พงศาวดารหลายฉบับกล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า พระเจ้าตากสินเป็นลูกจีนไหฮอง กับนางนกเอี้ยง สาวไทย เมื่อตอนเกิดมีงูใหญ่เลื้อยมาขดอยู่รอบกระด้งที่ใส่ทารก ทั้งยังมีฟ้าผ่ามาที่เรือน บิดามารดาเห็นว่าทารกน่าจะเป็นผู้มีบุญวาสนา ถ้าเลี้ยงไว้เองจะไม่รอด จึงจะยกให้ผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยาจักรีที่อยู่บ้านใกล้กันได้รับเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อโตขึ้นนำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และได้เป็นเจ้าเมืองตากเมื่ออายุได้ ๓๐ ปี
แต่ก็มีหลายความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็เชื่อว่าเป็นโอรสของพระเจ้าท้ายสระ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓๐ ของกรุงศรีอยุธยา โดยลำดับความเป็นมาเริ่มจากเจ้าพระยาบำเรอภูธร เดิมมีชื่อว่า นายทรงบาศ เป็นหลานของพระเพทราชา เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ได้สถาปนาให้เป็นเจ้า ระดับเจ้าฟ้า ธิดา ๓ องค์จึงมีฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า
ธิดาองค์โตคือ พระองค์เจ้าหญิงเอี้ยง ได้เป็นชายาของเจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรสของพระเจ้าเสือ ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ในปลายรัชกาล พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงไม่มั่นพระทัยในสถานการณ์ เนื่องจากตั้งพระทัยจะมอบราชบัลลังก์ให้เจ้าฟ้านเรนทร์ พระราชโอรส แต่เจ้าฟ้าพร พระอนุชา มีพระบารมีมาก คงไม่ยอมแน่ อาจจะเกิดชิงราชบัลลังก์กันได้ ทรงห่วงใยในความปลอดภัยของพระชายาทั้งหลาย โดยเฉพาะพระองค์เอี้ยงซึ่งกำลังทรงครรภ์ จึงพระราชทานพระองค์เอี้ยงให้พระยาจักรี ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเอาไปดูแล แต่ขณะนั้นพระยาจักรีมีอายุ ๗๐ กว่าแล้ว จึงมอบให้ขุนพัฒน์ หรือไหฮอง ซึ่งเป็นนายอากรรับไปดูแลต่อ
นี่ก็เป็นเหตุที่ทำให้เชื่อกันว่าพระเจ้าตากสินเป็นลูกจีนไหฮอง
บ้างก็ว่า เดิมชื่อ จีนแจ้ง เป็นพ่อค้าเกวียน มีวามชอบในแผ่นดินจนได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตาก
พระราชพงศาวดารเหนือ กล่าวว่า พระยานักเลงมีเชื้อสายพระเจ้ามักกะโท ทรงพระนามพระยาตาก ตั้งเมืองใหม่ที่ธนบุรี
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา กล่าวถึงหนังสือพุทธทำนายของมหาโสภิต วัดใหม่ ที่กล่าวไว้ว่า เมื่อเสียพระนครแก่พม่าแล้ว จะมีบุรุษพ่อค้าเกวียนได้เป็นพระยาครองเมืองบางกอกได้ ๑๐ ปี
ยังมีอีกฉบับที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ในชื่อ “พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เล่มที่ ๑ (นอกตำราเรียน” แต่งโดย นายเสนีย์อนุชิต ถาวรเศรฐ ซึ่งกล่าวในคำนำไว้ว่า เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงบุปผา ราชธิดาองค์หนึ่งของพระเจ้าตากสินกับท่านหญิงวาโลม มเหสีองค์แรกที่อภิเษกสมรสกันราวปี ๒๒๙๘ ครั้งยังรับราชการอยู่ที่เมืองตาก
โดยท่านหญิงวาโลมเป็นลูกครึ่งระหว่างเจ้าชายอาหรับกับเจ้าหญิงจีนชาวเมืองกวางตุ้ง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้รับรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ข้อมูลที่ได้รับจากสายสกุลนั้นขัดแย้งกับที่เขียนกันอยู่ในปัจจุบัน จึงเกิดวามสงสัย ใช้เวลาศึกษาหาความจริงของเรื่องนี้มากว่า ๕ ปี และได้เขียนเล่าไว้อย่างละเอียด ความว่า
ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงชอบพอรักใคร่สาวสวยจากราชวงศ์จีนองค์หนึ่ง ที่เข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา มีนามว่า “น.ส.ติ่ง แซ่แต้” และมีพระราชธิดาด้วยกัน ๒ องค์ คือ หม่อมนกเอี้ยง และ หม่อมอั๋น ต่อมา น.ส.ติ่ง แซ่แต้ หรือ พระนางเจิ้งติ่ง เกิดเรื่องชิงรักหักสวาทกับพระสนมอีกนางหนึ่ง ถูกวางยาพิษตาย หม่อมอั๋นได้สมรสกับพระยาเพชรบุรี (ตาล) ส่วนหม่อมนกเอี้ยงชอบพออยู่กับนายต้า แซ่ลิ้ม ชาวจีนอพยพ มีอาชีพเป็นช่างทอง จนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสวรรคต ผู้ที่วางยาพิษสังหารพระนางเจ้งติ่งก็ได้วางยาพิษจะสังหารหม่อมนกเอี้ยงด้วยเพื่อชิงสมบัติ แต่ไม่สำเร็จ หม่อมนกเอี้ยงเกรงจะไม่ปลอดภัยจึงลักลอบไปหานายต้า แซ่ลิ้ม ให้ช่วยพาไปหาหม่อมอั๋น พระขนิษฐาที่เมืองเพชรบุรี แต่ก็ถูกใส่ความว่าขโมยทรัพย์สินหนีไปจึงถูกติดตามตัว นายต้าได้พาหม่อมนกเอี้ยงหนีต่อไปเมืองกำเนิดนพคุณ หรืออำเภอบางสะพานใหญ่ในปัจจุบัน เปิดร้านรับทำทองเครื่องประดับเลี้ยงชีพ และอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน จนกระทั่งหม่อมนกเอี้ยงมีครรภ์ พอดีกับที่มีหมายรับสั่งมาจากกรุงศรีอยุธยาว่า ผู้ที่ร่อนทองได้ที่เมืองกำเนิดนพคุณต้องขายให้เจ้าเมืองเท่านั้น เพื่อส่งเข้าพระคลังหลวงทั้งหมด ทำให้ไม่มีใครนำทองมาให้นายต้าทำ เมื่อหม่อมอั๋นที่อยู่เมืองเพชรบุรีทราบข่าวว่าพี่สาวกำลังเดือดร้อน จึงนำสำเภามารับลงไปเมืองไชยา ขอความช่วยเหลือจากหม่อมดาว ญาติสนิทที่เป็นภรรยาของพระยาไชยามุกดาผู้เป็นเจ้าเมือง
หม่อมดาวได้ให้หม่อมนกเอี้ยงและนายต้ามีอาชีพใหม่ รับซื้อสินค้าพื้นเมืองส่งขายให้พ่อค้าสำเภาจีน ส่วนหม่อมอั๋นนั้นเป็นห่วงที่พี่สาวมีครรภ์แก่ จึงอยู่ดูแลยังไม่กลับไปเมืองเพชร
