สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้ ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก เฝ้า ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. เวลาประมาณ 22.07 น. แฟนเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพระบุว่า
วันพุธ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้ ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก เฝ้า ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระดำรัส สรุปความว่า การพบปะกันครั้งนี้ขอให้ถือว่าเป็นการพบกันของเพื่อน ซึ่งล้วนควรมีความปรารถนาดีต่อกัน อันจะยังให้เกิดสันติสุขในหมู่มวลมนุษยชาติ
พร้อมทั้งมีรับสั่งเล่าประทานว่าภายในบริเวณวัดราชบพิธเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดราชบพิธ ซึ่งมีนักเรียนผู้นับถือศาสนาต่างๆ ทุกศาสนามาใช้เล่าเรียนและพำนัก ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนา ศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสต์ ต่างได้มาศึกษาร่วมกัน เรียนรู้วิถีชีวิตของกันและกัน แม้ในอดีตชุมชนใกล้เคียงกันกับวัดราชบพิธก็มีชาวมุสลิมอาศัย ร่วมอยู่ด้วย การอยู่ร่วมกันของศาสนิกชนต่างศาสนาในสังคมไทยจึงดำเนินไปโดยสงบสุขเป็นปรกติ
ทรงเล่าประทานว่า คนไทยคุ้นเคยกับวัฒนธรรมประเพณีของศาสนาอิสลามมานานแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีชาวมุสลิมจากตะวันออกกลางเข้ามาค้าขายหรือรับราชการในเมืองไทย มีผู้สืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสกุลใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ในส่วนพระองค์เคยเสด็จไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีประชากรคนไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่เป็นจำนวนมาก ทรงสังเกตเห็นว่าทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิม ต่างใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสันติตามหลักศาสนา ยามที่ชาวมุสลิมมีการงานประเพณีใด ชาวพุทธก็นำสิ่งของไปช่วยงาน ในขณะที่ถ้าชาวพุทธมีการงานประเพณีใด ชาวมุสลิมก็นำสิ่งของมาช่วยงานเช่นเดียวกัน ทรงสามารถยืนยันได้เพราะได้เคยทอดพระเนตรเห็นประจักษ์มาด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์มีพระบรมราชปณิธานที่จะพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา พระบรมราโชบายเช่นนี้จึงทำให้เมืองไทยมีความสงบร่มเย็นด้วยสามัคคีธรรมเสมอมา
เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก กราบทูลแสดงความปีติยินดีและสนองพระดำรัสว่า ตนรับทราบเรื่องราวดังกล่าวด้วยความซาบซึ้ง รู้สึกยินดียิ่งที่สังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันโดยสันติ ทั้งขอชื่นชมบทบาทของผู้นำศาสนาที่ธำรงไว้ซึ่งความกลมเกลียวใกล้ชิดกันอย่างนี้เสมอ บรรยากาศการที่ได้มาเฝ้าในวันนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันและการทำงานร่วมกัน ถ้าตราบใดเมืองไทยยังมีบุคคลอย่างเช่นสมเด็จสังฆราชทรงเป็นแบบอย่าง ตราบนั้นย่อมจะมีแต่ความสงบสุข
นอกจากนี้ ยังกราบทูลถวายคำยืนยันว่า บุคคลใดผู้ยุยงให้ผู้คนในสังคมรู้สึกแตกแยกบาดหมางกันโดยอ้างความแตกต่างกันทางศาสนา บุคคลนั้นไม่ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมที่แท้จริง หากทุกคนยังยึดมั่นในหลักศาสนา ประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ในที่สุด เพราะการก่อให้เกิดความร้าวฉานนั้นเป็นความชั่วร้ายที่ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของศาสนาใดๆ ในโลก ผู้ที่กระทำการเช่นนั้นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาเอง
เลขาธิการฯ กราบทูลต่อไปว่า ตนได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานเมาลิดกลางอยู่เสมอ แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยอันประเสริฐต่อทุกศาสนิกชน เป็นที่ชื่นชมของมุสลิมทั่วโลก ครั้นได้มาเฝ้าและรับฟังพระดำรัสอันเปี่ยมด้วยปรัชญาแห่งความดีจากสมเด็จพระสังฆราช ยิ่งทำให้รู้สึกปีติ และจะขอนำเรื่องราวที่ได้พบเห็นเหล่านี้ไปแจ้งแก่ทุกภาคส่วนให้ได้ทราบ เพื่อผดุงสันติภาพและสร้างสรรค์ความเข้าใจซึ่งกันและกันต่อไป
ครั้นสมควรแก่เวลา เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช โปรดประทานเหรียญพระรูปและหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ภาคภาษาอังกฤษ เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ถวายของที่ระลึกเป็นกาน้ำทองเหลือง พร้อมกราบทูลว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเยือกเย็นเช่นสายน้ำ สมกับพระจริยวัตรอัธยาศัยอันเปี่ยมด้วยเมตตาธรรมของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งตนสามารถสัมผัสได้โดยซาบซึ้งยิ่งในวันนี้
จากนั้น เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานของที่ระลึกแก่คณะผู้ติดตามเลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก พร้อมทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ล่ามภาษาอาหรับ, อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ และผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่มาร่วมเฝ้าด้วย