xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” สั่งแก้ปัญหา PM 2.5 ต่อเนื่อง ชื่นชม จนท.และ ปชช.ร่วมมือจนผลกระทบลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เดินหน้าแก้ไขปัญหา PM 2.5 กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง พร้อมชื่นชมเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาจนผลกระทบลดลง

วันนี้ (27 มี.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นย้ำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั่วทั้งประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยผลกระทบที่อาจส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ และสุขภาพของประชาชน ซึ่งเกิดจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ โดยได้กำชับให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 - 23 มีนาคม 2565 ได้มีการตรวจสอบตรวจวัดควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารทั่วประเทศ และปรับปรุงค่ามาตรฐานควันดำโดยเพิ่มความเข้มงวดและประสิทธิภาพการแก้ปัญหา PM  2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทรถยนต์ โดยปรับมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมไม่เกินร้อยละ 45 และค่ากระดาษกรองไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมไม่เกิน ร้อยละ 50 หากตรวจพบค่าควันดำเกินกำหนดจะลงโทษเปรียบเทียบปรับสถานหนัก 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถทันที ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายนนี้

สำหรับปัญหามลพิษอากาศจากหมอกควันและไฟป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ซึ่งในปี 2564 สามารถดำเนินการเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 2,800 ตัน จากเป้าหมาย 1,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 400,000 ไร่ ทำให้จำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ลดลงร้อยละ 60 และในปี 2565 มีการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสามารถเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 1,310 ตัน จากเป้าหมาย 3,000 ตัน และคาดว่า จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปรับแนวคิดและระบบในการทำงานแบบใหม่ สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับชุมชน พร้อมทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

รายงานของกรมควบคุมมลพิษ ยังพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 26 วัน ลดลงร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 67 วัน และในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 38 วัน ลดลงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 69 วัน นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 มีนาคม 2565 จำนวนจุดความร้อนในภาพรวมของประเทศไทย เหลือ 31,082 จุด ลดลงร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 79,441 จุด

“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพและให้ประชาชนภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ที่เคยมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินกำหนด และประสบปัญหาหมอกควัน ได้รับผลกระทบลดลง ซึ่งรัฐบาลยืนยันจะดำเนินการต่อไป เพื่อให้จะเห็นผลที่เด่นชัดเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกคน รวมทั้งประชาชนที่มีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง ซึ่งหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันสานต่อการดำเนินการ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป” นายธนกร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น