“พระแก้วมรกต” เป็นพระพุทธรูปที่ไม่มีใครรู้ประวัติความเป็นมาว่า ใครสร้าง และสร้างมาแต่เมื่อใด มีแต่ตำนานและนิทานของทั้งเขมร ลาว ไทย กล่าวไว้หลายทางจนถึงเทวดาเป็นผู้สร้าง
ประวัติของพระแก้วมรกตที่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ปรากฏขึ้นในปี พ.ศ.๑๙๗๗ เมื่อฟ้าผ่าพระสถูปเก่าแก่องค์หนึ่งที่เมืองเชียงรายทำให้พระสถูปนั้นพังลงมา เห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งปิดทองทึบทั้งองค์ซ่อนอยู่ภายใน ก็คิดกันว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นธรรมดา จึงอัญเชิญไปไว้ในวิหารที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงราย ซึ่งก็คือ “วัดพระแก้วเชียงราย” ในปัจจุบัน ครั้นต่อมาอีก ๒-๓ เดือน ปูนที่ลงรักปิดทองได้กะเทาะที่ปลายพระนาสิก เจ้าอธิการเห็นเป็นแก้วสีเขียวงามอยู่ภายใน จึงแกะต่อไปจนคนทั้งปวงได้เห็นเป็นพระพุทธรูปแก้วทึบหรือหยกเนื้อดีงดงามเหมือนมรกต ทั้งองค์สมบูรณ์ไม่มีบุบสลาย หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ ซม. สูงทั้งฐาน ๖๖ ซม. ชาวเชียงรายและเมืองใกล้เคียงต่างแตกตื่นไปนมัสการกันแน่นขนัด เจ้าเมืองเชียงรายจึงใบบอกรายงานไปถึงเมืองเชียงใหม่ผู้ปกครองเชียงราย
พระเจ้าสามฝั่งแถน เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงได้จัดขบวนช้างไปอัญเชิญพระแก้วมาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อถึงทางแยกไปเมืองลำปาง ช้างก็จะไปเมืองลำปาง ไม่ยอมไปเชียงใหม่ พระเจ้าสามฝั่งแถนคิดว่าผีที่รักษาองค์พระไม่ยอมไปเชียงใหม่ จึงยอมให้อัญเชิญพระแก้วไปอยู่วัดในลำปาง ซึ่งก็คือ “วัดพระแก้วดอนเต้า” ในปัจจุบัน
พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่ลำปาง ๓๒ ปี จนถึง พ.ศ.๒๐๓๑ พระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงสร้างพระอารามและวิหารถวาย แล้วจะอัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานที่พระวิหารที่เป็นปราสาทมียอดสูง แต่ก็สร้างไม่สำเร็จเพราะฟ้าผ่าหลายครั้งจนเลิกล้มความตั้งใจ อัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานที่ซุ้มจระนำ ด้านหลังของพระธาตุเจดีย์หลวง นั้นก็คือ “วัดเจดีย์หลวง”
พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เมืองเชียงใหม่ ๘๔ ปี ใน พ.ศ.๒๐๙๔ เจ้าไชยเชษฐา ผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบุตรของพระนางยอดคำ ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ กับพระเจ้าโพธิสาร พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต หรือล้านช้าง ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปหลวงพระบาง อ้างว่าเพื่อให้บรรดาญาติได้บูชาสักการะกันในงานทำบุญให้พระบิดาที่วายชนม์ และได้ขึ้นครองราชย์แทนพระบิดา เลยไม่ได้กลับเชียงใหม่
พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่หลวงพระบาง ๑๒ ปี ใน พ.ศ.๒๑๐๗ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เวียงจันทน์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ โดยสร้าง “หอคำพระแก้ว” เป็นที่ประดิษฐานด้วย
ครั้งนี้พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์ถึง ๒๑๕ ปี จนใน พ.ศ.๒๓๒๑ ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพไปตีเมืองล้านช้าง หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ที่กรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯให้สร้าง “โรงพระแก้ว” ขึ้นที่หลังพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐาน
ใน พ.ศ.๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายพระนครมาอยู่ฟากตะวันออก ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระบรมมหาราชวังเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต แล้วเสร็จในเวลา ๒ ปี ในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๓๒๗ จึงโปรดเกล้าฯให้จัดขบวนเรือ แห่พระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้บนบุษบกทองคำ ภายในพระอุโบสถของพระอารามที่สร้างขึ้นใหม่ พร้อมผูกพัทสีมาในวันนั้น พระราชทานนามว่า “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม”
ทั้งยังได้พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระแก้วมรกตว่า
“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิดกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาย อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ “
มีความหมายว่า
กรุงเทพมหานคร - พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร
อมรรัตนโกสินทร์ – เป็นที่สถิตของพระแก้วสีเหมือนพระอินทร์ คือสีเขียว
สถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในครั้งนี้ จึงไม่ใช่ “วัดพระแก้ว” หรือ “หอพระแก้ว” อย่างที่ผ่านมา แต่เป็น “เมืองพระแก้ว”
การเดินทางของแก้วมรกตครั้งนี้ เป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย และประดิษฐานอยู่ที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา ๒๓๘ ปีแล้ว และจะสถิตคู่มหานครแห่งนี้ไปชั่วนิรันดร