xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเปิดโครงการ Let’s Do Rian สร้างอาชีพเถ้าแก่ทุเรียน เปิดร้านขาย 500 จุดทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซีพีร่วมสร้างการเติบโตของเกษตรกร และด้วยโครงการ Let’s Do Rian ย้ำ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” มุ่งสนับสนุนขยายตลาดให้เกษตรกรไทย พร้อมสร้างอาชีพเถ้าแก่ผลไม้ ชวนคนไทยร่วมอุดหนุน การันตีคุณภาพทุกลูก

นางสาวณัชชาชนก ณ ตะกั่วทุ่ง สปอนเซอร์โครงการผักผลไม้ ภายใต้โครงการพัฒนาพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า กรณีปัญหาการส่งออกทุเรียนไทยไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น ทีมผู้นำรุ่นใหม่หรือเถ้าแก่ทีมผักผลไม้ จากสถาบันผู้นำเครือซีพี ได้ระดมความคิดวางเป้าหมายช่วยกระจายผลผลิตทุเรียนเพื่อการบริโภคภายในประเทศผ่านช่องทางค้าปลีกของเครือซีพี และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” จึงเปิดโครงการ “Let’s DO RIAN” โดยการจัดทำร้านขายทุเรียนกว่า 500 จุด ตั้งอยู่บริเวณหน้าร้านค้าปลีกค้าส่งในเครือซีพีทั่วประเทศ ได้แก่ ห้างโลตัสส์, โลตัสส์ โก เฟรช, ซีพี เฟรช และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น พร้อมกับประกาศรับสมัครพ่อค้าแม่ค้าประจำทุกจุดขาย เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพในช่วงฤดูกาลทุเรียนที่มีระยะเวลาประมาณ 100 วัน ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 20,000 บาท และคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ตั้งแต่เดือนแรกของการขาย

“ทีมผู้นำรุ่นใหม่หรือเถ้าแก่ทีมผักผลไม้ จากสถาบันผู้นำเครือซีพี ซึ่งเป็นสถาบันที่สร้างและพัฒนาผู้นำทุกระดับในเครือ ด้วยความเชื่อมั่นถึงพลังคนรุ่นใหม่ พลังแห่งอนาคตที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างยั่งยืน ตั้งใจที่จะทำโครงการ “Let’s DO RIAN” ขึ้นมา โดยโครงการนี้ไม่ได้ทำเพื่อหวังกำไร แต่ทำเพื่อเปิดโอกาสให้ Supply Chain ได้เติบโตไปด้วยกัน ทั้งเกษตรกรสวนทุเรียน ผู้ประกอบการและแรงงานคัดทุเรียน คนขับรถขนส่ง รวมถึงคนที่อยากสร้างงานสร้างอาชีพด้วยการขายทุเรียน และสุดท้ายคือได้ส่งมอบทุเรียนคุณภาพดีที่คัดมาแล้วแบบไม่ต้องลุ้นให้กับผู้บริโภค เพราะโครงการผักผลไม้นี้เกิดขึ้นตามนโยบายของประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งพูดเสมอว่า การที่พวกเราเด็กรุ่นใหม่ได้มาทำโครงการผักผลไม้ เราต้องคิดเรื่องของกำไรให้บริษัททีหลัง ต้องสร้างประโยชน์ให้ประเทศและสังคมก่อน จึงต้องทำครบทุกห่วงโซ่ ถึงจะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนจริงๆ

โดยสอดคล้องกับนโยบาย “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่เครือซีพีมุ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนส่งเสริมให้ SME และผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ ได้พัฒนาศักยภาพ เปิดประตูไปให้ทุกคนได้ก้าวสู่โอกาสใหม่ๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ และนำไปสู่การปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจใหม่อย่างมหาศาล ตามหลักการ ‘3 ประโยชน์’ ของเครือซีพี คือ ประโยชน์ต่อประเทศเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม และองค์กรเป็นท้ายที่สุด ซึ่งหลัก 3 ประโยชน์นี้เป็นแนวคิดที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ยึดถือมาอย่างยาวนาน เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนและผลักดันให้เครือซีพีเติบโตอย่างมั่นคงทั้งบนเวทีไทยและเวทีโลก