ในวันสงกรานต์ปี ๒๒๗๗ มีงานรดน้ำดำหัวเทวรูปนอนของพระยาศรีจง พระราชบิดาของพระยาศรีธรรมโศก ในถ้ำใหญ่ถึง ๗ วัน ๗ คืน ในวันสุดท้ายของงานคือวันที่ ๑๖ เมษายน หม่อมนกเอี้ยงอยากจะทำบุญเพื่อให้พ้นทุกข์พ้นโศก จึงขึ้นไปรดน้ำเทวรูปในถ้ำซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ ๑๐๐ เมตร แต่พอรดน้ำเสร็จหม่อมนกเอี้ยงก็เกิดปวดท้องกระทันหัน ขอนอนพักหน่อย หม่อมอั๋นเลยลงไปซื้อเสื่อมาให้ แต่พอกลับขึ้นมาเห็นพี่สาวหลับอยู่ เลยนอนรอข้างๆจนหลับไปด้วยกัน ตื่นมาตกใจเมื่อใกล้สาง หม่อมนกเอี้ยงเริ่มปวดท้องเจ็บครรภ์ และให้กำเนิดบุตรชายในถ้ำใหญ่ ณ ทุ่งลานช้าง เมืองท่าชนะ ซึ่งต่อมาทารกนั้นก็คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยหม่อมอั๋นเป็นผู้ทำคลอดในเช้าตรู่ของวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๒๗๗ ท่ามกลางเสียงปี่ เสียงกลอง เสียงสังข์ที่บรรเลงเพลงมหาฤกษ์จากเทวดาทั้งหลาย จนชาวบ้านนึกว่างานสงกรานต์ยังไม่เลิก เมื่อมาดูก็พบว่าหม่อมนกเอี้ยงได้ประสูติบุตรชาย ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเด็กเป็นผู้มีบุญมาเกิด จึงพากันช่วยเหลือจนหม่อมนกเอี้ยงปลอดภัย
ส่วนนายต้านอนหลับอยู่ที่หน้าโรงหนังตะลุง คิดว่าภรรยากลับบ้านไปแล้ว แต่เมื่อหม่อมอั๋นมาปลุกและบอกข่าว นายต้ารีบขึ้นไปดูก็พบว่ามีงูเหลือมยักษ์ตัวใหญ่นอนขดรอบเด็กทารก จึงร้องขอให้ชาวบ้านมาช่วย
หม่อมนกเอี้ยงซึ่งหลับไปด้วยความอ่อนเพลียได้ฝันว่า หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ได้นำลูกแก้ววิเศษมามอบให้และสั่งเสียว่า ให้นำลูกแก้วนี้มอบให้บุตรชายเมื่อออกผนวชเป็นพระภิกษุ เพราะบุตรชายที่ประสูตินี้ เป็นเทวดามาเกิด จะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศเสียม-หลอในอนาคต เมื่อตื่นขึ้นมาก็เห็นงูเหลือใหญ่ขดล้อมให้ความอบอุ่นแก่ทารกอยู่ พอหม่อมอั๋นนำน้ำมนต์มาพรมและสวดมนต์ งูเหลือมก็คายลูกแก้วออกมาจากปากลงสู่มือทารก จากนั้นก็เลื้อยหายไป หม่อมนกเอี้ยงเก็บรักษาลูกแก้วไว้ จนกระทั่งลูกชายออกผนวชที่เมืองตาก จึงมอบลูกแก้ววิเศษให้ตามฝัน
เมื่อกลับมาบ้าน หม่อมนกเอี้ยง หม่อมอั๋น นายต้า แซ่ลิ้ม หม่อมดาว และพระยาไชยามุกดา ได้ร่วมกันตั้งชื่อให้บุตรชายของหม่อมนกเอี้ยงว่า พ่วง
เมื่อ ด.ช.พ่วงอายุได้ ๓ ขวบ หม่อมนกเอี้ยงก็สอนให้อ่านเขียนและเล่าเรียนตามราชประเพณี แต่ก็ใช้ชีวิตอย่างเด็กชนบท เมื่ออายุ ๕ ขวบสามารถขี่ม้าคุมควายฝูงใหญ่ได้ ทั้งยังสามารถแล่นเรือใบไปทั่วอ่าวบ้านดอน พอ ๑๐ ขวบได้ทำงานในเรือสำเภาจีน มีโอกาสเดินทางไปในเมืองต่างๆจนสามารถพูดได้หลายภาษา
เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ หม่อมนกเอี้ยงต้องการให้ลูกชายบวชเณร แต่ ด.ช.พ่วงกลับหนีลงเรือสำเภาไปเมืองจีน ทั้งที่ตอนนั้นเมืองจีนมีกฎห้ามสำเภารับคนต่างชาติเข้าเมืองด้วย คนที่พาไปจึงตัดเปียของตนมาต่อกับผมจุกให้เด็กชายพ่วง จนเป็นเด็กไว้เปียเช่นเดียวกับคนจีน และใช้ชีวิตช่วงนี้อยู่ในเมืองจีนถึง ๓ ปี
ในระหว่างนี้หม่อมเอี้ยงก็มีปัญหาจากคดีวิวาทที่ ด.ช.พ่วงก่อไว้ ต้องหนีไปซ่อนตัวที่เขาขุนพนม ส่วนนายต้าต้องแยกทางไปขอความช่วยเหลือจากญาติของพระนางเจิ้งเติ่งที่กรุงศรีอยุธยา หาอาชีพส่งเงินไปช่วยหม่อมนกเอี้ยง จนในที่สุดก็มีครอบครัวใหม่ ทอดทิ้งหม่อมนกเอี้ยง เมื่อ ด.ช.พ่วงกลับมาจึงโกรธพ่อในเรื่องนี้มาก ไม่ยอมใช้แซ่ลิ้มต่อไป หันไปใช้แซ่แต้ของฝ่ายแม่
ด.ช.พ่วงได้บวชเป็นสามเณรที่วัดศรีราชัน เมืองคันธุลี ตามที่สัญญากับแม่ ๓ ปีสึกออกมาก็มีความรู้พอควรสำหรับคนยุคนั้น ทั้งมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าคนในวัยเดียวกัน สามารถพูดได้หลายภาษายากที่จะมีใครเสมอเหมือน หากจะเข้ารับราชการซึ่งเป็นอาชีพที่รุ่งโรจน์ที่สุด เส้นสายจากญาติพี่น้องฝ่ายแม่ที่รับราชการอยู่ในตำแหน่งสูงก็มากมาย หม่อมนกเอี้ยงได้นำนายพ่วงไปฝากฝังเป็นบุตรบุญธรรมของพระยาราชบังสัน (มุกดา) เจ้าเมืองธนบุรี ซึ่งไปงานแต่งงานญาติที่เมืองไชยา และเมื่อมาถึงปากแม่น้ำแม่กลองยังได้รับตัวนายทองด้วง ซึ่งแม่ดาวเรืองฝากฝังให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระยาราชบังสัน (มุกดา) ด้วยอีกคน นำทั้งสองไปฝึกวิชาทหารและราชการที่เมืองธนบุรีอยู่พักหนึ่ง
ต่อมาพระยาราชบังสัน (มุกดา) ย้ายเข้าไปรับตำแหน่งพระยายมราชที่กรุงศรีอยุธยา จึงนำบุตรบุญธรรมทั้งสองไปสมัครเป็นมหาดเล็กกรมขุนพรพินิจด้วย ไม่นานพระจักรี (ครุฑ) ซึ่งเป็นบิดาของพระยายมราช (มุกดา) ถึงแก่กรรม เป็นเหตุให้พระยายมราช (มุกดา) ได้รับโปรดเกล้าฯให้ขึ้นเป็นพระยาจักรีแทน พระยาจักรี (มุกดา) เห็นว่านายพ่วงเป็นผู้นำลาภมาให้ตนมีตำแหน่งและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเปลี่ยนชื่อพ่วงเป็น สิน
ทั้งสองมหาดเล็กมีความดีความชอบเป็นที่โปรดปรานของกรมขุนพรพินิจและพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมาไม่นานเมื่อตำแหน่งเจ้าเมืองตากว่างลง จึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งทั้ง ๒ ไปปกครองเมืองตาก โดยมหาดเล็กสินได้เป็นเจ้าเมืองตาก ส่วนมหาดเล็กทองด้วงเป็นปลัดเมือง ก่อนที่จะย้ายไปเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี
นี่ก็เป็นพระราชประวัติพระเจ้าตากสินมหาราชอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากฉบับอื่นมาก ซึ่งผู้เขียนได้เขียนเป็นหนังสือไว้ถึง ๓ เล่ม นับเป็นพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชฉบับล่าสุด
พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นกษัตริย์ไทยที่มีผู้เขียนพระราชประวัติไว้หลายแนวทางมากกว่าทุกพระองค์ มีทั้งความเก่งกล้าสามารถ รวมทั้งอิทธิปาฏิหาริย์ ในแนวทางต่างๆกันไป แต่ทุกฉบับก็ตรงกันอยู่อย่างหนึ่งอย่างที่ไม่มีทางบิดเบนไปได้ ก็คือ พระองค์ได้ทรงกอบกู้ชาติ นำเอกราชกลับคืนมาสู่ประเทศอย่างรวดเร็วจากการเสียกรุงครั้งที่ ๒ และแผ่พระราชอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวางกว่ายุคใด