xs
xsm
sm
md
lg

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 10 ไฮไลต์ “วัดใหญ่” พิษณุโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


องค์พระพุทธชินราช แห่งวัดใหญ่ พิษณุโลก
หากพูดถึงวัดที่มีชื่อเสียงของ “พิษณุโลก” เชื่อว่าหลายๆ คนต้องนึกถึง “วัดใหญ่” หรือ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร” เป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากที่นี่เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพุทธศิลป์ชั้นสูงสุดของเมืองไทย และเมื่อใครมาถึงที่วัดใหญ่แห่งนี้ก็มักจะตรงเข้าไปสักการะพระพุทธชินราชก่อนเป็นอันดับแรก

ระเบียงคด
แต่สำหรับที่วัดแห่งนี้ไม่ใช่มีเพียงแค่พระพุทธชินราชเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงองค์เดียว แต่ยังมีอีกหลายๆ จุดที่อยากจะแนะนำให้เข้าไปชมและสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลกัน

โดย 10 ไฮไลต์สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดใหญ่ จ.พิษณุโลก มีดังนี้

พระพุทธชินราช หนึ่งในพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดของไทย

วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช
พระพุทธชินราช
“พระพุทธชินราช” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยทองสำริด เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ส่วนซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักอย่างงดงาม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งด้วยพุทธลักษณะอันงดงามโดดเด่น พระพุทธชินราชจึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประติมากรรมพุทธศิลป์ชั้นสูงสุดของเมืองไทย

โดยสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือ "พระพุทธชินสีห์" และ "พระศรีศาสดา"

พระพุทธชินสีห์ (องค์จำลอง)
พระพุทธชินสีห์
สร้างขึ้นพร้อมๆ กับพระพุทธชินราช แต่ปัจจุบัน พระพุทธชินสีห์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารด้านทิศเหนือของวัดใหญ่นั้นเป็นองค์จำลอง ส่วนองค์จริงนั้นปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

โดยในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2372 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ ได้เสด็จไปเยือนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทรงเห็นว่าวิหารมีความชำรุดทรุดโทรม จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระนคร โดยได้อัญเชิญมาไว้ภายในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์มีพระราชประสงค์จะสร้างเจดีย์ขึ้นด้านหลังพระอุโบสถวัดบวรฯ จึงต้องรื้อมุขด้านหลังออก จึงได้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถคู่กับพระสุวรรณเขต พระประธานองค์เดิมในพระอุโบสถ ทำให้พระอุโบสถในวัดบวรนิเวศมีพระพุทธรูปสององค์มาจนถึงปัจจุบันนี้

พระศรีศาสดา (องค์จำลอง)
พระศรีศาสดา
สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินราช และ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งปัจจุบันพระศรีศาสดาที่ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศใต้เป็นองค์จำลอง ส่วนองค์จริงประดิษฐานอยู่ ณ มุขหน้าวิหารพระศาสดาคู่กับพระพุทธไสยา ที่ประดิษฐานอยู่ ณ มุขหลัง วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

พระศรีศาสดาก็ถูกอัญเชิญมาที่พระนคร โดยเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ได้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงแพล่องไปที่วัด ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้อัญเชิญพระศรีศาสดาไปประดิษฐานที่วัดประดู่ฉิมพลี แต่รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่า พระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปสำคัญ เคยอยู่ในพระอารามหลวง อีกทั้งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับพระพุทธชินสีห์ พระองค์จึงทรงให้อัญเชิญพระศรีศาสดามาไว้ที่พระวิหารวัดบวรนิเวศฯ

วิหารน้อยพระเหลือ

พระเหลือ
พระเหลือ
พระเหลือ ถูกสร้างขึ้นจากพระราชดำริของพระยาลิไท รับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดานำมาหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดเล็ก หน้าตัก กว้าง 1 ศอกเศษ มีชื่อว่า “พระเหลือ” ซึ่งก็ยังมีทองเหลือสามารถหล่อเป็นพระสาวกของพระเหลือได้อีกสององค์ อีกทั้งอิฐที่ก่อเตาหลอมทองและใช้ในการหล่อพระนั้นก็ได้นำเอามารวมกันก่อเป็นชุกชีสูงสามศอก

ตรงตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราชและปลูกต้นมหาโพธิ์บนชุกชี 3 ต้น เรียกว่า "โพธิ์สามเส้า” และได้สร้างวิหารน้อยขึ้นระหว่างต้นโพธิ์ อัญเชิญพระเหลือพร้อมพระสาวกเข้าประดิษฐานในวิหารนั้น เรียกว่า "วิหารหลวงพ่อเหลือ" ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราช

หลวงพ่อดำ
หลวงพ่อดำ
เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เนื้อปูนปั้น ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โดยหลวงพ่อดำได้ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าวิหารพระศรีศาสดาแห่งนี้มาตลอด

เหตุที่เรียก “หลวงพ่อดำ” นั้น เข้าใจว่ามีผู้มีจิตศรัทธาได้สร้างถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะทำการปิดทองพระพุทธรูป แต่ไม่ทราบว่ามีสาเหตุใดจึงปิดทองไม่สำเร็จ ได้แต่ลงรักปิดทองเอาไว้ เมื่อประชาชนมากราบไว้แล้วเห็นองค์พระเป็นสีดำ จึงเรียกว่า หลวงพ่อดำ

ด้านในวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน
พระเจ้าเข้านิพพาน
พระวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารพระพุทธชินราช ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าเข้านิพพาน” มีลักษณะเป็นหีบทอง ซึ่งทำจากศิลาลงรักปิดทอง ประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่บนจิตกาธาน ที่ปลายหีบทางด้านใต้มีพระพุทธบาทคู่ยื่นออกมาให้พระมหากัสสปะเถระ ได้ถวายบังคมเป็นครั้งสุดท้าย รอบพระจิตกาธาน มีรูปพระพุทธสาวก 5 องค์ นั่งชันเข่าประนมมือ มีปลงธรรมสังเวช ถัดไปด้านในของพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 3 องค์

พระอุโบสถ

หลวงพ่อโต
พระอุโบสถ-หลวงพ่อโต
พระอุโบสถของวัดใหญ่ มีขนาด 5 ห้อง สถาปัตยกรรมทรงโรง สมัยอยุธยา รอบพระอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีใบเสมาหินชนวนคู่ตั้งอยู่บนฐานเสมา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย และมีการปฏิสังขรในเวลาต่อมา

ด้านในประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย มีพระพักตร์กลมป้อม งดงาม มีพระอุณาโลมและพระเกศเปลวเพลิงยาว ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

พระอัฏฐารส
พระอัฏฐารส
เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณสถานสำคัญเพียงชิ้นเดียวที่ยังคงเหลือรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเก่าแก่ของวัด บริเวณฐานชุกชีมี “พระอัฏฐารส” ประทับยืนประทานพร สูง 18 ศอก หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงมาข้างพระกาย เบื้องพระปฤษฎางค์ก่อผนังปูนหนา มีเสาไม้ค้ำยันไว้ 2 ต้น สันนิษฐานว่าของเดิมทำขึ้นเพอเป็นบันไดสำหรับขึ้นไปสูงจนถึงพระศอ

พระปรางค์
พระปรางค์
พระปรางค์วัดใหญ่ เป็นโบราณสถานสมัยสุโขทัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางของวัด เดิมนั้นพระปรางค์วัดใหญ่น่าจะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สมัยอยุธยาตอนต้น พิษณุโลกได้เป็นเมืองหลวงถึง 25 ปี จึงทำนุบำรุงพุทธศาสนานำเอาศิลปะแบบอยุธยาเข้ามาสร้างให้ มีเอกลักษณ์เพื่อเป็นขอบเขตอาณาจักร สัญลักษณ์ขอบเขตที่เป็นพื้นที่ๆ ห้ามรุกราน เจดีย์จึงได้บูรณะปรับปรุงให้เป็นพระปรางค์ตามยุคสมัย กลายเป็นพระปรางค์ทรงคล้ายฝักข้าวโพด

รอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนฐานสูงประมาณ 70 เซนติเมตร เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในมณฑปพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ทางเบื้อซ้ายของวิหารพระอัฏฐารส

สำหรับใครที่มาเยือนวัดใหญ่ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หากได้ไหว้พระพุทธชินราชแล้ว อย่าลืมตามมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจุดอื่นๆ ของวัด นอกจากนี้ บริเวณใกล้ๆ วัดใหญ่ ก็ยังมีวัดสำคัญของพิษณุโลกอีก อาทิ ไปสักการะสมเด็จนางพญาเรือนแก้วที่ “วัดนางพญา” ไหว้หลวงพ่อทองคำที่ “วัดราชบูรณะ” เป็นต้น

ด้านในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น