นโยบายการทำงานหรือวิสัยทัศน์ของผู้สมัครผู้ว่ากทม.ถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่จะเรียกคะแนนชาวกทม.ให้เทใจ โดยเฉพาะการชูนโยบายที่ตรงใจกับใครหลายๆ คน หนึ่งในปัญหาที่หลากหลายนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ที่หลายคนหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น
ดังนั้น เครือข่ายคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย และ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้จัดงานเสวนา “ว่าที่ผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน ครั้งที่ 2” ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ที่มี 2 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มานำเสนอวิสัยทัศน์ในการจัดการปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หนึ่งในเครือข่ายคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย กล่าวว่า ในเวทีนี้ทางเครือข่ายมีการสื่อสารประเด็นที่เป็น “คอขวด” ของการแก้ปัญหาน้ำเสียและขยะในเชิงนโยบายแก่ผู้สมัครผู้ว่าฯ ไว้หลายประเด็น เช่น การจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย เพื่อมีระบบสามารถที่ดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ หรือการลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านขยะ
ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครสังกัดพรรคก้าวไกล กล่าวว่า นโยบายที่สำคัญคือการแยกท่อระบายน้ำให้ท่อน้ำฝนและท่อน้ำเสียออกจากกัน เพื่อลดปริมาณน้ำเสียที่ต้องบำบัดและได้น้ำดีกลับมาใช้ในด้านต่างๆ รวมถึงไม่ต้องการที่จะเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากผู้ใช้น้ำระดับครัวเรือน แต่เน้นการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียในอัตราสูงกับกลุ่มทุนที่ทำธุรกิจ เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้าให้มากขึ้น
“คนที่สร้างขยะและปล่อยน้ำเสียใน กทม. มากที่สุดไม่ใช่คนในบ้านหลังเล็กๆ แต่เป็นนักธุรกิจที่ลงทุนในอาคารขนาดใหญ่ เช่น ห้าง โรงแรม และคอนโดหรู ดังนั้นการเพิ่มอัตราการเก็บค่าบำบัดน้ำเสียและค่ากำจัดขยะอาจต้องเริ่มเริ่มจากคนกลุ่มนี้ก่อน ในส่วนของจัดการขยะนั้น ต้องทำให้ชุมชนเข้าถึงงบประมาณของ กทม.เพื่อนำไปรูปแบบหรือระบบจัดการขยะและน้ำเสียในชุมชนของเขาเองให้ได้ ซึ่งตรงนี้เมื่อรวมกับการแก้ปัญหาการดำเนินการของโรงกำจัดมูลฝอยของศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช หรือโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมไปกับการสร้างจิตสำนึกและแรงจูงใจ ก็จะช่วยให้กรุงเทพฯหลุดพ้นจากวังวนของปัญหานี้ได้”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นกันว่า นอกจากจะเห็นด้วยกับการงดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียกับคนที่ใช้น้ำน้อย หรือปล่อยน้ำเสียน้อย และไปเก็บในอัตราก้าวหน้ากับผู้ที่สร้างน้ำเสียในปริมาณสูงแล้ว มาตรการด้านแรงจูงใจก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่น การไม่เก็บค่าบำบัดน้ำเสียสำหรับบ้านที่มีการติดตั้งถังดักไขมัน หรือการลดค่าธรรมเนียมให้กับอาคารขนาดใหญ่ที่ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารถทำให้มีน้ำดีกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ขณะที่ปัญหาขยะ ได้เสนอมาตรการระยะสั้นคือ การ“เก็บให้ถึง” และ “เก็บให้ถี่” โดยการเพิ่มรถขยะขนาดเล็กเพื่อวิ่งไปเก็บขยะในตรอกซอกซอยได้อย่างรวดเร็ว และมาตรการระยะยาวคือ การปลูกฝังจิตสำนึกด้านขยะให้กับเยาวชนผ่านโรงเรียนของ กทม. และการสนับสนุนธนาคารขยะในระดับชุมชน
“วันนี้ กทม.เสียโอกาสมากในเรื่องของการจัดการประตูน้ำ และเครื่องสูบน้ำด้วยเจ้าหน้าที่ที่ทำให้น้ำไม่เกิดการหมุนเวียนจนกลายเป็นน้ำเสีย รวมถึงรระบายน้ำไม่ทันการณ์ในช่วงน้ำท่วม จึงควรนำเทคโนโลยีอัตโนมัติและ IOT มาใช้แทน โดยภาพรวมผมอยากให้ กทม. มีการบริหารด้วยหลักวิชาการ และหลักวิศวกรรม เพื่อทำให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มทุนและคุ้มค่า มีการกำหนด KPI เพื่อเป็นเป้าหมายในการแก้ปัญหาขยะและน้ำเสียกับผู้อำนวยการแต่ละเขต เพื่อให้สามารถส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป”
นางสาวพิชญ รอดคล้าย นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มจธ. ซี่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก แสดงความเห็นว่า เวทีนี้นอกจากจะทำให้เห็นมุมมอง แนวคิดและแนวทางของในการบริหารด้านสิ่งแวดล้อมจากผู้สมัครแต่ละคนแล้ว ยังทำให้ตนเองมองเห็นถึงโอกาสของคนรุ่นใหม่ทั้งตนเอง และเพื่อนๆ นักศึกษาที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองหลวงมากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.ประพัทธ์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ จะนำประเด็นการการบริหารจัดการน้ำเสีย และขยะ รวมถึงประเด็นคุณภาพอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน จากเวทีฯ ครั้งก่อนหน้านี้ มาสรุปเป็นข้อมูลให้กับผู้สนใจและผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับรู้ในวงกว้างต่อไป