xs
xsm
sm
md
lg

ประมงระยองข้องใจ รัฐไม่สำรวจความเสียหายน้ำมันรั่ว ไม่ฟ้องเอกชนกลับเร่งปิดจ็อบเยียวยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวประมงระยองและนักวิชาการข้องใจ หน่วยงานรัฐไม่สำรวจความเสียหายจากน้ำมันรั่ว หนำซ้ำไม่ฟ้องร้องเอกชน แต่กลับเร่งอำนวยการจ่ายเงินเยียวยาเท่านั้น


รายงานพิเศษ

นับจากคืนวันที่ 25 ม.ค. 2565 เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วจากท่อส่งน้ำมันใต้ทะเลของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งแม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะกำจัดคราบน้ำมันที่ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำด้วยการฉีดสารเคมี Dispersant ให้น้ำมันแตกตัวเป็นหน่วยเล็ก จมลงไปที่ก้นทะเลจนมองไม่เห็นแล้ว แต่ก็มีข้อโต้แย้งมากมายว่าวิธีการนี้ ทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาวกับระบบนิเวศใต้ทะเลระยอง และจะส่งผลต่อการประกอบอาชีพต่างๆ ของประชาชนด้วย

โดยเฉพาะกับกลุ่มชาวประมงเรือเล็ก เพราะจุดที่น้ำมันรั่วอยู่ในระยะที่ชาวประมงเรือเล็กออกไปจับสัตว์น้ำ และได้รับผลกระทบมาหนักมากแล้ว ตั้งแต่เกิดน้ำมันรั่วครั้งก่อนเมื่อปี 2556

สถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ คือ บริษัท SPRC ได้คำนวณความเสียหายเพื่อจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับกลุ่มชาวประมง รายละ 4.5 หมื่นบาท ซึ่งเป็นการคำนวณของบริษัทเอง แต่ก็มีชาวประมงบางส่วนลงชื่อรับเงินไปแล้ว เพราะขาดรายได้จนไม่สามารถรอการฟ้องร้องได้ แต่บางส่วนก็ยังยืนยันไม่รับเงิน เพราะกังวลจะมีผลต่อการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยที่แท้จริงในขั้นต่อไป

แต่ก็มีคำถามใหญ่ว่า “ทำไมจึงยังไม่มีกระบวนการประเมินความเสียหายจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง”






“ตอนนี้เจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นผู้ที่ไปทำบทบาทกลั่นกรองให้เอกชน มาตรวจสอบว่าทะเบียนเรือ ใครมี ใครไม่มี ใครทะเบียนขาด ก็จะไม่ได้เงินเยียวยา แต่กลุ่มของเราส่วนใหญ่มีทะเบียนครบหมด แต่เรายังไม่รับ เพราะเราคิดว่า 4.5 หมื่นบาท มันไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริงที่เราควรได้ เพราะความเสียหายมันจะกินเวลายาวนาน แต่ปัญหาคือ ในระหว่างที่เขาประสานให้ไปรับเงินเยียวยาจากเอกชน กลับยังไม่มีหน่วยงานไหนมาทำการประเมินความเสียหายเลย”

บรรเจิด ล่วงพ้น หรือ “ลุงเจิด” ชาวประมงจากสมาคมพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง เล่าถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาวประมง และผู้ได้รับผลกระทบจากอาชีพอื่นๆ ในพื้นที่ หลังเกิดเหตุการณ์ผ่านไปแล้วประมาณ 2 เดือน

โดยย้ำว่า พวกเขาได้สรุปบทเรียนมาแล้วจากเหตุการณ์เมื่อปี 2556 ซึ่งครั้งนั้น บริษัทเอกชนที่ทำน้ำมันรั่ว ก็ใช้วิธีเดียวกัน คือ ทำน้ำมันให้จมลงไปในทะเล จ่ายเงินเยียวยารวมประมาณคนละ 1.5 แสนบาท (จากคำสั่งศาล) และทำกระบวนการฟื้นฟูด้วยการนำสัตว์น้ำจำนวนมากมาปล่อยลงทะเล

ซึ่งกลุ่มประมง มีข้อสรุปแล้วว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผลทั้งการเยียวยาและการฟื้นฟู เพราะผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลยังไม่เคยถูกสำรวจอย่างจริงจัง

“ปล่อยสัตว์น้ำไปกี่ล้านตัว มันก็ตายในจำนวนเท่านั้นแหล่ะครับ เพราะน้ำมันที่รั่วยังกระจายอยู่ในทะเล อยู่ในทราย อยู่ในปะการัง ในแหล่งอาหาร สัตว์น้ำตัวอ่อนที่เกิดใหม่ก็ตายหมด ที่ปล่อยไปใหม่ก็ตายหมด พวกเรารู้เพราะเราจับสัตว์น้ำที่นี่ไม่ได้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ต้องออกไปหากินเกินกว่า 30 ไมล์ทะเล ไปที่เขตจังหวัดอื่น

