xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวสายบุญ สุขใจ สักการบูชา 9 มงคล ที่วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สักการบูชา  9 มงคล ที่วัดสุทัศน์
ในกรุงเทพฯ มีวัดวาอารามที่อยู่หลายแห่งด้วยกัน โดยเฉพาะบนเกาะรัตนโกสินทร์ ครั้งนี้จึงขอชวนสายบุญทั้งหลายมาสักการบูชา 9 มงคล ที่ “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” วัดสำคัญของพระนคร มาไหว้พระเติมบุญกันให้สุขกายสบายใจ พร้อมยลสถาปัตยกรรมอันงดงามที่สามารถเดินชมได้อย่างเพลิดเพลิน

“วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน แขวงเสาชิงช้า โดยมีเสาชิงช้า ตั้งโดดเด่นอยู่ทางด้านหน้าของวัด เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นวัดกลางพระนคร และสร้างพระวิหารสูงใหญ่เทียบเท่าวัดพนัญเชิงของกรุงศรีอยุธยา จากนั้นทรงอัญเชิญพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย ซึ่งหล่อขึ้นตั้งแต่สมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ที่เรียกกันว่าพระโต หรือพระใหญ่ จากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัยมาประดิษฐานไว้

บริเวณด้านหน้าวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้าง พระวิหารต่อจนเสร็จพร้อมกับสร้างพระอุโบสถและหล่อพระประธานขึ้นใหม่ พระราชทานนามวัดเป็น วัดสุทัศนเทพวราราม จากเดิมที่เรียกกันว่า วัดพระโต จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงถวายพระนาม พระโต ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารว่า พระพุทธศรีศากยมุนี และพระประธานในพระอุโบสถว่าพระพุทธะตรีโลกเชษฐ์

สำหรับสิ่งสำคัญที่จะชวนทุกมาสักการบูชา 9 มงคล ได้แก่

พระพุทธศรีศากยมุนี
พระพุทธศรีศากยมุนี
เมื่อเดินทางเข้ามาในวัดสุทัศน์แล้วจะต้องเข้ามากราบองค์พระ “พระพุทธศรีศากยมุนี” ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยสำริดปิดทอง เดิมประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ กลางกรุงสุโขทัย โดยมีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอ้างถึงว่า พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์กรุงสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วง โปรดเกล้าฯ ให้หล่อและทำการฉลองในปีพ.ศ. 1904

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ในปีพ.ศ 2350 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปอัญเชิญพระใหญ่จากเมืองสุโขทัย ล่องตามลำน้ำมายังพระนคร เมื่อมาถึงทรงโปรดให้มีพิธีสงฆ์ และงานสมโภชทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 7 วัน จึงอัญเชิญขึ้นบกพร้อมด้วยขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ พระราชดำเนินด้วยพระบาทเปล่าตามกระบวนแห่มาด้วย เพื่อนำไปประดิษฐานยังวัดสุทัศนเทพวราราม ที่ทรงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณกึ่งกลางพระนคร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพระนามพระใหญ่องค์นี้ว่า “พระพุทธศรีศากยมุนี”

พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)
พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)
บริเวณด้านข้างองค์พระใหญ่ที่อยู่วิหาร ก็มี “พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)” ที่ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวงเป็นปูชนียวัตถุ รูปเปรียบพระธรรม โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้เสด็จเป็นประธาน ประกอบพิธีเททองและพุทธาภิเษก ณ มณฑลพิธี วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งพระสุนทรีวาณีองค์นี้ ถูกสร้าง เป็นรูปแบบพิเศษครั้งแรก ในนามคณะสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม และผู้ออกแบบคือ นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

พระอุโบสถวัดสุทัศน์
เดิมพระสุนทรีวาณี เป็นภาพเขียนโบราณที่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฒโน ป.ธ.8) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรูปที่ 3 ได้ดำริสร้างขึ้นด้วยการผูก ลักษณาการ จากคาถาที่ได้รับสืบทอดมาจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และมอบหมายให้หมื่นสิริธัชสังกาศ (แดง) เขียนภาพขึ้น โดยมีลักษณะเทพธิดาทรงเครื่องอย่างบุรุษ แสดงนิสีธนาการ บนดอกบัว สื่อถึงพระธรรม พระหัตถ์ขวาแสดงอาการกวักเรียก สื่อถึงเชิญชวนให้มาศึกษาปฏิบัติ พระหัตถ์ซ้ายมีแก้ววิเชียรวางประทับ สื่อถึงพระนิพพาน มีองค์ประกอบรายล้อมด้วยมนุษย์นั่งบนดอกบัวซ้ายขวา ด้านล่างมีนาคและสัตว์น้ำ ด้านบนมีรูปเทพยดา พรหม สื่อถึงสังสารวัฏฏ์

พระอุโบสถวัดสุทัศน์

ความงดงามรอบพระอุโบสถวัดสุทัศน์

พระพุทธตรีโลกเชษฐ์
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์
ถัดจากพระวิหารไปด้านในจะพบกับพระอุโบสถ “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” ประดิษฐานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ หล่อด้วยสำริดปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจักร กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์หล่อขึ้น ณ โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังทรงโปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหลวงจากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานภายในองค์พระพุทธรูปด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์”

