“รสนา” แจงกรณี กกพ.สั่งพักใบอนุญาต “โรงงานไฟฟ้าขยะอ่อนนุช” ตนร่วมต่อสู้กับภาคประชาชนมานาน แต่ “วิโรจน์” กลับแอบอ้างผลงาน แถมติ่งยังมาระราน ส่วน “ชัชชาติ” ก็เพิ่งลงพื้นที่ พ้อสื่อเลือกข้างไม่สนใจที่ผลงาน กลับเสนอข่าวให้แต่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ฟอร์มใหญ่
วันที่ 14 เม.ย. 2565 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 โพสต์เฟซบุ๊กว่า ...
กรณีโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช:
สื่อมวลชนเลือกข้างในการเสนอข่าวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่!?
โรงขยะอ่อนนุชเพื่อผลิตไฟฟ้าจากขยะ 800 ตัน/วัน ของบริษัท กรุงเทพธนาคม วิสาหกิจของ กทม. ที่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในบริเวณอ่อนนุชหลายหมู่บ้าน ไปไกลถึงศรีนครินทร์ ราม 2 มอเตอร์เวย์ และสมุทรปราการ เป็นจุดเจ็บปวด หรือ เพนพอยต์ (painpoint) ของคนย่านนี้ที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ ฟอร์มใหญ่ พาสื่อลงมาทำข่าวเมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สั่งพักใบอนุญาตโรงงานไฟฟ้าจากขยะ
ชาวบ้านได้ติดต่อดิฉันและสภาองค์ของของผู้บริโภคช่วงเดือนมกราคม ให้ไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันจากโรงงานไฟฟ้าขยะของ กทม.มาตั้งแต่ปี 2563 พวกเราลงพื้นที่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ดิฉันในฐานะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ลงมาตรวจสอบพร้อมกับทีมงานของมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ผู้เชี่ยวชาญด้านสารพิษจากขยะ และต่อมาได้ชวนคุณดาหวันอดีตแกนนำกรณีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมุทรปราการ ซึ่งเคยพาชุมชนต่อสู้จนชนะมาช่วยให้คำแนะนำชาวบ้านด้วยพวกเราได้ร่วมกันลงพื้นที่เดือดร้อนจากโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช ก่อนที่ดิฉันจะมาลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
คนทำงานภาคสังคมอย่างพวกเรา ได้ลงรายละเอียดการตรวจสอบสารพิษและมุ่งหยุดยั้งการดำเนินการของโรงไฟฟ้าขยะไปที่ กกพ.ที่ต้องกำกับให้บริษัทกรุงเทพธนาคมทำตามข้อกำหนดในเรื่องมาตราฐานการปฏิบัติของ กกพ.(Code of Practice : CoP) การที่พวกเราแนะนำชาวบ้านให้ร้องตรงไปที่ กกพ.จึงนำมาซึ่งการออกคำสั่งพักใบอนุญาตในการผลิตไฟฟ้าของกรุงเทพธนาคม เมื่อดิฉันได้รับสำเนาเอกสารพักใบอนุญาต ดิฉันจึงส่งให้ชาวบ้านในไลน์กลุ่ม เมื่อมาเห็นว่าคุณวิโรจน์เอาเอกสารนี้มาลงในเฟซบุ๊ก เป็นการบอกเนียนๆ ว่า เป็นผลงานของพรรคก้าวไกล การพักใบอนุญาตของ กกพ.จึงทำให้คุณชัชชาติก็พาสื่อหลายสำนักมาลงพื้นที่ด้วย ใช่หรือไม่ ?
สื่อมวลชนไม่ได้ให้ความสนใจว่าเป็นผลงานของคนทำงานทางสังคมด้านผู้บริโภค และด้านสารพิษ แต่จะให้ความสนใจผู้สมัครผู้ว่า กทม.ฟอร์มใหญ่มากกว่าทั้งที่ไม่ได้มีส่วนในการทำให้ กกพ.สั่งพักใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าขยะอ่อนนุชซึ่งเป็นผลงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคและภาคประชาสังคมล้วนๆ จึงเห็นได้ว่าสื่อหลายสำนักลงพื้นที่และทำข่าวให้คุณวิโรจน์และคุณชัชชาติ แต่ไม่มาทำข่าวของดิฉันที่ลงพื้นที่ในวันที่ 12 เมษายน แม้แต่ช่อง 5 ที่ลงมาทำข่าวสัมภาษณ์ดิฉันและชาวบ้านในหมู่บ้านอิมพีเรียลปาร์คเสียดิบดี แต่กลับไม่ได้ลงข่าวเลยในวันนั้น !!??
คนของพรรคก้าวไกลยังเขียนระบุชื่อดิฉันที่พูดถึงการแย่งซีนกันหน้าตาเฉย ว่า ให้ดิฉันไปดูไทม์ไลน์ของพรรคว่าทำอะไรมาบ้างทำนองยืนยันว่า เป็นผลงานของพรรค นอกจากนี้ ติ่งของพรรคยังมาวิจารณ์กล่าวร้ายในเฟซบุ๊กดิฉันว่าไปลอกงานพรรคก้าวไกลอีกด้วย
เมื่อชาวบ้านรับทราบเรื่องนี้จึงเข้าไปชี้แจงว่า
“เรื่อง กกพ.ระงับการผลิตไฟฟ้า เป็นผลงานของทางคุณรสนา เพราะมีการนำเอกสารของทางกกพ.มาพินิจพิเคราะห์หาช่องทางทางกฏหมายร่วมกับพวกผมตั้งแต่ต้นและในที่สุดทางคุณรสนา ก็สามารถดำเนินการ เรื่อง กกพ.สำเร็จ สำเนาเอกสารของ กกพ.ทางหมู่บ้านอิมพีเรียลได้จัดส่งให้ทางคุณณัฐพล (พรรคก้าวไกล) เองครับ ผมยืนยันครับ เรื่อง กกพ.เป็นผลงานคุณรสนาครับ”
เมื่อคนของพรรคก้าวไกลยอมรับในบทบาทของดิฉันและเครือข่ายในการปิดโรงไฟฟ้าขยะที่ส่งกลิ่นทำลายสุขภาพของชุมชนมาเกือบ 2 ปี ดิฉันก็ไม่ถือสา เพราะการทำงานช่วยเหลือชาวบ้านจากหลากหลายกลุ่มเป็นเรื่องดี เพราะทุกฝ่ายก็หวังให้ผลดีตกกับชาวบ้าน เเต่ควรให้เครดิตกัน ก็เป็นเรื่องยอมรับกันได้ ดิฉันเองเคยทำงานในฐานะประธานกรรมาธิการมาก่อน ทราบดีว่าภารกิจของกรรมาธิการนั้นมีความสำคัญหากทำในสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Hit to the pain point ตีตรงจุดที่เป็นประเด็นปัญหาจริงๆ
ดังนั้น สิ่งที่ดิฉันขอให้ทางพรรคก้าวไกลแถลงต่อประชาชน คือ ผลงานของกรรมาธิการที่พรรคก้าวไกลกำลังดำเนินการอยู่นั้นมีผลในการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไรให้ชัดเจน รวมทั้งฝ่ายคุณชัชชาติด้วยช่วยแถลงให้ชัดๆ ว่าท่านได้เคยลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเมกะโปรเจกต์โรงไฟฟ้าขยะที่อ่อนนุชอย่างไร หรือว่าเพิ่งลงไปเมื่อตอนที่ กกพ.สั่งปิดโรงไฟฟ้าขยะแล้ว อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนของชุมชน กทม.อันเนื่องจากโรงไฟฟ้าขยะนั้น ยังจะเป็นมหากาพย์ในภาคต่อไป ตราบใดที่บริษัท กรุงเทพธนาคม (ที่มีผู้ว่าฯ กทม.เป็นตัวแทนถือหุ้นในนาม กทม.ถึง 99.98%) ยังไม่สั่งยุติหรือรื้อโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะทั้ง 10 แห่งในกรุงเทพฯ ขึ้นมาทบทวนใหม่ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี (Good Governances) ซึ่งขณะนี้โรงไฟฟ้าขยะได้สร้างเสร็จแล้ว 2 แห่ง มีมูลค่าราวหมื่นล้านบาทคือ โรงไฟฟ้าขยะ 800 ตันที่อ่อนนุชและโรงไฟฟ้าขยะ 500 ตันที่หนองแขม
