xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ จับมือเครือข่าย เสวนา “นโยบายผู้สมัครผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ "นโยบายผู้สมัครผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน” 

โดยมีผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 4 ท่านร่วมงานเสวนา ได้แก่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และสกลธี ภัททิยกุล พร้อมด้วยวิทยากรผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษ (ศวอ.) และรศ.ดร.รณชัย ติยะรัตนชัย รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาบุคคลและชุมชน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และศาสตราจารย์ ดร. เกษม ชูจารุกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดในกิจกรรมเสวนาฯ

รศ. ดร.รณชัย ติยะรัตนาชัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัวแทนเครือข่าย กล่าวถึง แนวทางของหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs โดยเสนอให้ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ใช้แนวทางของหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประกอบไปด้วย 17 หัวข้อการพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม ในเรื่องของปัญหาปากท้อง สุขภาพ ตลอดจนการศึกษา รวมถึงการแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมต่อการใช้ชีวิต

ด้าน รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษ (ศวอ.) กล่าวว่า มาตรฐานคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงดีขึ้นตามลำดับ เป็นที่น่าพอใจของหน่วยงานรัฐ แต่หากเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงไม่เป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศในกรุงเทพมหานคร พบว่าสาเหตุหลักกว่าร้อยละ 54 มาจากการขนส่งทางถนน พร้อมทั้งเสนอแนะการจัดการคุณภาพอากาศ ได้แก่ การปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมมากขึ้นและให้สอดคล้องต่อมาตรฐานคุณภาพอากาศสากลเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษอากาศ รวมถึงการจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศหลักๆ เช่น การจัดตั้งมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถัน และการตรวจสอบรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงการสนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณะ การสื่อสารกับภาคประชาชนให้มีความรู้และข้อมูลทางด้านคุณภาพอากาศและการรับมือ

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวถึง นโยบายเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพมหานครไว้ 9 ด้านได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ด้านการเดินทางและคมนาคม ด้านโครงสร้างของสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการสร้างเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ และด้านการจัดการบริหารให้มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาด้านมลพิษอากาศ โดยจะอาศัยมาตรการทางกฎหมายมาช่วยควบคุมการแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศ โดยเน้นที่มาตรการควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด และมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่

ด้าน สกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เสนอให้ใช้มาตรการกฎหมายในการแก้ไขปัญหา การลักลอบทำผิดกฎหมายที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น การลักลอบเผาขยะ และการบริหารและความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหามลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นไปที่การจัดการขยะภายในเขตกทม. โดยเห็นควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและความรับผิดชอบในการจัดการปัญหาขยะมากขึ้น เพื่อลดต้นตอส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งทางสาธารณะ

ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวเสนอแนวทางการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดเสมอภาคในสังคม โดยมุ่งแนวคิดผู้ก่อให้เกิดปัญหาต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีแนวคิดเสนอมาตรการในการดำเนินการกับผู้ให้กำเนิดมลพิษ ต้องเป็นผู้ที่จัดการกับมลพิษด้วยตนเอง โดยไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้ก่อมลพิษต้องรับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ยังเน้นย้ำการใช้กฎหมายที่เคร่งครัดในการจัดการกับมลพิษที่แหล่งกำเนิด เช่น การใช้กฎหมายสั่งควบคุมการปล่อยมลพิษจากปากปล่องของโรงงาน ถ้ามีค่าเกินมาตรฐาน ต้องถูกสั่งปิดจนกว่าจะสามารถบำบัดมลพิษให้ได้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพอากาศ

และ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวถึงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ด้วยหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะเน้นการพัฒนาในเรื่องการขจัดความยากจน ปัญหาปากท้อง และมาตรฐานการศึกษาให้ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ว่าควรมีการดำเนินการในระดับของนโยบาย เพื่อสร้างแนวทางในการแก้ไขปัญหา เน้นการมองภาพโดยรวมของปัญหา และควรมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ทั่วพื้นที่ในเขตกทม. โดยขอความร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อกระจายความรู้และข้อมูลด้านมลพิษและคุณภาพอากาศให้ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงการใช้เครื่องมือทางด้านกฎหมายและเศรษฐกิจในการควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด

ทั้งนี้ สามารถรับชมงานเสวนา "นโยบายผู้สมัครผู้ว่า ผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน” หัวข้อ การจัดการคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร ย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/ChulalongkornUniversity