xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่า! วัยรุ่นกัมพูชาฮิตแต่งชุดไทยเที่ยวโบราณสถาน จนรัฐบาลต้องสั่งเบรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มีประเด็นดราม่าของชาวเน็ตไทย-กัมพูชา ที่ต่างมาคุยข่มกันเรื่องชุดประจำชาติที่ดูแล้วชุดที่ชาวกัมพูชาใส่มันช่างดูคล้ายชุดไทยเสียเหลือเกิน โดยขณะนี้ในประเทศกัมพูชา เหล่านักท่องเที่ยวกำลังนิยมเช่าเครื่องแต่งกายแบบย้อนยุคเพื่อใส่ถ่ายรูปที่โบราณสถาน โดยเฉพาะในนครวัด แหล่งโบราณสถานมรดกโลก แต่ชุดเหล่านั้นมองไปมองมากลับเหมือนชุดไทย จนเป็นกระแสให้ชาวเน็ตไทยและกัมพูชาถกเถียงกันว่าใครเลียนแบบใคร

แต่ทั้งนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์กัมพูชาเองก็ได้ออกมาสั่งเบรคเอง โดยเตือนผู้ให้บริการเช่าชุดเพื่อถ่ายภาพในโบราณสถานเหล่านี้ว่า ขอให้ผู้ให้บริการระมัดระวังมากขึ้น โดยนายหลง สิริวัธ โฆษกกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์กัมพูชา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเช่าชุดแต่งกายแบบเขมรโบราณเป็นจำนวนมาก ในจังหวัดเสียมเรียบ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่พบมัคคุเทศก์นำเที่ยวบางราย ให้นักท่องเที่ยวแต่งกายชุดเขมรดั้งเดิมแบบไม่ถูกต้อง กระทรวงฯ ไม่ได้ห้ามหรือระงับ การทำธุรกิจให้เช่าชุดแต่งกาย เพียงแต่ขอให้ผู้ให้บริการ รวมทั้งไกด์นำเที่ยว ระมัดระวังการแต่งกายของลูกค้าให้ถูกต้อง ตามแบบชุดของชาวเขมรดั้งเดิม

ภาพจาก phnompenhpost.com โดย Hong Menea

ภาพจากผู้ใช้เฟซบุค Viroj Tuntikula
อีกทั้งเร็วๆ นี้ทางกระทรวงฯ จะออกหนังสือคู่มือแนะนำบรรดาผู้ให้บริการเช่าชุดในปราสาทนครวัด แต่งกายให้นักท่องเที่ยวอย่างถูกต้องตามแบบชาวเขมรดั้งเดิม เพื่อเป็นการเคารพสถานที่ และต่อไปหากนักท่องเที่ยวแต่งกายไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพในบริเวณปราสาทเลยทีเดียว

สำหรับในประเด็นที่ว่าชาวเขมรเลียนแบบชุดไทย? หรือชุดไทยมีที่มาจากเขมรนั้น? เพจโบราณนานมาให้ข้อมูลว่า

...วัฒนธรรม การแต่งกาย ภาษา การกิน การอยู่ ฯลฯ ของไทยน่าจะเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลในเขมร ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในสมัยก่อนเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะมีประเพณีหนึ่ง คือ การชุบเลี้ยงดูองค์รัชทายาทเขมรเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ในฐานะลูกเจ้าเมืองประเทศราช (เมืองขึ้น) ซึ่งเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ เพื่อมิให้เขมรเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อสยาม (ไทย) เหตุการณ์และประเพณีนี้เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔ รวมเวลาทั้งสิ้น ๗๓ ปี
กษัตริย์กัมพูชาทุกพระองค์ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ไปจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (ยกเว้นสมเด็จพระนางเจ้ามี) ล้วนเคยได้รับการศึกษาในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น


ภาพจากผู้ใช้เฟซบุค Viroj Tuntikula

ภาพจากผู้ใช้เฟซบุค Viroj Tuntikula
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า “...ในราชสำนักกรุงกัมพูชาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนโรดมนั้นใช้ภาษาไทยเป็นพื้น “เพราะเมื่อครั้งสมเด็จพระนโรดมตรัสแต่ภาษาไทย ถึงกล่าวกันว่าตรัสภาษาเขมรมิใคร่คล่อง”...”

นั่นเองจึงเป็นที่มาของความคล้ายคลึงวัฒนธรรมกัมพูชา (ในปัจจุบัน) ที่คล้ายกับวัฒนธรรมไทยเอามาก ๆ

แม้แต่สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีต่างพระมารดาในกษัตริย์ รัชกาลปัจจุบัน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และเป็นพระราชธิดาในกษัตริย์รัชกาลก่อน พระองค์ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับทาง Khmer Dance Project คือโครงการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะการแสดงของเขมรซึ่งมี New York Public Library ให้การสนับสนุน) ว่า “...ตั้งแต่ยุคนักองค์ด้วง กษัตริย์นโรดม และกษัตริย์สีสุวัตถิ์ อิทธิพลจากไทยมีสูงมาก เพราะเราขาดแคลนครู ครูจากไทยเดินทางมาถึงราชสำนักเขมร บางทีครูเขมรก็ไปที่ราชสำนักไทย นี่เป็นช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างราชสำนักไทยและราชสำนักเขมร...”

“มันคือการผสมผสานอย่างแท้จริง” สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวีกล่าว


ภาพจากผู้ใช้เฟซบุค Viroj Tuntikula

ภาพจากผู้ใช้เฟซบุค Viroj Tuntikula
พระองค์กล่าวว่า “...ทางฝ่ายกัมพูชาได้รับความรู้จากครูไทยแล้วก็นำไปประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของตัวเอง หลังจากนั้นระบำของราชสำนักเขมรกับราชสำนักไทยก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน...”

สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี ยังบอกว่า “...ในสมัยกษัตริย์สีสุวัตถิ์ ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ ของไทย เครื่องแต่งกายของนางรำก็ยังเป็นแบบไทยอยู่ ก่อนที่ทางคณะละครของกัมพูชาจะดัดแปลงให้เป็นแบบของกัมพูชาเอง...” จึงไม่แปลกที่การแสดงเรื่องรามายณะดัดแปลงฉบับกัมพูชาจะมาคล้ายคลึงกับ “โขน” ของไทย

และนี่ก็เป็นหลักฐานของการ “แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม” ของสองราชสำนักที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ...


เพจโบราณนานมายังกล่าวอีกด้วยว่า ...เรื่องนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ที่เห็นได้ช่วงเลือกตั้งของประเทศกัมพูชา เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง ก็จะมีการปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่คนกัมพูชาให้เกลียดชังประเทศไทย กล่าวหาว่าไทยไปขโมยวัฒนธรรม พวกสยามเป็นพวกขี้ขโมย โขนเป็นของพวกเรา ฯลฯ เป็นที่น่าเศร้าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็จะมีคนคล้อยตามและอินเป็นส่วนใหญ่...





กำลังโหลดความคิดเห็น