คนสนใจประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดสืบทอดกันมาหลายพันปี ที่กลมกลืนในเรื่องราวของนวนิยาย
ขออนุญาตนำส่วนหนึ่งของคำนำของ ดอกไม้บานที่อิตาลี มาลงที่นี่ได้ไหมครับ
ได้เลยครับ
นวนิยายนี้ “อยากนำท่านไปอิตาลี ที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอของสุนทรียะแห่งศิลปะ และวิถีที่สร้างรากฐานแห่งเรอเนสซองส์ของยุโรป บ้านเกิดของเลโอนาร์โด ดาวินชี, มิเกลันเจโล, มักเกียเวลลี, วิวัลดี ที่ได้มอบผลงานอมตะเป็นมรดกโลกมาถึงวันนี้
อยากนำไปสัมผัสกับความงามของดอกฟอร์ซีเธียที่บานสะพรั่งเหลืองอร่ามต้นฤดูใบไม้ผลิ กลิ่นหอมเย็นและเย้ายวนของดอกลาเวนเดอร์ในหน้าร้อนจากทุ่งทอสกานา ที่มีวิลล่าเก่าแก่แสนโรแมนติกผุดขึ้นบนเนินน้อยใหญ่ รายล้อมด้วยสนไซปรัส และไร่องุ่นรสดีที่นำมาทำไวน์รสนุ่มโด่งดังอย่างเกียนติ
ไปเรียนรู้คุณค่าแห่งผลงานอันยิ่งใหญ่ของศิลปินที่ฟลอเรนซ์ ไปสัมผัสจิตวิญญาณของมรดกภูมิปัญญาที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในโลกที่โบโลญา ลิ้มรสเจลาโต ไอศกรีมอิตาเลียนอันเลื่องลือ และพาสต้าโบโลเญเซ่ราดด้วยรากูที่แสนอร่อย
ทั้งหมดผ่านประสบการณ์หวานชื่นและขื่นขมของคนไทยที่อิตาลี ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาหลายพันปี ตั้งแต่จักรวรรดิโรมันอันเกรียงไกร เมื่อล่มสลายกลายเป็นแว่นแคว้นนครรัฐน้อยใหญ่ สลายรวมกันเป็นประเทศอิตาลีเมื่อ 161 ปีก่อน
กล้วยไม้ป่าจากเมืองไทยไปบานที่อิตาลี สวยงามไม่แพ้ฟอร์ซีเธีย หอมไม่แพ้ลาเวนเดอร์อย่างแน่นอน”
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox ชนนิยม เราทำหนังสือมีชีวิต m.me/ChonniyomFanpage
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
โทร. 086-378-2516