วันนี้ (9 เม.ย.) เวลา 17.10 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปทรงวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และทรงหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ส่วนพระเศียร)ในพระอิริยาบถต่างๆ ณ ลานอิสรภาพ 109 อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ลานอิสรภาพ 109 อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณลานอิสรภาพ 109 ที่จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ที่นั้น นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายถวัลย์ เมืองช้าง ประธานโครงการ จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
ต่อจากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ ถวายศีล จบ นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ และทรงหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ส่วนพระเศียร)ในพระอิริยาบถต่างๆ เสร็จแล้ว เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นอิฐ ทอง นาก เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์ แล้วทรงวางลงในหลุมศิลาฤกษ์ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีเททอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงรับแผ่นทอง นาก เงิน แล้วทรงหย่อน ลงในช้อนที่เจ้าพนักงานพระราชพิธีถือถวาย ทรงเทแผ่นทอง นาก เงิน ลงในเบ้า เสร็จแล้ว ทรงถือสายสูตร เททองหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ส่วนพระเศียร) ในพระอิริยาบถต่าง ๆ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ หลั่งน้ำเทพมนตร์ เจิม วางใบมะตูมที่หุ่นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
จากนั้น นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึกตามลำดับ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบ
ที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ แล้วเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ซึ่งจัดแสดงแบบจำลองภูมิทัศน์โครงการจัดสร้างฯ ความสำคัญและความเป็นมาของโครงการฯ พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในพระอิริยาบถต่างๆ ขั้นตอนการจัดสร้างและกำหนดแล้วเสร็จของโครงการจัดสร้างฯ ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ที่เดินทางมาจากพื้นที่จังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง ต่างพร้อมใจเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ด้วยความจงรักภักดี ตลอดเส้นทางที่ทรงพระดำเนินผ่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงโบกพระหัตถ์และทรงแย้มพระสรวล ราษฎรต่างปลื้มปีติที่ได้ชมพระบารมี เสร็จแล้ว ผู้แทนคณะกรรมการโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
สมควรแก่เวลา เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ลานอิสรภาพ 109 อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร
โครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกอบด้วยพระบรมรูปสร้างด้วยโลหะสำริดนอก (BRONZE) จำนวน 4 องค์
ในพระอิริยาบถทรงยืนหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร ขนาดความสูง 109 เมตร พระอิริยาบถทรงยืนหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร ขนาดความสูง 15.40 เมตร พระอิริยาบถทรงแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง ขนาดความสูง 15.40 เมตร และในพระอิริยาบถทรงพระแสงของ้าวกระทำยุทธหัตถี ขนาดความสูง 15.40 เมตร ณ ลานอิสรภาพ 109 ตำบลสายทอง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
โดยโครงการ ฯ มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ประดิษฐานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาคารสำนักงาน หอประติมากรรม พิพิธภัณฑ์ หอพระพุทธรูป อาคารเอนกประสงค์ และสวนประติมากรรม ซึ่งจะมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดอ่างทอง และเป็นแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่จริงให้แก่ประชาชนชาวไทย ตั้งแต่รุ่นปัจจุบันสืบทอดไปสู่อนุชนรุ่นต่อไป
ให้เกิดความรักชาติและความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติ และเกียรติภูมิของประเทศชาติสืบไป