xs
xsm
sm
md
lg

พงศาวดารไทย-พม่าบันทึกสงครามยุทธหัตถีต่างกัน! สิ้นพระชนคาคอช้างเหมือนกัน แต่ช้างพม่าชนกันเอง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



พงศาวดาร ก็คือการบันทึกประวัติศาสตร์ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะบันทึกหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านมานาน จากหลักฐานหรือคำบอกเล่าต่อๆกันมา เรื่องราวอาจจะเลอะเลือนหรือบิดเบนไปได้ บางเรื่องก็บิดเบนไปด้วยเจตนาของผู้บันทึกที่มีใจเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด อย่างเช่นสงครามยุติหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาของพม่า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศย่านตะวันออก และเป็นการทำยุทธหัตถีของกษัตริย์ครั้งสุดท้ายในโลก พงศาวดารทั้งไทยและพม่าจึงถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แม้จะบันทึกเหตุการณ์นี้ส่วนใหญ่ตรงกันว่า ทั้งสองพระองค์ต่างทรงช้างพระที่นั่งมา เมื่อเผชิญหน้ากัน พระมหาอุปราชาได้สิ้นพระชนม์คาคอช้าง แต่ก็บรรยายเหตุการณ์ต่างกัน โดยเฉพาะสาเหตุของการสวรรคต
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖ “เรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า” ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพระมหาอุปราชายกกองทัพเข้ามามีกำลังมากกว่าคราวก่อน จึงประชุมปรึกษาการศึก และเห็นพ้องต้องกันว่า วิธีที่จะปล่อยให้ข้าศึกเข้ามาถึงชานเมือง จะเป็นการลำบากเดือดร้อนแก่ราษฎร แม้จะมีชัยชนะ บ้านเมืองที่ข้าศึกเข้ามาเหยียบย่ำก็ต้องยับเยิน จึงดำรัสให้เตรียมทัพหลวงจะเสด็จออกไปสู้ที่สุพรรณบุรี ทรงไปตั้งค่ายที่หนองสาหร่าย แล้วส่งกองสอดแนมออกไป เมื่อทรงทราบว่าข้าศึกยกมาแล้วก็จัดทัพหน้าเข้าประทะ แต่กองทัพไทยที่ส่งไปกำลังยังด้อยกว่าพม่ามาก จึงรบพลางถอยพลางลงมา สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบมีพระราชดำริว่า หากส่งกำลังไปหนุนช่วยขณะที่ถูกข้าศึกตีถอยมาก็จะรับไม่อยู่ จึงรับสั่งไปให้กองหน้าถอยล่อข้าศึกให้หลงว่ากองทัพไทยแตกเสียขบวน ส่วนทัพหลวงจะไปตั้งซุ่มแล้วเข้าตีโอบ ทั้งสองฝ่ายรบกันถึงขั้นตะลุมบอน พอข้าศึกแตกพ่าย วันนั้นช้างพระที่นั่งเกิดตกน้ำมัน เห็นข้าศึกแตกพ่ายก็วิ่งไล่ไปโดยลำพัง พงศาวดารไทยบันทึกตอนนี้ไว้ว่า
 
