xs
xsm
sm
md
lg

พระที่นั่งอนันตสมาคมหลังแรกสร้างขึ้นเพื่อ “สมาคมที่ไม่มีสิ้นสุด”! หลังใหม่สร้างประวัติศาสตร์ไว้มาก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



คงไม่มีใครไม่รู้จักพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งที่โอ่อ่าสง่างามในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกของประเทศไทย และเป็นพระที่นั่งหินอ่อนองค์เดียวในประเทศ ออกแบบโดย นายมาริโอ มาตาญโญ สถานิกชาวอิตาเลียน โดยได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากวิหารเซนต์ปีเตอร์ ของนครวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอล ของกรุงลอนดอน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ซึ่งกระทรวงวังได้มีประกาศเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๕๐ มาก่อนว่า โปรดเกล้าฯให้เรียกนามพระที่นั่งองค์ใหม่ที่จะสร้างขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิตว่า “พระที่นั่งอนันตสมาคม”

ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อใหม่ เดิมเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งเป็นพระราชมนเทียร หรือเรือนหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อใช้เป็นที่ออกว่าราชการและออกรับคณะทูตที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี กับเป็นที่แสดงเครื่องราชบรรณาการที่ประเทศในยุโรปนำมาถวาย
 
เนื่องจากในยุคนั้นสยามเริ่มเปิดประเทศค้าขายกับประเทศตะวันตก มีชาวยุโรปเดินทางเข้ามาจำนวนมาก จึงทรงสร้างในแบบผสมผสานศิลปะตะวันตก แสดงความศิวิไลซ์ของสยาม เป็นพระที่นั่ง ๒ ชั้น มี ๓ มุข มุขกลางยาวใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับว่าราชการและประกอบพระราชพิธีต่างๆ อีก ๒ มุขเป็นห้องเล็กเป็นที่เข้าเฝ้าของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งอนันตสมาคม” มีความหมายว่า “สมาคมที่ไม่มีสิ้นสุด”
 
นายเอ.บี.กริสโวลด์ ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยและราชสำนักสยาม ได้กล่าวถึงสถาปัตยกรรมของพระอภิเนาว์นิเวศน์ว่า
 
“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักก่อสร้างที่สำคัญ พระองค์โปรดดัดแปลงสถาปัตยกรรมแบบยุโรปให้เข้ากับความต้องการของชาวไทย ที่โปรดมากคืออาคารปูนปั้นชั้นเดียวที่เย็นสบาย มีหลังคาเป็นริ้วและมีแนวสันอยู่ด้านหน้า อาคารแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมแบบกรีกรุ่นหลังในแคว้นคาโรไลนาใต้ และแคว้นหลุยเซียนา ในสหรัฐอเมริกา แต่มีรูปร่างเรียบๆกว่า สถาปัตยกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตกแต่งด้วยลวดลายเครื่องประดับแบบจีนอย่างงดงาม ลวดลายแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในรัชกาลก่อน การผสมกันเช่นนี้ได้สัดส่วนและสวยงาม ไม่สู้แปลกประหลาดเหมือนดังที่อาจคาดคิด ทั้งนั้นเพราะส่วนผสมก็เป็นเช่นเดียวกับชิปเปนเดล (Chippendale) คือ เครื่องเรือนของประเทศอังกฤษในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ แสดงการผสมของศิลปะหลายแบบนั่นเอง”

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ นายคาร์โล อาเลกรี วิศวกรโยธาชาวอิตาเลียนได้สำรวจพระอภิเนาว์นิเวศแล้วรายงานว่า พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งประกอบขึ้นด้วยปูนและไม้ชำรุดเสียหายมาก ไม่แนะนำให้ซ่อม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงรับสั่งให้รื้อลง และเก็บส่วนที่ยังไม่เสียหายนำไปใช้ต่อไป ทั้งยังโปรดเกล้าฯให้นำชื่อพระที่นั่งอนันตสมาคมไปใช้เป็นชื่อของพระที่นั่งหินอ่อนที่จะสร้างขึ้นในพระราชวังดุสิตด้วย

พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์ใหม่ ใช้เวลาสร้าง ๘ ปี แล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๖ สิ้นค่าใช้จ่ายไป ๑๕ ล้านบาท นอกจากจะเป็นหนึ่งในความงามล้ำค่าของแผ่นดินแล้ว ยังร่วมอยู่ในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญหลายครั้ง

ในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้งานแรกของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยสวนสนามขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช

วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๕๙ ประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ มีพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกสนานที่พลับพลาที่สร้างขึ้นระหว่างพระที่นั่งอัมพรสถานกับพระที่นั่งอนันตสมาคม กับทั้งได้เสด็จออกที่สีหบัญชรด้านทิศใต้ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ เสนาอำมาตย์ ราชเสวก และประชาชนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล
 
ในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นอกจากคณะราษฎรจะใช้ลานพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ชุมนุมทหารก่อนกระจายกันออกยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ยังใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นกองบัญชาการ นำพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้ง “จอมพลวังขุนพรหม” กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และนายทหารผู้คุมกำลังของระบอบเก่า มาควบคุมตัวไว้ในพระที่นั่งก่อนเหตุการณ์จะคลี่คลาย
 
วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม และใช้พระที่นั่งแห่งนี้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาหลายสมัย ก่อนจะย้ายไปสร้างอาคารรัฐสภาแห่งที่ ๒ หลังพระที่นั่งอนันตสมาคม และเปิดใช้วันแรกในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๗

ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๐๔ มีพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม สมโภชพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชการเสด็จนิวัตพระนคร หลังจากเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ในรัชกาลนี้ได้มีพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมอีก ๓ ครั้ง รวมทั้งในปี ๒๕๔๙ ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีพระราชอาคันตุกะจาก ๒๕ ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเข้าร่วมงาน นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆมากที่สุดในโลก

วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ในสมัยรัชกาลที่ ๙ มีพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ที่พสกนิกรชาวไทยต่างปลื้มปีติ คือ พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
และพระราชพิธีสำคัญล่าสุด คือเมื่อ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
นี่คือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับพระที่นั่งอันงามสง่าล้ำค่าของประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น