xs
xsm
sm
md
lg

“สุชาติ” จี้ รบ.เคลียร์เกณฑ์ชดเชยโรค ASF ในหมูให้ชัด หวั่นเกษตรกรเสียสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุชาติ” รับหนังสือผู้เลี้ยงหมูฉะเชิงเทรา ทวงถาม รบ.เยียวยาเหตุ ASF ระบาด ฝากหน่วยงานรัฐสางปมหลักเกณฑ์เยียวยา หลังกระบวนการแจ้งเหตุติดขัด เกรงไม่ครอบคลุมผู้ที่เดือดร้อนทั้งหมด


วันนี้ (22 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่อาคารรัฐสภา กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นำโดย นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานกรรมการสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เพื่อติดตามกรณีที่เคยขอยื่นหนังสือขอให้ช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รายเล็ก รายกลาง ที่ประสบปัญหาโรคระบาดอหิวาห์แอฟริกาหมู (ASF) ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่เคยยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 65

โดย นายเสน่ห์ กล่าวว่า วันนี้มาติดตามทวงถามความคืบหน้า และเร่งรัดให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้เดือดร้อนจากการระบาดของโรค ASF พร้อมนำเสนอข้อเรียกร้อง 3 เรื่อง เพื่อชดเชยความเสียหาย และการฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสุกรโดยเร็ว คือ 1. การชดเชย เยียวยาให้กับสมาชิกสหกรณ์ 38 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 139 ล้านบาท 2. ฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงสุกร โดยรัฐจัดหาแหล่งเงินทุนเป็นโครงการสินเชื่อพิเศษปลอดดอกเบี้ย ที่ไม่ผ่านธนาคารรัฐ วงเงิน 100 ล้านบาท และ 3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์ฯมีศูนย์วิจัยโรคระบาด และวินิจฉัยโรคได้ทันสถานการณ์

ด้าน นายสุชาติ กล่าวเสริมว่า รับทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย และก่อนหน้านี้ได้ร่วมผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อพิจารณาปัญหาการแพร่ระบาดของโรค AFS ซึ่งขณะนี้ก็ทราบว่า ใกล้ได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ดี ยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาความเป็นได้ในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย รวมถึงฟื้นฟูอาชีพอย่างเร่งด่วน หลังจากสุกรล้มตาย และต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เกษตรกรบางรายประสบปัญหาสิ้นเนื้อประดาตัว รวมทั้งการวางแนวทางป้องกันปัญหาที่ตะเกิดขึ้นในอนาคต

“ทั้งนี้ มีความกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ชดเชยเยียวยาที่อาจไม่ครอบคลุมความเดือดร้อนของเกษตรกรทั้งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เพราะทราบว่ามีปัญหาในกระะบวนการแจ้งการพบโรคระบาดในพื้นที่ระหว่างเกษตรกรกับหน่วยงานราชการ” นายสุชาติ ระบุ

ด้าน นายไพรินทร์ หนูมาก สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ฉะเชิงเทรา ในฐานะคณะทำงานด้านการเมืองของรองประธานสภาฯ ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ว่า สืบเนื่องจาก ปี 2562 เมื่อเกิดโรคระบาด ASF ขึ้น สุกรเริ่มตาย เกษตรกรเข้าใจว่าเป็นครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นโรคระบบทางเดินหายใจสุกร (PRRS) แต่ภายหลังพบว่าไม่ใช่โรค PRRS แต่เป็นโรค ASF ที่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ทางเจ้าหน้าที่กลับไม่รับแจ้ง โดยให้เหตุผลว่าขณะนั้นยังไม่มีโรค ASF ในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้เกษตรกรที่ไม่ได้แจ้งอาจจะไม่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับเงินชดเชย แต่ก็พบกรณีการเลือกปฏิบัติจ่ายเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกรในบางพื้นที่ของ จ.ฉะเชิงเทรา จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้การชดเชยเยียวยาครอบคลุมเกษตรกรที่เดือดร้อนจากการระบาดโรค ASF ทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน ผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ยังได้ยื่นหนังสือต่อ นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และศึกษาแนวทางช่วยเหลือประชาชน จากปัญหาราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับตัวสูงขึ้น สภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ด้วย

ทั้งนี้ นายวีระกร แจ้งว่า ขณะนี้ กมธ.ได้ประชุมใกล้แล้วเสร็จ และเบื้องต้นได้มีมติถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่จะเสนอต่อรัฐบาลใน 6 ประเด็น อาทิ การจัดหาเงินทุนดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี, การชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรที่เลี้ยงสุกร ไม่เกิน 50 ตัว จำนวน 2.5 แสนบาท และอาจจะขยายไปถึงเกษตรกรที่เลี้ยงมากกว่านั้น, การจัดหาลูกสุกร น้ำหนักไม่เกิน 16 กิโลกรัม ในราคา 2,000 บาท รวมถึงแม่พันธุ์ให้กับเกษตรกร, การสำรวจและตรวจสอบนวามปลอดภัยพื้นที่เลี้ยงสุกร พร้อมให้คำแนะนำการทำโรงเรือนรูปแบบใหม่, การอบรมอาสาปศุสัตว์ และเกษตรกรรายย่อย รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น