“... ในเวลานั้นกองทัพไทยกำลังรบพุ่งข้าศึกเปนโกลาหล ผงคลีคลุ้มตระหลบแลไม่เห็นว่าใครเปนใคร ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรไล่เข้าไปในกองทัพข้าศึก มีติดตามเสด็จไปทันแต่ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระเอกาทศรถ ราชอนุชา กับพวกองครักษ์เดินท้าววิ่งตามไปทันไม่กี่มากน้อย นายมหานุภาพนายท้ายช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวร หมื่นภักดีศวรกลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถ ถูกปืนข้าศึกตาย สมเด็จพระนเรศวรก็ถูกปืนข้าศึกที่พระหัตถ์หน่อยหนึ่ง พอผงคลีที่กลุ้มตระหลบจางลง ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรก็เข้าไปถึงที่พระมหาอุปราชายืนช้างอยู่ในกองทัพหลวงข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรก็ไม่หวาดหวั่น เห็นได้ช่องในเชิงสงครามจึงตรัสท้าพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถี คือชนช้างสู้กันตัวต่อตัว ด้วยเปนลักษณยุทธการที่ถือกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่าเปนเกียรติยศอย่างสำคัญ แลในสมัยนั้นคงกำลังเลื่องลือเกียรติยศของพระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ที่ได้ชนช้างชนะพระเจ้าอังวะ พระมหาอุปราชาได้ยินสมเด็จพระนเรศวรชวนชนช้าง จะไม่ชนก็เสียเกียรติยศมีความละอาย จึงเข้าชนช้างด้วยสมเด็จพระนเรศวร ทีแรกช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรเสียที พระมหาอุปราชาฟันด้วยของ้าว สมเด็จพระนเรศวรหลบทัน ถูกแต่พระมาลาบิ่นไป พอช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรกลับได้ทีชนช้างที่นั่งพระมหาอุปราชาเบนไป สมเด็จพระนเรศวรฟันด้วยพระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ถูกพระมหาอุปราชาทิวงคตบนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถนั้นชนช้างกับเจ้าเมืองจาปโร ฟันเจ้าเมืองจาปโรตาย พอสมเด็จพระนเรศวรชนะยุทธหัตถี ก็พอพวกทหารไทยตามเสด็จเข้าไปถึง แต่ไม่พอเปนกำลังที่จะตีข้าศึกให้แตกยับเยินไปได้ สมเด็จพระนเรศวรต้องถอยกลับออกมา พวกข้าศึกจึงรวบรวมกันพาศพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงษาวดี ไม่แตกยับเยินไปเหมือนอย่างคราวก่อน...”

ส่วน “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” กล่าวว่า เมื่อเดือน ๑๐ จุลศักราช ๙๔๔ ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๒๑๓๖ พระเจ้ากรุงหงสาวดีเรียกประชุมขุนนางและพระมหาอุปราชาพระราชโอรสเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า ได้ใช้ให้ไปตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งแล้ว ก็ไม่มีชัยชนะแก่พระนเรศเด็กน้อยสักครั้ง เพราะพวกเจ้าไปกระทำยุทธอ่อนแอ พระนเรศจึงมีใจกำเริบ ครั้งนี้จะให้พวกเจ้ายกพยุหใหญ่ไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ถ้าพวกเจ้าตั้งใจจริงๆแล้ว อย่าว่าแต่พระนเรศเด็กน้อยเลย ยิ่งกว่าพระนเรศหลายเท่าก็ทนมือไม่ได้ ขุนนางผู้หนึ่งจึงกราบทูลว่า ถ้าจะเปรียบไปแล้วกำลังแลทหารของพระนเรศ ๑๐ ส่วน จะเอาเอาสักส่วนหนึ่งของพระองค์ไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่พระนเรศมีอานุภาพกล้าหาญนัก เมื่อเห็นกองทัพฝ่ายหนึ่งเข้าแล้ว ทหารของพระนเรศมิได้ย่อท้อกลัวเกรงข้าศึกเลย เขากลัวแต่เจ้าของเขาเท่านั้น เพราะฉะนั้นทหารของพระองค์จะเอาชนะนั้นยากนัก ธรรดาพลจะว่ามากหรือน้อยไม่ได้ ต้องอาศัยใจกล้าตั้งใจจริงๆจึงจะมีชัยชนะ ด้วยเหตุนี้ขอพระองค์ทรงจัดตั้งและกำชับให้พระมหาอุปราชพระราชโอรสเป็นแม่ทัพ และพระราชบุตรของพระองค์อีก ๒ พระองค์ เป็นยกกระบัตรและปลัดทัพ ไปตีกรุงศรีอยุธยาด้วยพลเป็นจำนวนมากแล้ว ก็จะมีชัยชนะพระนเรศเป็นแน่แท้ พระเจ้าหงสาวดีทรงเห็นชอบ ตรัสให้พระมหาอุปราชเป็นแม่ทัพ นัดชินหน่องเป็นยกกระบัตรทัพ สะโตธรรมราชา ราชบุตรองค์เล็กเป็นปลัดทัพ นำ ๒๖ ทัพ มีช้าง ๑,๕๐๐ ม้า ๒,๐๐๐ พลทหาร ๒๔,๐๐๐ ยกออกจากกรุงหงสาวดีเมื่อขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย จุลศักราช ๙๕๕ ครั้นเดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำก็ถึงกรุงศรีอยุธยา

