พงศาวดารฉบับ “คำให้การของชาวกรุงเก่า” กล่าวว่า ในปี ๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนองได้กรีฑาทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาทั้งทางบกและทางเรือมีกำลังพลถึง ๙๐๐,๐๐๐ ทรงนำทัพหลวงเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชา พระอนุชาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้รับพระกรุณาไว้วางพระทัยยกย่องให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ ไปครองเมืองพิษณุโลก แต่เกิดน้อยพระทัยที่สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิทรงแต่งตั้งให้พระมหินทร์ ราชโอรส ขึ้นเป็นรัชทยาท กำลังแข็งเมืองต่อพระเชษฐา ทรงเห็นว่าทัพบุเรงนองยกมาครั้งนี้ใหญ่หลวงเกินกำลังที่จะรับได้ จึงแต่งเครื่องราชบรรณาการแล้วพาพระสุพรรณกัลยา ราชธิดาวัย ๑๖ พร้อมกับพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ ๒ พระราชโอรส ออกไปถวายเครื่องราชบรรณาการ ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงยินดี ประกาศมิให้ไพร่พลทำร้ายอาณาประชาราษฎร แล้วให้พระเอกาทศรถซึ่งมีพระชนม์เพียง ๑๒ ชันษา อ่อนวัยกว่าพระนเรศวร ๒ ปี อยู่รักษาเมืองพิษณุโลก ให้พระสุพรรณกัลยาและพระนเรศวรตามเสด็จไปในกองทัพหลวงด้วย ให้พระมหาธรรมราชาเป็นทัพหน้ายกไปตีกรุงศรีอยุธยา ล้อมกรุงไว้ทั้ง ๔ ด้าน พระเจ้าบุเรงนองทรงนำทัพหลวงเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งก็ไม่อาจตีได้
ในขณะที่พระเจ้าบุเรงนองล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประชวรสวรรคต ขุนนางข้าราชการจึงยกพระมหินทร์ขึ้นครองราชย์ แต่พระยาจักรีคิดคด ลอบออกไปหาพระเจ้าบุเรงนอง ทูลว่าเสบียงอาหารในพระนครจวนหมดแล้ว ราษฎรอดอยากระส่ำระสายเกือบสิ้นกำลัง พระมหินทร์ที่ขึ้นครองราชย์ก็อ่อนแอ ซ้ำยังทูลหมดว่าด้านไหนเข้มแข็งด้านไหนอ่อนแอ
จากนั้นพระเจ้าบุเรงนองก็ใช้เล่ห์ ปล่อยข่าวว่าจับพระยาจักรีได้ แต่แหกตรวนหนีที่คุมขังออกไป ทั้งยังทำเรื่องให้สมจริงโดยตัดหัวทหารยามที่เฝ้าไป ๑๐ คนปักประจาน พระมหินทร์หลงกลว่าพระยาจักรีเป็นวีรบุรุษ จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพรับมือข้าศึก พระยาจักรีจึงเปิดประตูรับกองทัพหงสาวดีเข้าเมือง
พระเจ้าบุเรงนองให้เก็บทรัพย์สินเงินทอง ปืนใหญ่ปืนน้อย ผู้คนช้างม้าและช้างเผือกอีก ๕ เชือก พร้อมรูปหล่อต่างๆ ทั้งรูปหล่อพระเจ้าอู่ทองผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา ขนไปพม่าหมด แล้วมอบราชสมบัติให้พระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์ นำพระสุพรรณกัลยากับพระนเรศวรไปกรุงหงสาวดีเป็นตัวประกัน
พระยาจักรีได้รับปูนบำเหน็จมากที่เป็นไส้ศึก แต่ไปได้เพียง ๗ วัน พระเจ้ากรุงหงสาวดีก็ทรงเห็นว่า ขนาดเจ้านายของตนชุบเลี้ยงให้มียศบรรดาศักดิ์ขนาดนี้ยังทรยศได้ ถ้าเลี้ยงต่อไปก็คงไม่เชื่อง จึงให้เอาไปประหารชีวิตเสีย
ส่วนพระมหินทร์ให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์เสมอ แต่พระมหินทร์ไม่ยอมสวามิภักดิ์ มีกิริยากระด้างกระเดื่องไม่ยำเกรง เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสระถุง พระเจ้าบุเรงนองจึงให้เอาไปถ่วงน้ำเสีย
