เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่อนหนังสือถึงสื่อมวลชน โต้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนในนิวซีแลนด์ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จ่อบรรลุเป้าประเทศไร้ควัน 2025 ก่อนกำหนด ชี้อดีตนายกฯ นิวซีแลนด์ชื่นชม ใช้ข้อมูลงานวิจัยกำหนดนโยบายสุขภาพอย่างเหมาะสม
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” โดยนายมาริษ กรัณยวัฒน์ และ เฟสบุ๊คเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คนทำหนังสือชี้แจงสื่อมวลชนกรณีการให้ข่าวของอาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ท่านหนึ่งยกกรณีศึกษาการปลดล๊อคบุหรี่ไฟฟ้าของนิวซีแลนด์ทำให้เยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นว่า
“การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น เนื่องจากเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดการสูบบุหรี่ หรือเป็นเพื่อทดแทนการสูบบุหรี่ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กอายุ 13-14 ปีของนิวซีแลนด์ลดลงเหลือ 1.3% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุด และยังพบว่าช่วยให้อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กนักเรียนจากทุกเชื้อชาติลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการสร้างประเทศไร้ควันของนิวซีแลนด์ที่ต้องการลดอัตราผู้สูบบุหรี่ให้เหลือน้อยกว่า 5% ในผลสำรวจยังระบุว่าแม้บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ได้ปลอดภัย 100% แต่ถ้าเทียบกับการสูบบุหรี่แล้ว ก็มีอันตรายน้อยกว่าแน่ๆ จึงใช้เป็นทางเลือกทดแทนการสูบบุหรี่ได้”
“เนื้อหาข่าวของนักวิชาการท่านนี้ไม่ได้พูดถึงผลสำรวจอย่างถูกต้องและเป็นกลาง แต่เลือกหยิบมาเฉพาะตัวเลขการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้สังคมเกิดความกังวล อยากให้ดูตัวอย่างจาก Action for Smokefree 2025 (ASH) ซึ่งก็เป็นเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ของนิวซีแลนด์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1983 และทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคมและผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้เกิดการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสม จนได้รับคำชื่นชมจากอดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และ รมว. สาธารณสุข นางเฮเลน คลาร์ก ซึ่งสนับสนุนการกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขที่อยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ เมื่อเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ก็เปิดโอกาสให้คนสูบบุหรี่ในประเทศมีสิทธิเข้าถึงได้”
นายมาริษ ยังกล่าวเสริมว่า “แม้ว่าตัวเลขการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อทดแทนการสูบบุหรี่มวนจะเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลนิวซีแลนด์ก็ไม่ได้แก้ไขกฎหมายกลับไปแบนบุหรี่ไฟฟ้าอีก แต่กลับมองหาวิธีอื่นเพื่อทางควบคุมหรือออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้เด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไม่หันมาสูบบุหรี่หรือใช้บุหรี่ไฟฟ้า เช่น การห้ามโฆษณาหรือสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า และห้ามการขายให้กับเยาวชน เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา และจีนที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ทั้งสองประเทศเลือกที่จะออกมาตรการควบคุมโดยให้อำนาจกับหน่วยงานเช่น อย. สหรัฐ อเมริกา และองค์การยาสูบจีน เพื่อหาแนวทางในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสมที่สามารถปกป้องเยาวชนและไม่ตัดสิทธิทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้สูบบุหรี่”
“เราเห็นปัญหาของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของไทยมาตลอด 8 ปี เช่นการปิดกั้นคนสูบบุหรี่จากทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า การเข้าถึงของเด็กผ่านการโฆษณาและการสั่งซื้อออนไลน์ การทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รีดไถผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่ สธ. และ NGO รณรงค์เลิกบุหรี่กลับพยายามให้ข้อมูลที่คาดเคลื่อนเพื่อสนับสนุนให้แบนต่อไปทั้งที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกกว่า 70 ประเทศ เลือกที่จะควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราจึงอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี รมว. สาธารณสุข รมว. คลัง รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รวมไปถึงกรมสรรพสามิตและคณะกรรมาธิการของสภาฯ ที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาและนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับรัฐบาลสำหรับหาแนวทางปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายภายใต้การควบคุมของรัฐ เช่นเดียวกับกัญชา กระท่อม แทนการแบนดังเช่นในปัจจุบัน”