“เอนก” เปิดศูนย์ “จันทน์กะพ้อ” มรภ.ยะลา ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมเป็นแหล่งผลิตนักบริบาล สร้างงาน-สร้างรายได้ ชู เป็นต้นแบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของ มรภ.ทั่วประเทศ ตอกย้ำภารกิจมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ รับรู้ทุกข์สุขคนในชุมชน
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ศ.(พิเศษ ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือ ผู้มีภาวะพึ่งพิง “จันทน์กะพ้อ” มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรภ.ยะลา) โดยมี ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.อว. ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. เข้าร่วม พร้อมด้วย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี มรภ.ยะลา คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ที่อาคาร Day Care มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ศ.(พิเศษ ) ดร.เอนก กล่าวว่า ศูนย์ฯ จันทน์กะพ้อนับเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งในการเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษาและผู้ที่สนใจ รวมถึงยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าในอนาคตจำนวนผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น และเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ควรมองเป็นปัญหาหรือภาระ แต่ให้มองเป็นโอกาส ที่จะสร้างธุรกิจหรือสร้างงานที่รองรับสังคมผู้สูงอายุได้ สำหรับศูนย์ฯ จันทน์กะพ้อที่ตนอยากให้เพิ่มเติม คือ การเร่งผลิตนักบริบาลผู้สูงอายุให้มีจำนวนมากขึ้น โดยใช้หลักการ "มาก เร็ว ดี ประหยัด" ตั้งเป้าภายใน 1-2 ปี ให้มีที่รองรับผู้สูงอายุใน 3 จังหวัดชายแดนอย่างเพียงพอ และทำให้คนในพื้นที่โดยเฉพาะ จ.ยะลา มีงานทำ ในขณะที่ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย ที่สำคัญ ยังแสดงให้เห็นว่า มรภ.เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาพื้นที่และรับรู้ทุกข์สุขของคนในชุมชน
ด้าน ผศ.ดร.สุนีย์ เครานวล อาจารย์รับผิดชอบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงจันทน์กะพ้อ กล่าวว่า ศูนย์ฯ จันทน์กะพ้อได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บริการด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการดำเนินงานใน 2 ลักษณะ คือ เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและผู้ที่สนใจ รวมถึงให้บริการผู้สูงอายุแบบไปกลับ โดยจะเปิดให้บริการเดือนมิถุนายน 2565 ตลอดจนอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ที่ผู้เรียนหรือผู้ที่สนใจใช้เวลาเรียนในระยะเวลาสั้น แต่สามารถประกอบอาชีพในสถานบริบาลผู้สูงอายุได้ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อและมีใจรักด้านการดูแล ถือเป็นการส่งเสริมการมีงานทำ และมีรายได้ โดย มรภ.ยะลา จะรับเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยในการดูแลผู้สูงอายุ จัดระบบการให้บริการส่งไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ติดตามให้คำแนะนำในด้านมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุที่ส่งไปดูแลที่บ้าน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง และทำความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ทำบันทึกความร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ผศ.ดร.สุนีย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มรภ.ยะลา ยังมีการศึกษาและมีแนวคิดที่จะขยายผลจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในระดับตำบล โดยบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ตามภารกิจของ มรภ.เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นโอกาสและความท้าทายอย่างยิ่งของบทบาทมหาวิทยาลัยในพื้นที่