ต้องขอขอบคุณทางรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายในอย่างยิ่ง ที่ช่วยสนับสนุนโครงการ ช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างเต็มกำลังในการช่วยกระจายผลผลิตทุเรียนเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ในสถานการณ์ที่การส่งออกทุเรียนไทยไปยังตลาดต่างประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่ะ”

ทั้งนี้ เครือซีพีจะรับซื้อทุเรียนคุณภาพโดยตรงจากกลุ่มเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น กลุ่มเกษตรกรสมาชิกการเกษตรเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ทุเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ และทุเรียนภาคอีสาน ทุเรียนภูเขาไฟ จากกลุ่มเกษตรกรคุณภาพที่มีเครื่องหมาย GI เป็นต้น ส่งต่อไปยังร้านค้า Let’s DO RIAN เพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ

“ในช่วงที่ผ่านมา โครงการ “Let’s DO RIAN” ได้ทดสอบตลาด 5 จุด บริเวณหน้าสาขาห้างค้าปลีกของซีพี ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยทุเรียนทุกลูกที่นำมาจำหน่ายการันตีว่าเป็นทุเรียนคุณภาพดี อร่อย หวานมัน ไม่ต้องลุ้น เพราะตัดทุเรียนแก่มากกว่า 80% เพื่อความสุข 100% ของลูกค้า” นางสาวณัชชาชนกกล่าว

โครงการ Let’s DO RIAN จะฝึกอบรมความรู้ให้ความรู้เกี่ยวกับทุเรียนแก่พ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการในทุกด้าน โดยมีทีม Mr./Ms. Durian เข้ามาให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิด และปรับปรุงกลยุทธ์ในการทำตลาดอยู่เสมอ

“เครือซีพีจะใช้แพลตฟอร์มแห่งโอกาส เป็นสะพานเชื่อมเส้นทางทุเรียนคัดคุณภาพจากเกษตรกรโดยตรง ส่งต่อไปยังเจ้าของธุรกิจในโครงการ Let’s DO RIAN เพื่อสร้างอาชีพให้แก่คนไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเกษตรกร และส่งมอบทุเรียนคุณภาพดีไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ นอกจากนั้นจะใช้แพลตฟอร์มแห่งโอกาสเข้าช่วยเหลือเกษตรกรสวนผลไม้ประเภทอื่นๆ ที่จะออกมาตามฤดูกาลต่างๆ ด้วย เช่น มังคุด เป็นต้น” นางสาวณัชชาชนกกล่าว

ด้านนายไพฑูรย์ วาณิชศรี เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ซึ่งได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์สวนทุเรียนในปีนี้นั้น ผลผลิตภาพรวมออกมาค่อนข้างดี ราคาการส่งออกถือว่ายังดีพอสมควร จะมีปัญหาบ้างในเรื่องผลผลิตเสียหายเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน เช่น ฝนตกมากไปในช่วงมีนาคม-เมษายน เป็นสภาพอากาศที่ผิดปกติเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้ผลผลิตร่วงเสียหายบ้าง รูปทรงไม่สวยเท่าที่ควร โดยทุเรียนพันธุ์หมอนทองยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาเป็นอันดับ 1 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดใหญ่ที่สุด ทั้งรับประทานสด แกะเนื้อแช่แข็ง เฟรชคัต (Fresh Cut) ในด้านของการส่งออกต่างประเทศ สวนได้ส่งผลผลิตผ่านเครือซีพีส่งขายยังต่างประเทศมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ส่วนเกรดที่ไม่ได้ส่งออกนั้น ส่วนหนึ่งนำเข้าโรงงานทำทุเรียนทอด อีกส่วนนำส่งโรงงานทำทุเรียนเฟรชคัต (Fresh Cut) และแช่แข็ง โดยมีอัตราส่วนการส่งทุเรียนออกขายต่างประเทศ 70% ในประเทศ 30%

“เราปลูกทุเรียนประมาณ 6,000 ต้น บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ตอนนี้ให้ผลประมาณ 2,000 ต้น ที่เหลือก็เริ่มให้ผลปีหน้า ในอาเซียนถ้าพูดถึงโนฮาว ทุเรียนไทยยังถือว่าเป็นที่หนึ่ง เวียดนามเบอร์ 2 มาเลเซียเบอร์ 3 แต่ต่อไปที่จะเป็นคู่แข่งเราอย่างน่ากลัวคือลาว เกษตรกรไทยต้องรีบปรับตัวเพื่อผลิตสินค้าที่อร่อย ถูกใจผู้บริโภค และปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่พร้อมแข่งขันได้ทุกเมื่อ
ซึ่งสำหรับสวนผมนั้นนอกจากส่งขายในประเทศ 30% แล้ว ยังส่งออกต่างประเทศ คือ จีน อเมริกา ยุโรป ซีเรีย และเกาหลีด้วยครับ

ผมคิดว่าโครงการ Let’s DO RIAN มีแนวคิดที่ดี เพราะส่งผลดีโดยรวมต่อทั้งระบบ โดยนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรมีจุดขายมากขึ้น ยังเป็นการช่วยกระจายตลาดและเพิ่มช่องทางการขายให้แก่เกษตรกรโดยตรง และเมื่อผู้บริโภคพึงพอใจกับการได้รับผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ ในราคาที่สมเหตุสมผล เกษตรกรก็สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ขณะที่ นายโกวิท มีใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บ.สยามดราก้อนเฟซ เครือสหกรณ์เขาคิชฌกูฏ เปิดเผยว่า ปีนี้ปัญหาสำคัญของทุเรียนคือเรื่องของการส่งออกขายไปยังต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวกับขนส่งและกระบวนการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยก็ปรับตัวและให้ความสำคัญต่อเรื่องของความปลอดภัยในการป้องกันโควิด-19 เป็นอันดับต้นๆ ไม่น้อยไปกว่าคุณภาพของทุเรียน โดยโครงการ Let’s Do Rian นี้ นอกจากจะช่วยนำทุเรียนที่มีคุณภาพดีไปสู่ผู้บริโภคชาวไทยแล้วนั้น ยังสามารถช่วยในเรื่องของการกระจายผลผลิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการในสถานการณ์เช่นนี้ได้ด้วย

“ผลผลิตส่วนใหญ่ของที่นี่ จะมาจากสมาชิกสหกรณ์เขาคิชฌกูฏทั้งหมด 1,274 สมาชิก ซึ่งเราจะรับเฉพาะทุเรียนแก่เท่านั้น โดยทุเรียนส่งออกจะตัดที่ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเผื่อระยะเวลาในการเดินทาง แต่ถ้าเป็นบริโภคภายในประเทศ จะตัดทุเรียนในความแก่ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากกลุ่มสมาชิกในการช่วยกันแขวนทุเรียนแก่ขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานทุเรียนที่ดีมีคุณภาพ

โครงการ Let’s Do Rian สามารถช่วยกระจายสินค้าจากปัญหาของการส่งออกได้ โดยนำทุเรียนคุณภาพดีส่งถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็ว และสะดวกในการจับจ่ายมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยคุณภาพของทุเรียนที่เรา เกษตรกร และเครือซีพี ร่วมกันควบคุมให้ได้มาตรฐานที่ดี จะทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคทุเรียนในประเทศสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งรายได้ก็จะกระจายกลับไปสู่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน และห่วงโซ่ต่างๆ ในวงจรของทุเรียนครับ”














กำลังโหลดความคิดเห็น