เมื่อกลับไปถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองทรงปูนบำเหน็จทแกล้วทหารเป็นจำนวนมาก ทรงแต่งตั้งให้พระสุพรรณกัลยาเป็นมเหสี มีตำหนักและฉัตรส่วนพระองค์ ส่วนพระนเรศวรก็โปรดปรานเหมือนเป็นราชบุตร
พระมหาธรรมราชาครองราชย์อยู่ ๑๕ ปีก็สวรรคต ขุนนางข้าราชการจึงยกให้พระเอกาทศรถ ผู้เป็นมหาอุปราชขึ้นครองราชย์ แต่พระเอกาทศรถรับสั่งว่า พระเชษฐาของเรายังอยู่ที่เมืองหงสาวดี ขอรับแค่ตำแหน่งมหาอุปราชเช่นเดิม รักษาราชการแผ่นดินแทนพระเชษฐา
ฝ่ายกรุงหงสาวดี เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต พระสุพรรณกัลยามีพระราชธิดา ๑ องค์ พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์ ทำให้พระนเรศวรมีเรื่องกระทบกระเทือนพระทัยอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับพระมหาอุปราช ราชบุตรของพระเจ้านันทบุเรง ซึ่งอยู่ในวัยไม่ห่างกัน แม้แต่เรื่องชนไก่ เมื่อไก่ของพระนเรศวรเป็นฝ่ายชนะ พระมหาอุปราชาก็ยังถากถางว่า “ไก่เชลยตัวตัวนี้เก่งจริงหนอ” พระนเรศวรก็ตอบกลับไปว่า “ไก่ของหม่อมฉันนี้ อย่าเข้าพระทัยว่าจะชนะแต่ไก่ของพระองค์ จะชนเอาบ้านเอาเมืองก็ยังได้”
ทรงดำริว่า เราจะมานั่งน้อยหน้าอยู่ในบ้านเมืองเขาให้เขาดูหมิ่นอย่างนี้ไม่สมควร จำจะคิดอุบายหนีไปให้จงได้ วันหนึ่งจึงไปเฝ้าพระพี่นางสุพรรณกัลยา ทูลชวนให้หนีกลับไปกรุงศรีอยุธยาด้วยกัน แต่พระพี่นางตรัสตอบว่า บัดนี้พี่มีบุตรกับพระเจ้ากรุงหงสาวดีแล้ว จะหนีไปอย่างไรได้ พ่อจงกลับไปเถิด ตรัสแล้วอวยพรพระนเรศวรว่า ขอให้น้องเราไปโดยศิริสวัสดิ์ อย่าให้ศัตรูหมู่ปัจจามิตรย่ำยีได้ แม้ใครคิดร้ายก็ขอให้พ่ายแพ้แก่เจ้า เจ้าจงมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู กู้บ้านกูเมืองคืนได้ดังปรารถนาเทอญ
พระนเรศวรได้ฟังดังนั้น แกล้งตรัสตอบเป็นทีล้อพระพี่นางว่า รักผัวมากกว่าญาติ แล้วทูลลากลับมาตำหนัก ชักชวนมหาเล็กที่สนิทไว้ใจได้ ๖๐ คน หลบหนีออกจากกรุงหงสาวดี
คำว่า “รักผัวมากกว่าญาติ” ซึ่งขณะนั้นพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตไปแล้ว เป็นสมัยของพระเจ้านันทบุเรง จึงมีพงศาวดารบางฉบับตีความไปว่า พระสุพรรณกัลยาตกเป็นมเหสีของพระเจ้านันทบุเรงด้วย
หลังจากที่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ชีพคาคอช้างในการทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวร พระเจ้านันทบุเรงโกรธแค้นมาก พงศาวดารฉบับคำให้การของชาวกรุงเก่า กล่าวว่า
"พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เอาตัวนายทัพนายกองที่ไปกับพระมหาอุปราชนั้น ใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้น แต่เท่านั้นยังไม่คลายพระพิโรธ จึงเสด็จไปสู่ตำหนักพระสุวรรณกัลยา เอาพระแสงฟันพระนางสุวรรณกัลยากับพระราชธิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์"
พงศาวดารฉบับ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่า
“ส่วนพระเจ้าหงสาก็ทรงพระโกรธยิ่งนัก ก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐาน จึงเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศร์นั้นประทมอยู่ใน พระราชโอรสเสวยนมอยู่ที่ในที่ พระเจ้าหงสาจึงฟันด้วยพระแสง ก็ถูกทั้งพระมารดา และพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ ก็ถึงแก่ความพิราลัยไปด้วยกันทั้งสององค์ ด้วยพระเจ้าหงสาทรงพระโกรธยิ่งนักมิทันที่จะผันผ่อนได้”
พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตในปี ๒๑๒๔ สงครามยุทธหัตถีเกิดในปี ๒๑๓๕ ถ้าพระสุพรรณกัลยามีพระราชโอรสกับพระเจ้าบุเรงนองก็ต้องมีพระชนม์ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ชันษา “พระราชโอรสเสวยนมอยู่ที่ในที่” จึงตีความหมายว่าเป็นโอรสของพระเจ้านันทบุเรง
แต่ มิกกี้ ฮาร์ท นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทย-พม่า ได้เขียนไว้ในหนังสือ “โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้” ไว้ตอนหนึ่งว่า
“...ระยะเวลา ๑๒ ปีแรกในพระราชวังกัมโพชะดี เมืองหงสาวดี ของพระสุพรรณกัลยานั้น เป็นช่วงที่ดีและทรงพระเกษมสำราญมากที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้ทรงพบพระสวามีอยู่เนืองๆ ด้วยว่าพระสวามีมักจะทรงภารกิจที่แนวหน้า ประทับในสนามรบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ท่านก็ทรงพระเกษมสำราญตามสมควร แต่ที่สุดแล้ว ชะตาของพระองค์ก็ถึงจุดเปลี่ยนผัน
เมื่อวันเพ็ญที่ ๑๕ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๑๒๔ พระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคต พระโอรสของพระเจ้าบุเรงนองทรงพระนามว่าพระเจ้านันทบุเรง เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ยังผลให้ตำแหน่งพระมเหสีของพระสุพรรณกัลยากลายเป็นอดีตมเหสีทันที และต้องทรงย้ายออกจากพระราชวังไปประทับ ณ พระตำหนักส่วนพระองค์นอกเขตพระราชฐาน เช่นเดียวกันกับเหล่าวงศานุวงศ์ของพระเจ้าบุเรงนองคนอื่นๆ ตามธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมา”
ในเรื่องที่กล่าวว่าพระสุพรรณกัลยาตกเป็นมเหสีของพระเจ้านันทบุเรง โอรสของพระเจ้าบุเรงนองด้วยนั้น มิกกี้ ฮาร์ท ให้ข้อคิดว่า
“...ถึงแม้พระเจ้าบุเรงนองผู้ทรงเป็นพระสวามีและพระบิดาของเจ้าหญิงน้อย จะสวรรคตไปสองปีกว่าแล้วก็ตาม แต่ชีวิตของพระสุพรรณกัลยาก็ทรงดำเนินไปตามปกติ นอกเสียจากว่าตำแหน่งพระมเหสีได้เปลี่ยนมาเป็นพระชนนีเท่านั้น และตอนนี้พระนางก็ทรงมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษาแล้ว ตรงนี้ข้าพเจ้าขออธิบายสักนิดเดียวเกี่ยวกับนักแต่งประวัติศาสตร์เลียนแบบนิยาย ส่วนใหญ่ที่นิยมเขียนว่าพระเจ้านันทบุเรงทรงเอาพระสุพรรณกัลยาเป็นเมียหลังจากพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอถามสักนิดว่า ตรงนี้ท่านใช้ข้อมูลใดมาอ้างอิง หลักฐานการบันทึกถึงครอบครัวพระเจ้านันทบุเรงในพงศาวดาร ทุกฉบับไม่เคยปรากฏพระนามของพระสุพรรณกัลยาแม้แต่นิดเดียว อย่าว่าแต่พระมเหสีเลย แม้แต่รายชื่อในตำแหน่งพระสนมก็ไม่มี หากเป็นเช่นนี้แล้วท่านยังจะพูดหรือเขียนอีกหรือว่าพระสุพรรณกัลยาเป็นเมียนันทบุเรง ข้าพเจ้าขอถามหน่อยว่าเมียลักษณะไหน เมียเก็บหรือ ถ้าอ้างอย่างนี้ก็ไม่ดีนะ หมายความว่าไม่ให้เกียรติพระนางเลย ทั้งๆที่พระนางเป็นถึงพระธิดาในพระมหาธรรมราชา และเป็นเชษฐภคินีของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาถึงสองพระองค์ทีเดียว ประเพณีขัตติยวงศ์นั้นนิยมสมรสกันระหว่างพี่น้องด้วยกันก็จริงอยู่ แต่ไม่มีการเอาเมียพ่อมาเป็นเมียลูกแน่นอน...”
