หมอชี้บทเรียน "นิวซีแลนด์" ยกเลิกแบน "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำเยาวชนหันมาสูบมากขึ้น ความชุกต้องสูบทุกวันเพิ่มถึง 5 เท่า ทั้งที่มีมาตรการคุมบุหรี่ดีกว่าไทย วอนรัฐบาลศึกษารอบคอบ หวั่นเลิกแบนแล้วคุมไม่ได้
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า นิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในไทยมักยกมาอ้างกับรัฐบาล เพื่อให้ไทยยกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า โดยเมื่อปี 2018 นิวซีแลนด์ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแบบมีนิโคตินและสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยคนสูบบุหรี่ให้เลิกสูบ แต่ผลที่ตามมาคือ เยาวชนนิวซีแลนด์ติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจล่าสุด พบว่า 1 ใน 5 ของเด็กมัธยมของนิวซีแลนด์ติดบุหรี่ไฟฟ้า และความชุกของเยาวชนที่ต้องสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำทุกวันเพิ่มขึ้นจาก 1.8% เป็น 9.6% หรือกว่า 5 เท่า
“ที่สำคัญคือกว่า 80% ของเด็กมัธยมที่เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน สถานการณ์นี้เป็นสิ่งที่แพทย์ในนิวซีแลนด์เป็นห่วง เพราะประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอย แท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้าคือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ธุรกิจบุหรี่ต้องการให้มาแทนบุหรี่ธรรมดา และที่น่าห่วงที่สุดคือการเสพติดนิโคตินในกลุ่มเยาวชนที่สมองยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลเสียมากมายต่อสมองเยาวชน ทั้งการเรียน ความจำ และพบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นในเยาวชน ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวของบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ชัดเจน” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า นิวซีแลนด์ถูกยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการควบคุมยาสูบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง จากการประเมินขององค์การอนามัยโลกพบว่า นิวซีแลนด์ได้คะแนนเต็มทุกเรื่องทั้งการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การห้ามโฆษณายาสูบ บริการเลิกบุหรี่ และระบบภาษียาสูบ เมื่อเทียบกับไทยแล้วยังห่างไกลและไทยยังต้องพัฒนาประสิทธิภาพของการควบคุมยาสูบอีกมาก แม้นิวซีแลนด์มีมาตรการควบคุมยาสูบดีขนาดนี้ หลังจากยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ยังทำให้บุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในเยาวชนขนาดนี้ แล้วไทยที่การควบคุมยาสูบยังไม่ดีเท่าจะเป็นอย่างไร จึงอยากฝากถึงรัฐบาลว่า การพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ควรต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน พิจารณาบริบทของประเทศไทยเป็นสำคัญ