กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 การวางผังนโยบายระดับประเทศ เน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงการ ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรม ในด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และพัฒนาสู่ความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27-29 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 การวางผังนโยบายระดับประเทศ เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) วิสัยทัศน์และแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ประเทศไทย โดยกำหนดให้มีการประชุมในรายภาค 6 ภาค ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Webinar และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Page : NSPlan2037
นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงความสำคัญของการวางผังนโยบายระดับประเทศที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 อีกทั้งยังใช้เป็นกรอบนโยบายเพื่อชี้นำการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและนโยบายการใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกับบริบทและศักยภาพ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ของประเทศในอนาคต มีการใช้พื้นที่อย่างมียุทธศาสตร์ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ในเวทีโลก เชื่อมโยงการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ ตอบรับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมในโลกยุคใหม่ และสร้างสมดุลของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน
กิจกรรมสำคัญภายในงาน คือ การเปิดเวทีเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “โอกาสการพัฒนาประเทศ ภายใต้บริบทโลกยุคใหม่” ภายใต้วิสัยทัศน์ “เชื่อมโยง นวัตกรรม ยั่งยืน” ผ่านผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.พันธ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (SCG) มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อร่างวิสัยทัศน์ และแนวคิดการใช้พื้นที่ของประเทศไทย การให้มุมมองที่เกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์ของโลกและประเทศไทยในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ภาพรวมของการเชื่อมโยงทุกระดับที่มีความสัมพันธ์กัน ตลอดจน Megatrend ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ไปจนถึงการเสนอแนะแนวทางในการทำแผนนโยบาย รวมทั้งการสร้างคุณค่านวัตกรรมเมืองในอนาคต ที่เป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปรับตัวกับสถานการณ์ Climate Change และ Urbanization ไปจนถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างสมดุล ด้านการอนุรักษ์และการพัฒนา ที่จะนำไปสู่การวางแผนการใช้พื้นที่ของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
ตามด้วยการนำเสนอ (ร่าง) วิสัยทัศน์ และแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ประเทศ โดย รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังภาคและเมือง พร้อมทั้งเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมในทุกภูมิภาค ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับโครงการอย่างครอบคลุมในทุกมิติ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วประเทศ ประมาณ 2,540 คน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างวิสัยทัศน์และแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในประเด็น ดังนี้
- การส่งเสริมความเชื่อมโยงการพัฒนาพื้นที่ทุกมิติ ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ให้สามารถเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และความเชื่อมโยงระหว่างสาขา เช่น ระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองและชนบท และการท่องเที่ยว
- การพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรม ในด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (SmartlCities) นวัตกรรมสู่ความเป็นศูนย์ (InnovationltolZerolNet) เมืองสมาร์ทกริด (SmartlGrid) ทั้งด้านพลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
- การพัฒนาสู่ความยั่งยืน สนับสนุนการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เมืองและชนบทในพื้นที่เหมาะสม และมีความน่าอยู่ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจโมเดล BCG และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก
ซึ่งผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงร่างกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศ ที่ถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 ที่จะต้องดำเนินการในขั้นตอนต่อไป