ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ออกมาระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิดเปลี่ยนไป เราต้องปรับมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือ ปิดเมือง งดกิจกรรมคงทำไม่ได้เล้ว ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรค แต่เน้นลดความรุนแรงในกลุ่มเสี่ยง ลดการสูญเสีย
วันนี้ (2 มี.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” ในประเด็น "เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน กาลเวลาเปลี่ยน มาตรการต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยน" โดยได้มีการระบุข้อความว่า
"ใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเริ่มแรกการระบาด โรคโควิด-19 มีความรุนแรง และมีการเสียชีวิตสูง โรคระบาดเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา แนวโน้มความรุนแรงโรคเริ่มลดลง
ในปีแรก จุดมุ่งหมายเราต้องเป็นศูนย์ หรือไม่มีผู้ป่วยเลย มาตรการเข้มข้นมาก ปิดบ้าน ปิดเมือง
ในปีที่ 2 เราเริ่มรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ จุดมุ่งหมายเราต้องให้มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด มีมาตรการออกมาจำนวนมากปิดบ้าน ปิดเมือง งดกิจกรรมจำนวนมาก
ในปีนี้ (เข้าปีที่ 3) เรารู้แล้วว่าโรคนี้จะต้องอยู่กับเรา เราจะต้องอยู่ด้วยกันได้ ความรุนแรงของโรคเริ่มน้อยลง มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น หลายหมื่นคนต่อวัน อัตราการเสียชีวิตอยูที่ 1-2 ต่อพัน หรือน้อยกว่า (ถ้าเอา ATK มารวม) มาตรการต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนไป ไม่มีการติดตาม time line แล้ว ไม่มีการปิดบ้านปิดเมือง มาตรการจะมุ่งเน้นลดความรุนแรงในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง โรคประจำตัวจะต้องดูแลเป็นพิเศษ ลดการสูญเสีย
การตรวจวินิจฉัย ก็ต้องยอมรับว่าถ้าอาการน้อยหรือไม่มีอาการ การตรวจ ATK ก็น่าจะเพียงพอ การตรวจ RT-PCR มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถทำได้ทั่วถึง จะทำในกลุ่มมีอาการมาก เปราะบาง กลุ่มเสี่ยง หรือต้องดูแลเป็นพิเศษ
การดูแลรักษาก็เช่นเดียวกัน เราคงไม่สามารถแยกผู้ติดเชื้อออกมาอยู่โรงพยาบาลสนาม hospitel อย่างแต่ก่อน ถ้าบ้านสามารถแยกสัดส่วนได้ก็อยู่บ้าน รักษาตามอาการ จะใช้ยาต้านไวรัสในกลุ่มผู้ที่มีอาการมาก เช่น ไข้สูง หรือกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่แข็งแรงดี อาการน้อย การรักษาตามอาการก็เพียงพอ ฟ้าทะลายโจรก็มีประโยชน์
การแยกผู้ติดเชื้อ ก็ใช้ระยะเวลา 10 วัน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็แยกตัว (Isolation) ตรวจ ATK วันที่ 3 วันที่ 7 ถ้าให้ผลลบก็ไปทำงานได้ แต่ให้ป้องกันตัวเองเต็มที่ต่อไปอีก 5-7 วัน ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถทำงานได้ โดยป้องกันตัวเอง และสังเกตอาการอย่างเต็มที่ 7 วัน จะเห็นว่ามาตรการต่างๆ มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตลอดตามสถานการณ์"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