xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการอิสระเผยที่มาสงครามยูเครน หวั่นทำเผชิญกับสงครามเศรษฐกิจ จะรุนแรงกว่าสงครามในสมรภูมิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ เล่าจุดเริ่มต้นการก่อสงครามของรัสเซีย ห่วงทำกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลก ชี้ อาจจะมีความรุนแรงกว่าสงครามในสมรภูมิ

วันนี้ (4 มี.ค.) นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ในประเด็น "มองยูเครน มองดูบ้านเรา!" โดยได้มีการระบุข้อความว่า

"ระบบการศึกษาไม่ได้ผลิตให้คนไทยคิดเป็นอย่างมีทักษะด้านวิเคราะห์ Analytical thinking ดูแค่ปรากฏการณ์ก็สรุปแล้ว ไม่ได้ดูเหตุ ไม่ได้ดูว่าผลลัพธ์เกิดจากเหตุ เหมือนเห็นยอดภูเขาน้ำแข็งก็สรุปเลยว่าลูกเล็กนิดเดียว

กรณียูเครนไม่ใช่เรื่องถูก ผิดของศีลธรรม สิทธิมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน อหิงสา สันติภาพ สนับสนุนความรุนแรง อธิปไตยของชาติใดชาติหนึ่ง ที่มักยกมาอ้างกัน

แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบของผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งยูเครน และรัสเซียที่ต้องปกป้องชีวิตประชาชนของชาติตนไม่ให้เกิดความสูญเสีย อันเป็นเรื่องหรือประเด็นปกป้องสิทธิมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชน สิทธิในชีวิตของประชาชนของตนของทั้งสองฝ่าย ที่ต้องคำนึงไม่ให้พัฒนามาจนเกิดเป็นสงครามอย่างที่เกิดขึ้น

เมื่อรัสเซียร้องขอ พูดกันดีๆ ว่าอย่านะ อย่าเอาอาวุธและกองทัพนาโต้มาจ่อคอหอยเขานะ พูดมาเกือบ 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2014 เขามีประชาชนที่ต้องปกป้องเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ ในเวลาชั่วข้ามวัน

พฤติกรรมของนาโต้ที่ผ่านมาหลังการล่มสลายของโซเวียตก็โจ่งแจ้ง ขยายตัวมาปิดล้อมรัสเซียไม่หยุดจากเหนือจดใต้สุดที่ยูเครนอีก ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ขยายสมาชิกนาโต้มายังประเทศอดีตสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอ แต่นาโต้ก็ทำ

ที่ยูเครนเป็นพื้นที่ที่พิสัยยิงจรวด 3 นาทีก็ถึงมอสโก ในขณะที่โปแลนด์ ฮังการีที่อยู่ใกล้รัสเซียก็ติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธไปแล้ว และในอีกหลายประเทศรอบๆ รัสเซียที่เป็นสมาชิกนาโต้รวมทั้งประเทศอียู

หากมองให้ไกลกว่านั้น ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา มีประเทศไหนบ้างที่เป็นผู้ส่งออกสงคราม ส่งทหารไปบุก ไปโจมตีถล่มประเทศอื่นๆ

ประเทศในกลุ่มนาโต้ในทุกวันนี้ก็ส่งทหารไปรุกราน ครอบครอง ควบคุม ประเทศอดีตอาณานิคมของตนในแอฟริกาที่มีทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ น้ำมัน ก๊าซ ทองคำ เพชร ยูเรเนียม แร่หายาก จำนวนมหาศาล เช่น ไนจีเรีย คองโก โซมาเลีย เอธิโอเปีย ฯลฯ

มีข้อตกลงกันในหมู่ประเทศมหาอำนาจว่า ทวีปแอฟริกาเป็นการแบ่งเค้กกันระหว่างยุโรปกับอเมริกา ซึ่งอเมริกาจะไม่เข้าไปแทรกแซงผลประโยชน์ของประเทศเจ้าอาณานิคมเก่า

สงครามยูเครนจึงเป็นเรื่องที่การตัดสินใจของผู้นำที่ไม่คำนึงถึงชีวิตและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาในขณะที่มีทางเลือกที่จะอยู่รอดอย่างเป็นกลางได้ แต่ไม่ทำ

ทั้งนี้จึงทำให้โลกทั้งโลกปั่นป่วน และจะต้องเผชิญกับสงครามเศรษฐกิจและผลกระทบของสงครามเศรษฐกิจที่จะตามมาทั่วทั้งโลก และจะมีความรุนแรงกว่าสงครามในสมรภูมิด้วยซ้ำ

ราคาน้ำมันอาจจะพุ่งเกินลิตรละ 50 บาทในเวลาอีกไม่นานเกินรอ! นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง น่าคำนึงถึงมากกว่ามาทะเลาะกันว่าใครถูกใครผิด ใครรุกราน ใครถูกรุกราน"


กำลังโหลดความคิดเห็น