พระพุทธรูปปางประทานโอวาทท่ามกลางพระอสีติมหาสาวก ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อทดแทนพระศรีศาสดา ที่ทรงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธรูปและพระมหาสาวก 80 องค์ เป็นศิลปะตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 สร้างด้วยปูนปั้นลงสี ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ทรงถ่ายแบบจากหุ่นพระโครงสานไม้ไผ่ ที่สมมติเท่าองค์พระพุทธเจ้า ที่ทรงสร้างเป็นตัวอย่าง และพระมหาสาวกมีลักษณะคล้ายบุคคลจริง มีใบหน้าและสีผิวที่แตกต่างกันไป ตามอนุพุทธประวัติ

พระกริ่งใหญ่
พระกริ่งใหญ่
หลังจากสักการะพระพุทธตรีโลกเชษฐ์เรียบร้อยแล้ว จากนั้นเดินไปยังด้านหลังของพระอุโบสถ จะพบกับ “พระกริ่งใหญ่” ประดิษฐานที่มุขด้านหลังพระอุโบสถ หล่อด้วยสำริดปิดทอง สร้างเมื่อพ.ศ. 2534 โดยคณะศิษย์ยานุศิษย์ในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรูปที่ 7 มีวัตถุประสงค์จัดสร้างเพื่อถวาย สักการบูชาพระคุณในวาระที่เจ้าประคุณมีอายุวัฒนมงคลครบ 5 รอบ 60 ปี ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ ที่พระธรรมปิฎกจึงได้ถวายพระนามพระกริ่งใหญ่องค์นี้ว่า “พระกริ่งธรรมปิฎก 60”

ท้าวเวสสุวรรณ
ท้าวเวสสุวรรณ
ด้านข้างพระกริ่งใหญ่จะมี “ท้าวเวสสุวรรณ” ประดิษฐานที่มุกด้านหลังพระอุโบสถ หล่อด้วยสำริดเคลือบสีเขียว ท้าวกุเวรมหาราช เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อ “กุเวร” ได้สร้างโรงหีบอ้อยประกอบเครื่องยนต์ 7 เครื่อง ให้ผลกำไรขึ้นที่โรงแห่งหนึ่งแก่มหาชนได้กระทำบุญ ผลกำไรที่มากกว่าได้เกิดขึ้นแม้ในโรงที่เหลือ จึงเลื่อมใสในบุญนั้น นำเอาผลกำไรที่เกิดขึ้นแม้ในโรงที่เหลือ ให้ทานตลอดหมื่นปี เมื่อถึงแก่กรรมไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อกุเวรในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ปกครองหมู่ยักษ์ และอมนุษย์ มีราชธานีชื่อวิสาณะ ตั้งแต่นั้นจึงเรียกว่า ”ท้าวเวสสุวรรณ”

ภายในศาลาการเปรียญ

พระพุทธเสฏฐมุนี
พระพุทธเสฏฐมุนี
จากนั้นเดินไปยังศาลาการเปรียญเพื่อไปสักการะ “พระพุทธเสฏฐมุนี” ที่ประดิษฐานภายในศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ หล่อด้วยกลักฝิ่นปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้ปราบปรามกวาดล้างฝิ่นอย่างเด็ดขาด ทรงโปรดให้นำฝิ่นมาเผาทำลายที่สนามไชยและนำกลักฝิ่นมาหล่อเป็นพระพุทธรูปที่โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานภายในศาลาโรงธรรม ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเสฏฐมุนี” โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อกลักฝิ่น”

พระพุทธรังสีมุทราภัย
พระพุทธรังสีมุทราภัย
หากหันหน้าเข้าไปด้านในศาลาการเปรียญจะมี “พระพุทธรังสีมุทราภัย” ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายของศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้นำกลับสิ่งที่เหลือจากการหล่อพระพุทธรูปมาซ่อมแปลงพระพุทธรูปองค์นี้ที่ชำรุดอยู่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานภายในศาลาโรงธรรม และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธรังสีมุทราภัย” โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อเหลือ”

สมเด็จพระอริยวง สาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว ป.ธ.5)
สมเด็จพระอริยวง สาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว ป.ธ.5)
ส่วนด้านขวามี “สมเด็จพระอริยวง สาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว ป.ธ.5)” สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ 2481-2487 อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม พระองค์ที่ 4 พ.ศ. 2443-2487 ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต นั้น คณะสงฆ์ได้จัดให้มีการสอบบาลีสนามหลวงทั่วราชอาณาจักร ทรงดำรงตำแหน่งแม่กองบาลี เป็นพระองค์แรก

ทรงได้รับการยกย่องเป็นพระคณาจารย์ที่โด่งดังในการสร้างพระกริ่งของเมืองไทย ส่งเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ 2441 ถึง 2486 เริ่มรุ่นแรกคือพระกริ่งเทพโมลี พระกริ่งธรรมโกษาจารย์ พระกริ่งพรหมมุนี พระกริ่งพุฒาจารย์ จนมาถึงรุ่นสุดท้ายคือพระกริ่งเชียงตุง แต่ด้วยจำนวนการสร้างในแต่ละรุ่นนั้นน้อยมาก ปัจจุบันจึงนับว่าหายได้ยากยิ่งนัก ซึ่งทุกรุ่นล้วนทรงคุณค่าและทรงพุทธาคมเป็นเลิศทั้งสิ้น

ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
นอกจากนี้ยังมี “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” (ประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปปางมารวิชัย) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้อัญเชิญหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ทรงรับมาจากคณะสมณทูตสยาม ซึ่งนำกลับมาถวายจากประเทศศรีลังกา เมื่อพ.ศ. 2361 และโปรดให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศนเทพวราราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ และวัดสระเกศ

และในรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาประเทศอินเดีย อีกต้นหนึ่ง ที่สัตตมหาสถาน (ประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปปางสมาธิ)

ภายในวัดสุทัศน์

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น