มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม โดยการสนับสนุนของโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เปิดตัวนิทรรศการ “Co-Labs: The Collaboration ร่วมกัน...สรรค์สร้าง” ส่วนที่สอง โดยเปิดพื้นที่ทดลองสร้างสรรค์นวัตกรรมทางศิลปะผ่านการร่วมมือของศิลปินดีไซเนอร์ระดับประเทศ “มุก เพลินจันทร์ วิญญรัตน์” กับศิลปินผ้าทอผู้มีความต้องการพิเศษ “ไกรลาส สกุลดิษฐ์” และศิลปินรุ่นใหม่ผู้รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่าง “วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์” กับการสร้างงานจากแรงบันดาลใจของกวีแร็คคูนข้างเดียวผู้มีภาวะออทิสซึม เติมแรงบันดาลใจให้สังคมและเปิดพื้นที่ความเข้าใจในความแตกต่าง การก้าวข้ามความท้าทาย และการร่วมมือในสังคมของคนทุกคน โดยจัดการแสดงระหว่างวันที่ 29 มีนาคม ถึง 24 เมษายน 2565 ณ ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ศิระ อุดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวในฐานะของผู้สนับสนุนหลักของโครงการว่า “องค์กรของเราเชื่อมั่นมาโดยตลอดในเรื่องความแตกต่าง “ร่วมกัน…สร้างสรรค์” เป็นคำที่อธิบายได้ดีถึงสิ่งที่พวกเราได้พยายามยืนหยัดรวมพลังสนับสนุนความคิด ตัวตน และการแสดงออกที่แตกต่างพวกเราทุกคนคือคนที่ไม่สมบูรณ์แบบ แตกต่าง แต่เติมเต็ม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่พวกเราทำอยู่นี้ จะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความงามจากภายใน ผ่านงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ของศิลปินที่มีความต้องการพิเศษ ปล่อยให้วิญญาณของเราเชื่อมกัน เพื่อทลายกำแพงแห่งความไม่เข้าใจ เพื่อการอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันอย่างมีคุณค่า”
โรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ ประธานมูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม กล่าวถึงการร่วมมือในครั้งนี้ว่า “มูลนิธิ เดอะ เรนโบว์ รูม มีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักและเชิญชวนให้สังคมก้าวข้ามความเชื่อเดิมๆ และหันมามองความเป็นไปได้และศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเขามีความฝัน ความตั้งใจ ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะได้ทำในสิ่งที่เขารัก ให้เขาได้เชื่อมโยงกับคนอื่นๆ สังคมผ่านงานศิลปะ ซึ่งเป็นภาษาแห่งจิตวิญญาณ เรารู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครสำหรับพื้นที่แสดงศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนจากองค์กรธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์และตระหนักถึงความเป็นไปได้และเชื่อมั่นในความงดงามของความแตกต่างอย่างโนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ และภาคีอื่นๆ ที่ร่วมมือกับเราในการลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง และร่วมกันก้าวสู่สังคมของคนทุกคนอย่างเป็นรูปธรรม”
“Co-Labs: The Collaboration ร่วมกัน...