วันที่ ๒๖ มีนาคม ถือกันว่าเป็น “วันสถาปนากิจการรถไฟไทย” จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่างสถานีกรุงเทพฯ-อยุธยา เป็นระยะทาง ๗๑ กิโลเมตรในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙ ถึงวันนี้ก็แสดงว่าเรามีรถไฟมา ๑๒๖ ปีแล้ว
เส้นทางช่วงนี้เป็นช่วงแรกของการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งเป็นสายแรกของประเทศ มีระยะทาง ๒๖๕ กิโลเมตร ทรงประกอบพระราชพิธีพระฤกษ์เริ่มสร้างมาตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๓๔ เมื่อเสร็จไปถึงอยุธยาแล้วจึงทรงเปิดให้ประชาชนได้ใช้ก่อนในวันที่ ๒๖ มีนาคม โดยเดินรถขึ้นล่องวันละ ๔ ขบวน มี ๙ สถานีคือ สถานีกรุงเทพฯ บางซื่อ หลักสี่ หลักหก คลองรังสิต เชียงรากน้อย บางปะอิน และกรุงเก่า
รถไฟสายนี้เป็นรถไฟหลวง จึงถือเอาวันที่ ๒๖ มีนาคมที่เริ่มเปิดเดินรถเป็น “วันสถาปนารถไฟไทย”
แต่ความจริงเรามีรถไฟมาก่อนหน้านั้นแล้วถึง ๓ ปี ในปี ๒๔๒๙ รัฐบาลได้ให้สัมปทานแก่บริษัทของชาวเดนมาร์ค สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำสมุทรปราการ ระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร เป็นเวลา ๕๐ ปี แต่มาเริ่มสร้างในปี ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดเดินรถในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๓๖ พระราชดำรัสในครั้งนั้นมีความว่า
“...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อๆไปอีกเป็นจำนวนมากในเร็วๆนี้ เราหวังใจว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก...”
รถไฟสายปากน้ำมี ๑๒ สถานี คือ สถานีบางกอก ซึ่งอยู่ริมคลองตรงข้ามกับสถานีหัวลำโพงในปัจจุบัน สถานีต่อไปคือ ศาลาแดง คลองเตย บ้านกล้วย พระโขนง บางจาก บางนา สำโรง จรเข้ บางนางเกรง มหาวง และสถานีปากน้ำ ตรงท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งพระสมุทรเจดีย์
เมื่อเริ่มแรกรถไฟสายนี้ก็ใช้หัวรถจักรไอน้ำ ต่อมาบริษัทนี้ได้สัมปทานทำโรงไฟฟ้าที่ถนนมหาพฤฒาราม จึงได้เปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถรางของกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมใช้ม้าลาก และบริษัทนี้ได้ซื้อกิจการมาดำเนินการด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการใช้รถไฟฟ้าเป็นรถโดยสารแห่งแรกในโลก
กิจการรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำประสบกับการขาดทุน ทางราชการจึงได้ให้กู้ยืมเพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ให้บริษัทต่างชาติกู้เงิน ทั้งนี้นอกจากเพื่อไม่ให้รถไฟสายแรกของไทยต้องล้มเหลวแล้ว ทางรถไฟสายนี้ยังถือเป็นสายยุทธศาสตร์ป้องกันปากน้ำเจ้าพระยา เคลื่อนย้ายทหารได้รวดเร็ว
หลังสิ้นสุดสัมปทานรถไฟสายปากน้ำ กรมรถไฟได้ดำเนินกิจการต่อ จนกระทั่งเลิกไปเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๓ ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรื้อทางรถไฟ ถมคลอง ขยายเป็นถนนพระราม ๔ ร่องรอยของเส้นทางรถไฟสายนี้ที่ยังเหลืออยู่ ก็คือเส้นทางรถยนต์ที่เรียกกันว่า “ถนนทางรถไฟสายเก่า” นั่นเอง
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของตำนานรถไฟในประเทศไทย