ในแวดวงเพลงสากลของไทย ชื่อของ เอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” คงจะไม่เลือนหายไปได้ง่ายๆ แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปพร้อมกับความนิยมเพลงในท่วงทำนองใหม่ๆ แต่ “เพลงสุนทราภรณ์” ซึ่งเป็นแบบฉบับหนึ่งของ “เพลงลูกกรุง” นอกจากจะเป็นความประทับใจของคนร่วมยุคสมัยแล้ว ยังได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นต่อๆมาที่ซาบซึ้งกับความงดงามของภาษาและรื่นรมย์ไปกับท่วงทำนองของเพลงที่ยังรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้
เอื้อ สุนทรสนานเป็น นักร้องที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังแต่งทำนองเพลงที่เป็นเอกลักษณ์อีกเช่นกัน คนแค่ฟังทำนองก็รู้ว่าเป็นเพลงสุนทราภรณ์ ด้วยเหตุนี้ “ครูเอื้อ” จึงได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานถึง ๔ ครั้ง ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษในปี ๒๕๑๘ มีผลงานเพลงที่บันทึกเสียงไว้กว่า ๑,๐๐๐ เพลง ครอบคลุมทั้งเพลงเทศกาลต่างๆ เช่นปีใหม่ ลอยกระทง เพลงปลุกใจต่างๆ เพลงรำวง เพลงลีลาส ฯลฯ และยังไม่ได้บันทึกเสียงอีกกว่า ๗๐๐ เพลง ได้รับสมยาว่า “ขุนพลเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูเป็น “บูรพศิลปิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาศิลปะการแสดง” เป็นศิลปินทางดนตรีคนแรกของไทยที่องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ในปี ๒๕๕๓ ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของ เอื้อ สุนทรสนาน
“ครูเอื้อ” เป็นชาวสมุทรสงคราม เกิดที่อัมพวาเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๕๓ จากครอบครัวของชาวสวน บิดายังมีความสามารถพิเศษทางศิลปะในการแกะหนังใหญ่และเชิดหนังใหญ่ เริ่มเรียนหนังสือแถวบ้านเกิดจนอายุ ๗ ขวบจึงมาเรียนต่อที่วัดระฆังโฆสิตาราม โดยอาศัยอยู่กับ หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ) พี่ชายคนโต ซึ่งรับราชการพากย์โขนอยู่ในกรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ ๖ และได้รับพระราชทานนามสกุล “สุนทราภรณ์”
เมื่อจบชั้นประถม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้ง ร.ร.พรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน เพื่อสอนดนตรีทุกประเภท ซึ่งตอนนั้นทรงเริ่มนำเครื่องสายฝรั่งพร้อมครูฝรั่งเข้ามาสอน ครูเอื้อชอบเครื่องดนตรีฝรั่งโดยเฉพาะไวโอลิน และสีได้เก่งจนเป็นที่ชื่นชมของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ครูใหญ่
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ขณะครูเอื้อยังเป็นนักเรียนอยู่ในวงเครื่องสายฝรั่งหลวง นารถ ถาวรบุตร เพื่อนรุ่นพี่ได้ชวนไปเล่นไวโอลินตามเบียร์ฮอลล์และบาร์ฝรั่งแถวสีลมและสาทร ทั้งขยายความสัมพันธ์ไปถึงคณะละครร้องๆต่างๆ เช่น คณะปรีดาลัย และคณะแม่เลื่อน แม่ชะม้อย ที่โด่งดังอยู่ในขณะนั้น จนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ยุคบุกเบิก
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ขณะที่ยังเป็นนักเรียนอยู่นั้น ครูเอื้อได้ร้องเพลงแรกในชื่อ “นาฏนารี” ซึ่งนารถ ถาวรบุตรเป็นผู้แต่ง ต่อมาในปี ๒๔๗๙ ก็ได้ร้องเพลง “ในฝัน” ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ถ่านไฟเก่า” จากการสร้างของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล และทรงเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงนี้ซึ่งแต่งทำนองโดยท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ทั้งยังร่วมบรรเลง “บัวขาว” เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
ในปี ๒๔๘๒ กรมโฆษณาการ ซึ่งก็คือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ดำริจะให้มีวงดนตรีประจำกรม จึงมอบให้เอื้อ สุนทรสนานนำคณะเข้ามาตั้งเป็น “วงหัสดนตรีกรมโฆษณาการ” แต่เมื่อรับงานนอกก็ใช้ชื่อว่า “วงดนตรีสุนทราภรณ์” มาจาก สุนทรสนานกับอาภรณ์ กรรณสูต ชื่อของสาวคนรัก
นักร้องของกรมโฆษณาการรุ่นแรกในทีมของครูเอื้อนั้นก็มี มัณฑนา โมรากุล รุจี อุทัยกร ล้วน ควันธรรม ชวลี ช่วงวิทย์ วินัย จุลบุษปะ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นต้น
ในปี ๒๔๘๙ ครูเอื้อได้ข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้รับพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ ๔ เพลง คือ แสงเทียน ใกล้รุ่ง ยามเย็น และสายฝน ครูเอื้อได้บันทึกเสียงถวาย และขับร้องเพลงแสงเทียนเป็นคนแรก
เพลงสุนทราภรณ์ ไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมกันในประเทศไทยเท่านั้น หลายเพลงยังเป็นที่นิยมกันในต่างประเทศด้วย อย่าง “ลอยกระทง” เป็นเพลงที่ชาวต่างชาติรู้จักกันมาก ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ไปทั่วโลก รวมทั้งเพลง “ขวัญใจเจ้าทุย” ซึ่งเป็นแผ่นเสียงขายดีที่สุดของเพลงสุนทราภรณ์แล้ว เมื่อ สดใส วานิชวัฒนา หรือ รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล นำไปร้องที่อเมริกา ก็ถูกนำไปบันทึกเป็นแผ่นเสียงโดยมีคำร้องทั้งไทยและอังกฤษสลับกัน
เอื้อ สุนทรสนาน ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ ด้วยโรคเนื้อร้ายในปอด ขณะมีอายุได้ ๗ ปี ๒ เดือน ๑๑ วัน