สรรค์สร้าง” เป็นความพยายามที่จะมอบพื้นที่ในการสร้างผลงานข้ามสายพันธุ์ เพื่อให้โอกาสในการก้าวข้ามความท้าทายของบุคคลผู้มีความต้องการพิเศษ พื้นที่อันกว้างใหญ่จากความคิดสู่การสร้างสรรค์ให้เป็นจริงนี้ มีภาษาของจินตนาการและศิลปะเป็นเครื่องมือหลัก ซีรีส์ความร่วมมือในครั้งนี้มีทั้งหมด 3 โครงการ เป็นการทดลองทำงานร่วมกันผ่านกระบวนการทางศิลปะอันหลากหลาย เป็นห้องทดลองไร้ข้อจำกัดที่มีแรงบันดาลใจระหว่างกันเป็นสารตั้งต้นและมีวัสดุสารพัดนึกเป็นวัตถุดิบ การร่วมกันคิดและปล่อยให้จินตนาการโลดแล่นไปตามแรงบันดาลใจในช่วงเวลาที่ท้าทายของโรคระบาดเช่นนี้ เป็นกระบวนการที่กำลังพาทุกคน ”ก้าวข้าม” ข้อจำกัด เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างและแรงบันดาลใจ ให้กับการเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อสังคมของทุกๆ คน” ประคำกรอง พงษ์ไพบูลย์ วชิรวรภักดิ์ ตัวแทนอาร์ตคอนเนคชั่นและภัณฑารักษ์ของโครงการกล่าวถึง คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการชุดนี้
ในส่วนของการร่วมมือของศิลปินนั้น เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ศิลปินนักออกแบบสิ่งทอระดับแนวหน้าของประเทศไทยกล่าวว่า “รู้สึกมีความสุขที่ได้มีโอกาสร่วมโครงการนี้ เพราะชื่นชมงานของไกรลาส สกุลดิษฐ์ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการ “Language of The Soul ภาษาแห่งจิตวิญญาณ” ตั้งแต่ปีที่แล้ว และประทับใจในความทุ่มเทของคุณแม่เกษณี สกุลดิษฐ์ ที่สนับสนุนความสนใจและความชื่นชอบการทอผ้าของลูกชาย มุกจึงรู้สึกสนุกกับการร่วมมือสร้างสรรค์ชิ้นงาน เราใช้แรงบันดาลใจจากความชอบ “แพนด้า” ของไกรลาศ โดยให้เขาใช้เป็นกรอบของการทอจากการตีความของเขาเอง เขาสามารถก้าวข้ามความท้าทายจากการทอผ้ากี่แบบที่คุ้นชิน และใช้เทคนิคใหม่ๆ เราเรียกงานชิ้นนี้ว่า “คอร์ฟู (คัลเล่อร์ฟูล) แพนด้า” เพราะมีสีสันสดใสตามความชอบของเขา สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการร่วมมือทำงานด้วยกันคือ ไกรลาสสามารถก้าวข้ามความรู้สึกกังวลกับความเปลี่ยนแปลง และสร้างงานศิลปะชิ้นนี้อย่างต่อเนื่องด้วยความกระตือรือร้นและความมุ่งมั่น ซึ่งน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง”
ทางด้านวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ด้วยความเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนรอบตัวมีคุณค่าทั้งบุคคลและสิ่งของ การร่วมมือกันโดยนำเอาศักยภาพที่ตนเองถนัดมาเป็นต้นทุนจะก่อให้เกิดสิ่งใหม่เกิดขึ้นบนโลก “ผลงาน “Imperfection Is Perfection. A Beautiful Perspective of Life” ได้แรงบันดาลใจจากบทกวีของแร็คคูนข้างเดียว กวีผู้มีภาวะ ออทิสซึม และการพูดคุยกัน โดยมีกระบวนการนำเอาวัสดุเหลือใช้ที่มีคุณสมบัติและสีสันที่ต่างกันนำมาผสมผสานจนเกิดเป็นสัตว์มหัศจรรย์ ซึ่งเป็นความงามในรูปแบบใหม่ โดยมี “ทีมหุ่นเจ้าขุนทอง” มาช่วยออกแบบการเคลื่อนไหวให้ ผลงานชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนการร่วมมือกันเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้มองเห็นคุณค่าของตนเอง ภูมิใจในศักยภาพที่ตนเองมี พร้อมทั้งเคารพและเข้าใจในความหลากหลายที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสง่างาม”
นิทรรศการ “Co-Labs: The Collaboration ร่วมกัน...สรรค์สร้าง” มี 3 ความร่วมมือด้วยกันคือ งาน “คอร์ฟู แพนด้า” ของเพลินจันทร์และไกรลาส งาน “Imperfection Is Perfection. A Beautiful Perspective of Life” ของวิชชุลดาและแร็คคูนข้างเดียว และภาพถ่ายฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียนของศิลปินช่างภาพฟิล์มกระจก นิโก้ เซเป้ และ 10 ศิลปิน Language of The Soul ซึ่งจัดแสดงบนชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครถึงวันที่ 10 เมษายน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Language of The Soul ภาษาแห่งจิตวิญญาณ” นิทรรศการศิลปะเพื่อความแตกต่าง
เมื่อหัวใจพูด อัศจรรย์ก็ปรากฏ