พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรอเฝ้าฯ รับเสด็จ
วันนี้ (30 มี.ค.) เมื่อเวลา 17.28 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ทรงรอเฝ้า ฯ รับเสด็จ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน เฝ้า ฯ รับเสด็จ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางพุ่มดอกไม้ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
จากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังศาลาศิริราช 100 ปี ถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาส พระราชวโรกาส ให้รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมณี รัตนไชยานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธวัชชัย อัครวิพุธ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตร
ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ทอดพระเนตร นิทรรศการ "นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์" และพื้นที่ภายในอาคาร ฯ ตามลำดับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ไปทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม แด่พระสงฆ์ที่เจริญชัยมงคลคาถา ทรงหลั่งทักษิโณทก แล้วพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้ให้การสนับสนุนการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา และผู้มีอุปการคุณและผู้ทำคุณประโยชน์แก่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จำนวน 100 ราย
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไปยัง อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ทอดพระเนตรนิทรรศการ "นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์" โดยแบ่งเนื้อหาการจัดแสดงเป็น 3 โซนประกอบด้วย โซนที่ 1 ศิริราชในสายพระเนตร นำเสนอภาพถ่ายของศิริราชในมุมมองต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้ทอดพระเนตร โซนที่ 2 สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ทรงสรรค์สร้าง นำเสนอเกี่ยวกับความเกี่ยวเนื่องของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในส่วนของอาคารต่างๆ และเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนา รวมถึงภาพรวมและศักยภาพของอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา และโซนที่ 3 บนเส้นทางแห่งพัฒนาวิถีประกอบด้วย บอร์ดที่ 1. ศูนย์รังสีวินิจฉัย บอร์ดที่ 2. หอผู้ป่วยวิกฤต ICCU, CCU, ICU, R CU บอร์ดที่ 3. ระบบจัดยาอัตโนมัติ และวิดีโอคลิป บนจอภาพ LED 3x6 เมตร
ต่อมาเสด็จลงยังชั้น B2 ศูนย์รังสีรักษา ทอดพระเนตรเครื่องมือรังสีรักษา ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็คตรอนพร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องแรกและเครื่องเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยมีจุดเด่นในการฉายรังสีปริมาณสูงพร้อมไปกับการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในแต่ละวันของการฉายรังสีได้ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดของก้อนมะเร็งและอวัยวะข้างเคียงได้อย่างชัดเจน เพิ่มความแม่นยำในการฉายรังสี นอกจากนี้ในขณะฉายรังสี เครื่องMR Linac สามารถให้ข้อมูลภาพ MRI แบบ Real-timeทำให้สามารถติดตามตำแหน่งของผู้ป่วยและก้อนมะเร็งรวมถึงอวัยวะข้างเคียงได้ตลอด หากพบว่ามีการเคลื่อนที่ออกนอกขอบเขตที่วางแผนไว้หรือตำแหน่งของอวัยวะข้างเคียงเคลื่อนที่เข้ามาในบริเวณที่ฉายรังสีมากจนเกินไป สามารถที่จะหยุดการฉายรังสีและปรับตำแหน่งให้ตรงเพื่อเริ่มฉายรังสีใหม่ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยได้รับในเวลาเดียวกัน
จากนั้นเสด็จ ฯ ไปยังห้องประชุมใหญ่ ชั้นที่ 26 เสด็จเข้าห้องประทับรับรองทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึกประทับพักพระราชอิริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย แล้วเสด็จ ฯ ไปยังบริเวณฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อม สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและคณะกรรมการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา
เมื่อสมควรแก่เวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต การนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสด็จฯในโอกาสนี้ด้วย
อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” เป็นอาคารที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสเฉลิม พระชนมพรรษา 84 พรรษา และเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นที่ในการให้บริการทางการแพทย์ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในของโรงพยาบาลศิริราช ที่นับวันจะมีความซับซ้อนและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงเพิ่มคุณภาพการบริการอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการประสานงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 100 ล้านบาท สมทบทุนสร้าง “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มอีก จำนวน 700 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ใน “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตลอดจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน
นอกจากนี้ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อสมทบทุน “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” มาอย่างต่อเนื่อง
อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เป็นอาคารสูง 25 ชั้น มีชั้นพื้นดิน 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช มีพื้นที่ใช้สอยถึง 67,551 ตารางเมตร สามารถบริการแบบเต็มศักยภาพโดยรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000 รายต่อปี ขณะที่เตียง ICU เพิ่มขึ้นถึง 62 เตียง ที่สำคัญภายในอาคารมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการแบ่งส่วนงานบริการเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน และงานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