ประเด็นเร่งด่วนประการหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.จากการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องพิจารณา คือ เรื่องผลประโยชน์ของผู้รับจ้างเหมาผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ กทม. ขนส่งให้ฟรี ราว 800 ตันต่อวันนอกจากผู้รับจ้างเหมาจะได้รายได้ทั้งหมดจากการขายไฟให้การไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งการขายแก๊สและเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) แล้ว ผู้ว่าฯคนใหม่จะต้องตรวจดูสัญญาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับจ้างเหมาเขายังจะได้รับเงินอุดหนุนชดเชยจาก กทม.ในกรณีที่เขาไม่ได้รับรายได้จาก การฃายไฟฟ้าและแก๊สตามที่ตกลงไว้ในสัญญาหรือไม่?ในกรณีของโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชนั้น เมื่อกกพ.สั่งห้ามโรงงานผลิตไฟฟ้าขาย เขาก็ยังสามารถหมักขยะผลิตแก๊สเพื่อขายได้อีกต่อไปหรือไม่ และหากยังมีการหมักแก๊สได้อีก จะมีกระบวนการกำจัดกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียอย่างไร ?
นอกจากสื่อเนชั่นที่เต้าข่าวเท็จเพื่อจงใจด้อยค่าว่าดิฉันเคยสอบตกสมัครผู้ว่าฯ กทม.มาแล้ว โดยไม่กล่าวว่าดิฉันเคยได้รับการเลือกตั้ง ส.ว กทม.ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศต่างหาก เมื่อทีมงานดิฉันมอนิเตอร์สื่อต่างๆ แม้บางสื่อจะไม่ได้ออกมาด้อยค่าดิฉันแบบเนชั่น แต่ก็ให้พื้นที่ข่าวดิฉันน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้สมัครอื่น แม้แต่ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ ก็ให้พื้นที่ข่าวนับเป็นจำนวนนาทีมากที่สุดกับคุณชัชชาติ คุณสุชัชชวีร์ คุณวิโรจน์ และคุณอัศวิน มากกว่าดิฉันที่ได้เวลาในข่าวนับเป็นวินาทีน้อยที่สุด และบางครั้งในข่าวที่ไปแสดงวิสัยทัศน์เวทีเดียวกับผู้สมัครอื่นก็ไม่มีข่าวดิฉันเลย หรือสื่อสิ่งพิมพ์เช่น The Matter เวลาให้เครดิตตำแหน่งผู้สมัครในพื้นที่ข่าวเดียวกัน คุณชัชชาติ จะได้รับการระบุว่าเคยเป็นอดีต รมต. คุณวิโรจน์ เคยเป็นอดีต ส.ส คุณศิธา ทิวารี อดีต ส.ส คุณอัศวิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. คุณสกลธี อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.แต่พอถึงรสนา ไม่ระบุว่า เคยเป็นอดีต ส.ว กทม. กลับระบุว่าเป็นเอ็นจีโอ ดิฉันไม่ได้รังเกียจ ถ้าจะระบุว่าเป็นเอ็นจีโอที่เคยเป็นอดีต ส.ว เลือกตั้งของ กทม.
ดิฉันก็จบมาทางสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมเข้าใจได้ถึงวิธีการสื่อสารแบบเนียนๆ ของสื่อที่ต้องการเชียร์ใคร จึงขอฝากถึงผู้บริหารของสื่อแต่ละสำนักแต่ละค่ายที่มีทุนใหญ่หนุนหลังอยู่ ว่า ควรมีความเป็นมืออาชีพและความเป็นกลางในการเสนอข่าว และควรให้พื้นที่ข่าวอย่างเป็นธรรม เว้นเสียแต่ว่านักข่าวไม่เป็นกลางเพราะนโยบายของผู้บริหารเสียเอง