“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“...ในขณะนั้นพระมหาอุปราชทรงช้างชื่อภูมิจุน ปีกขวารับสั่งให้สะโตธรรมราชา พระอนุชา คุมพลทหารคอยตั้งรบ ปีกซ้ายนั้นรับสั่งนัดชินหน่องคุมพลทหารคอยตั้งรบ แล้วรับสั่งให้เจ้าเมืองชามะโย ช้างชื่อป๊อกจอไซยะ ๆ นี้กำลังตกน้ำมัน ๆ โทรมหน้าถึงกับต้องเอาผ้าปิดหน้าไว้แล้ว พระองค์รับสั่งให้คอยอยู่ข้างซ้ายช้างพระที่นั่งของพระองค์

ฝ่ายพระนเรศก็ขี่ช้างชื่อพระละภูมิออกมาพร้อมกับพลทหาร ครั้นยกมาใกล้ พระนเรศเห็นพระมหาอุปราชทรงช้างยืนคอยอยู่ พระนเรศก็ขับช้างตรงเข้าไปจะชนช้างกับพระมหาอุปราช เวลานั้นเจ้าเมืองชามะโยเห็นพระนเรศตรงเข้ามาดังนั้น ชามะโยก็ขับช้างที่ตกน้ำมันนั้นจะออกรบ พอเปิดผ้าที่ปิดหน้าช้างไว้แล้วไสช้างเข้าชนกับช้างพระนเรศ ช้างนั้นหาชนช้างพระนเรศไม่ กลับมาชนช้างของมหาอุปราชเข้า มหาอุปราชก็ไม่เป็นอันที่จะรบกับพระนเรศ มัววุ่นอยู่กับช้างที่ตกน้ำมันนั้นเป็นช้านาน เวลานั้นพลทหารของพระนเรศก็เอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้ามา ลูกกระสุนไปต้องมหาอุปราช ๆ ก็สิ้นพระชนม์ที่คอช้างพระที่นั่งนั้น ในเวลานั้นตุลิพะละ พันท้ายช้าง เห็นพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ก็ค่อยประคองมหาอุปราชพิงไว้กับอานช้าง เพื่อไม่ให้พระนเรศรู้ แล้วถอยออกไป ขณะนั้นพระนเรศก็ไม่รู้ว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ จึงไม่อาจจะตามรบ

ในเวลานั้นนัดชินหน่องซึ่งเป็นพระราชอนุชาของมหาอุปราช ปีกซ้ายก็ทรงช้างชื่ออุโปสภาเข้าชนช้างกับพระนเรศ ๆ ทนกำลังมิได้ก็ถอยไปตั้งมั่นในเมือง...”

จากนั้นฝ่ายพม่าก็นำพระศพมหาอุปราชใส่พระโกศที่ทำด้วยไม้มะม่วง เอาปรอทกลอกเสร็จ ก็เชิญพระศพและกองทัพกลับกรุงหงสาวดี

บันทึกประวัติศาสตร์ของทั้ง ๒ ฝ่ายจึงแตกต่างกันเช่นนี้ ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนเพราะเลอะเลือนจากการเล่าต่อๆกันมา ซึ่งไม่เหมือนกับยุคนี้ที่บันทึกประวัติศาสตร์ไว้ทันทีด้วยการสื่อสารที่ทันต่อเหตุการณ์ แต่การบิดเบือนด้วยเจตนา ยุคนี้ดูจะรุนแรงกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะบางทีขาวก็เป็นดำไปเลย ฉะนั้นการรับฟังข้อมูลข่าวสารจึงต้องใช้วิจารณญาณ ใช้ปัญญารับฟังด้วย จะได้ไม่ถูกใครเขาชักจูงไปได้ง่ายๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น