มิกกี้ ฮาร์ทได้กล่าวถึงช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพพระสุพรรณกัลยาว่า ในช่วงสงครามยุทธหัตถี พระสุพรรณกัลยาไม่ได้ประทับอยู่ในกรุงหงสาวดี แต่ได้ไปประทับที่เมืองตองอูกับพระธิดาที่เสกสมรสกับเจ้าชายไทยใหญ่ ซึ่งสนิทสนมกับเชื้อสายของราชวงศ์ที่ครองกรุงอังวะ ทรงมีพระชนม์ชีพอย่างปกติสุขจนสิ้นพระชนม์ มิได้ถูกปลงพระชนม์แต่อย่างใด
เรื่องราวของพระสุพรรณกัลยาที่ถูกพระเจ้านันทบุเรงฟันด้วยพระแสงพร้อมด้วยพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ทั้งเป็นมเหสีของกษัตริย์พม่าถึง ๒ องค์ ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานหรือมีข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือมายืนยันเลย ถือเป็นจินตนาการของนักเขียนพงศาวดารโดยเฉพาะ
เรื่องราวของพระสุพรรณกัลยาดูจะสับสนในประวัติศาสตร์ ก็คงเนื่องจากพระองค์ใช้พระชนม์ชีพอย่างสงบ ไม่ปรากฏบทบาทใดๆ หลักฐานต่างๆที่บันทึกไว้จึงมิค่อยได้กล่าวถึง ผู้เขียนพงศาวดารจึงจินตนาการกันไปเอง
เช่นเดียวกับภาพเขียนของพระสุพรรณกัลยา ก็เขียนกันไปตามจินตนาการของคนเขียน ตามหลักการในการเขียนภาพหรือสร้างอนุสาวรีย์บุคคลในประวัติศาสตร์ แม้แต่ช่างของกรมศิลปากรก็ต้องจินตนาการขึ้นเอง แต่ยึดหลักฐานในยุคนั้น รวมถึงนิสัยใจคอของบุคคลที่เป็นอนุสาวรีย์ แต่พระสุพรรณกัลยามีชีวิตเมื่อเกือบ ๔๐๐ ปีมาแล้ว ไม่มีข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับรูปลักษณ์และพระพักตร์ ทุกภาพจึงเป็นจินตนาการของคนเขียนเช่นกัน
ตอนนี้คงเข้าใจกันได้แล้วนะว่า พระสุพรรณกัลยา พระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวร ไม่ได้เป็นมเหสีของพระเจ้านันทบุเรงด้วย และไม่ได้ถูกปลงพระชนม์ชีพ การบันทึกประวัติศาสตร์ย่อมเปลี่ยนได้ถ้าค้นพบหลักฐานใหม่ที่น่าเชื่อถือกว่า อย่าง พระเจ้าอู่ทองไม่ได้อพยพหนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทอง แต่ย้ายข้ามฟากมาจากกรุงอโยธยานั่นเอง