เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่28 เมษายน2565 องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเอฟดีเอ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน พิจารณาเห็นชอบกับมาตรการห้
ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายบุหรี่เมนทอล หลังจากยืดเยื้อเกือบ10 ปี เนื่องจากการขัดขวางของบริษัทบุหรี่ ซึ่งการห้ามครั้งนี้เอฟดีเอให้เหตุผลว่า“เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ลดความสูญเสียจากการป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ และลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ”
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า คำแถลงการณ์ของเอฟดีเอ ระบุว่า“เมนทอลเป็นสารปรุงแต่งรสที่มีรสมิ้นต์และกลิ่นหอมที่ช่วยลดการระคายเคืองและความกระด้างของการสูบบุหรี่ สิ่งนี้เพิ่มความน่าดึงดูดและทำให้บุหรี่เมนทอลสูบง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนและคนหนุ่มสาว เมนทอลยังทำปฏิกิริยากับนิโคตินในสมองเพื่อเพิ่มผลการเสพติดของนิโคติน การผสมผสานระหว่างรสชาติของเมนทอล ผลกระทบทางประสาทสัมผัส และปฏิสัมพันธ์กับนิโคตินในสมอง ช่วยเพิ่มโอกาสที่เยาวชนที่เริ่มใช้บุหรี่เมนทอลจะเข้าสู่การใช้เป็นประจำ และเมนทอลยังทำให้คนเลิกบุหรี่ยากขึ้น”
“การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เอฟดีเอออกนโยบายแบนบุหรี่เมนทอล เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี2556 โดยมี19 องค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพทั่วสหรัฐฯ แต่ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งปี2563 สภาผู้นำการควบคุมยาสูบแอฟริกันอเมริกัน (AATCLC) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ประเทศสหรัฐอเมริกา(ASH) และสมาคมแพทย์สหรัฐอเมริกา (AMA) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอฟดีเอ ให้เร่งดำเนินมาตรการแบนบุหรี่เมนทอล ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเคยประกาศจุดยืนชัดเจนว่า“สุขภาพของประชาชนต้องมาก่อนผลประโยชน์ทางธุรกิจ” ได้ดำเนินการอย่างจริงจังจนมีประกาศครั้งนี้ออกมา” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีมากกว่า40 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายแบนบุหรี่เมนทอล และมีงานวิจัยยืนยันแล้วว่า มาตรการแบนบุหรี่เมนทอลจะทำให้คนเลิกสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น เช่นล่าสุด งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารTobacco Control เมื่อวันที่14 เมษายน 2565 ศึกษาประสิทธิผลของการแบนบุหรี่รสเมนทอลในประเทศแคนาดาพบว่า การแบนบุหรี่เมนทอลทำให้คนแคนาดาที่นิยมสูบบุหรี่เมนทอลเลิกสูบบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น7.3% จากตัวเลขนี้หากประเทศไทยมีกฎหมายห้ามบุหรี่เมนทอลคาดว่าจะเพิ่มจำนวนคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ประมาณกว่า2 แสนคน
ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ และอดีตคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา กล่าวว่า การห้ามบุหรี่เมนทอลเป็นมาตรการที่กำหนดไว้ในมาตรา9 ของกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และมาตรการนี้พิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่าได้ผล โดยเฉพาะการลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ไม่ให้เริ่มต้นการสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงทำให้บริษัทบุหรี่พยายามทำทุกวิธีเพื่อขัดขวางนโยบายนี้ จากเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ก็ระบุอย่างชัดเจนว่า นโยบายควบคุมยาสูบของไทยสองประการที่ถือว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดของบริษัทบุหรี่คือ การขึ้นภาษียาสูบและการออกกฎหมายควบคุมและเปิดเผยส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ
“บริษัทบุหรี่รู้ว่าบุหรี่เมนทอลเป็นผลิตภัณฑ์เริ่มต้นสำหรับนักสูบหน้าใหม่ จึงไม่แปลกใจหากการออกกฎหมายห้ามบุหรี่เมนทอลในประเทศไทยจะถูกแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการวิ่งเต้นฝ่ายการเมือง การให้องค์กรบังหน้าออกมาคัดค้าน และบิดเบือนข้อมูลเพื่อล้มล้างกฎหมายนี้ จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลให้เห็นความสำคัญของสุขภาพประชาชนมาก่อนผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น รัฐบาลสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศได้ออกนโยบายนี้แล้ว” ศ.ดร.นันทวรรณกล่าว