อย่างรอบนี้เกิดซ้ำ เราก็ต้องออกไปไกลขึ้นอีก จากเดิมที่เคยออกเช้า-กลับบ่ายทุกวัน ตอนนี้เราต้องออกไปครั้งละ 1 อาทิตย์ เพราะเมื่อต้องไปไกลกว่าเดิมมาก ต้นทุนมันก็สูงขึ้น ไปกลับทุกวันเหมือนเดิมไม่ได้ ดังนั้นก่อนจะบอกว่าเยียวยาเท่าไหร่ จะปล่อยสัตว์น้ำอะไรบ้าง หน่วยงานรัฐควรช่วยไปสำรวจประเมินความเสียหายก่อน และรัฐควรฟ้องร้องเอกชนที่สร้างความเสียหายให้ทะเลของพวกเราทุกคนด้วยไม่ใช่หรือ”


ลุงเจิด ตั้งคำถามใหญ่ว่า ทำไมจึงไม่มีกระบวนการสำรวจความเสียหายทั้งในปี 2556 และปี 2565




ความเห็นของกลุ่มชาวประมงเรือเล็ก สอดคล้องกับ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งระบุว่า การเร่งจ่ายเงินเยียวยารายละ 4.5 หมื่นบาท ได้สร้างความสับสนวุ่นวายในพื้นที่อย่างมาก เพราะยังไม่ได้สำรวจประเมินความเสียหายใดๆ เลย ซึ่งนั่นควรจะเป็นบทบาทที่หน่วยงานของรัฐต้องเร่งทำก่อน เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบมีข้อมูลในการเรียกร้องค่าชดเชยที่ใกล้เคียงกับความผลที่เกิดขึ้นจริง

“ถ้ารัฐไม่ฟ้องร้องเอกชน แล้วผู้ได้รับผลกระทบจะเอาข้อมูลที่ไหนไปประเมิน”

นายสนธิ กล่าวอ้างอิงแบบเฉพาะเจาะจงไปยังหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 3 หน่วยงาน ว่าต้องเร่งดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง เพื่อปกป้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว นั่นคือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ และกรมเจ้าท่า

“กรมควบคุมมลพิษ กับกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ต้องเร่งไปประเมินความเสียหาย ซึ่งมีหลักวิชาการที่ทำได้อยู่แล้ว เช่นความเสียหายต่อปะการัง หญ้าทะเล แหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และคำนวณไปด้วยว่าจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูกี่ปี นำไปเทียบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจของกลุ่มชาวประมง ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอาหารทะเล ซึ่งเมื่อทำแล้ว ก็จะมีฐานข้อมูลไว้ให้ผู้เดือดร้อนใช้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ส่วนหน่วยงานรัฐทั้ง 2 หน่วย ก็ควรฟ้องร้องต่อเอกชนฐานด้วย ให้จ่ายทั้งค่าเสียหายต่อทรัพยากรและค่าฟื้นฟูในระยะยาว”

“อีกหน่วยงาน คือ กรมเจ้าท่า ผมคิดว่าต้องออกคำสั่งหยุดกิจการ และเพิกถอนใบอนุญาตของเอกชนรายนี้ไปก่อนเลย จากนั้นหากจะขอใบอนุญาตใหม่ รัฐก็สามารถกำหนดเงื่อนไขเพิ่มไว้ในรายงาน EIA เช่นการกำหนดมาตรฐานท่อ กำหนดให้ต้องมีกองทุนประเมินความเสี่ยง มีการทำประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมีกลไกเหล่านี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก จะได้มีเงินที่พร้อมจ่ายได้ทันทีเลย เพราะการที่ชาวบ้านต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายภายหลังเป็นกระบวนการที่ยาวนานเกินไป ทำให้หลายคนต้องยอมรับเงินในจำนวนที่ไม่เหมาะสม” นายสนธิ กล่าว

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ยังย้ำว่า ในพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลไม่ให้เกิดปัญหามลพิษ ต้องเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ที่เกี่ยวข้องใหม่ คือ รัฐต้องไม่กลัวว่าหากบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจะทำให้เอกชนถอนการลงทุน

รัฐควรมองประชาชนในพื้นที่เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เพราะประชาชนในพื้นที่เป็นผู้เสียสละที่ต้องทนอยู่กับมลพิษ ต้องแบกรับความเสี่ยงมากมาย ดังนั้นรัฐจึงควรต้องดูแลประชาชนเหล่านี้ในฐานะผู้มีพระคุณ ต้องดูแลให้ดีมากกว่าการดูแลกลุ่มนักลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น